xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตสถาบันการเงินล้ม สัญญาณเศรษฐกิจเอเชียซบเซา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ มุมมองผู้จัดการกองทุน

ผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงิน (ซับไพรม์) ในที่สุดก็ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงแก่สถาบันการลงทุนจนถึงทำให้ เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐต้องล้มละลายลงไป พร้อมๆกับบริษัท เอไอจี ที่ธนาคารกลางสหรัฐ ต้องเข้าไปอุ้มในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ต่อจากนั้นในทันทีทันใด ชื่อของสถาบันการเงินที่กำลังจะล้มละลายก็โผล่ขึ้นตามมาอีก คือ มอร์แกน สแตนเลย์ และวอชิง ตัน มิวชวล หรือ วอมิว ซึ่งผลที่เกิดขึ้นตามมา คือ ได้นำพาให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตกลงไปอย่างมากมาย เนื่องจากนักลงทุนรวมทั้งสถาบันการลงทุนต่างๆ พร้อมใจกันเทขายหุ้นทิ้งเพื่อเปลี่ยนมาถือเงินสดแทน รวมถึงนำเงินไปลงทุนในทองคำ จนทำให้ราคาทองคำในตลาดโลกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผันผวน ปั่นป่วนอย่างรุนแรง เรียกได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ในเรื่องของเงินๆทองๆที่สนั่นหวั่นไหวไปทั่วโลกเลยทีเดียว

หลังจากเกิดการล้มละลายของวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ลงแล้ว บรรดายักษ์ใหญ่รายอื่นต่างก็หาทางประคองตนเองอย่างเต็มที่ ด้วยวิธีต่างๆ ทั้งการหาพันธมิตรเพื่อควบรวมกิจการกัน ประคองกิจการของตนเองให้ผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายนี้ไป อย่างกรณีของ มอร์แกน สแตนลีย์ ธนาคารเพื่อการลงทุนรายใหญ่ของสหรัฐ ได้มีการเปิดเจรจากับบริษัท วาโชเวีย คอร์ป และธนาคารอีกแห่งหนึ่งเพื่อควบรวมกิจการกัน ส่วนบริษัทวอชิง ตัน มิวชวล ธุรกิจการออมและสินเชื่อชั้นนำ ก็ได้ประกาศขายกิจการแล้วเช่นกัน รวมถึงธนาคารเอชบีโอเอส ของอังกฤษ ที่ขายกิจการให้กับ ธนาคารลอยด์ ทีเอสบี ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งด้วยมูลค่า 21,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันทางธนาคารกลางในประเทศต่างๆอย่าง สหรัฐ อังกฤษ แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น ที่ธนาคารกลางของประเทศ หรือ บีโอเจ ได้มีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระดับเพื่อประคองธนาคารต่างที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนั้น ยังตามมาด้วยการเข้ามาแก้ปัญหาของทางด้านรัฐบาลสหรัฐเอง ที่ได้เข้ามาแก้ปัญหาด้วยการเตรียมที่จะตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า Resolution Trust Corporation (RTC) โดยหน่วยงานดังกล่าว เป็นบริษัทภาครัฐ เหมือนกับที่รัฐบาลสหรัฐเคยจัดตั้งขึ้นเพื่อซื้อหนี้เสียของสถาบันเงินออมและให้กู้เมื่อปี 1980 ซึ่งปัญหาที่ในครั้งนั้นสถาบันเงินออมของสหรัฐ กว่า 700 แห่ง ที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกัน 3.94 แสนล้านดอลลาร์ ประสบปัญหาสภาพคล่องและต้องปิดกิจการลง ซึ่งแผนการช่วยเหลือครั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐได้ขออนุมัติเงินจำนวนถึง 7 แสนล้านดอลลาร์หสรัฐ (ประมาณ 23.4 ล้านล้านบาท) มาจัดตั้งกองทุนดังกล่าว

ทั้งนี้ ผลกระทบจากการล้มละลายลงของ วาณิชธนกิจ ในฝากตะวันตกยังได้วิ่งมากระทบถึงเอเชียด้วยเช่นกัน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รุนแรงอย่างมากมาย มีเพียงสถาบันการเงินบางแห่งเท่านั้นที่ได้รับผลบ้าง โดยส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันการเงินที่จะเกี่ยวข้องกับการลงทุนของวาณิชธนกิจที่ล้มละลายเหล่านี้

นางสาว ศิรพร สุวรรณการ ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พรีมาเวสท์ จำกัด ได้เล่าถึงผลกระทบในเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจว่าการล้มลงของ เลห์แมน บราเธอร์ส นั้นได้ส่งผลกระทบมาถึงประเทศในเอเชียบ้างแต่ไม่มากเท่าไร โดยผลกระทบจะอยู่ในส่วนของนักลงทุนหรือสถาบันการเงินที่ไปลงทุนอยู่กับ เลห์แมน บราเธอร์ส เท่านั้น เพราะสถาบันการเงินส่วนใหญ่ของประเทศในเอเชียมีการลงทุนไม่สลับซับซ้อนเท่ากับสถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ทั้งนี้ผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย คงจะเป็นเรื่องของบรรยากาศ และความเชื่อมั่นในการลงทุนมากกว่า ในเรื่องจำนวนเงินลงทุน ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าเป็นห่วงจากนี้ไปคือการที่ สถาบันการเงินที่ล้มละลายเหล่านี้ เริ่มขายสินทรัพย์รวมถึงกิจการบางอย่างของตนเองออกมา ซึ่งจะทำให้สินทรัพย์เหล่านี้เกิดการตีราคาใหม่ หรือเรียกว่า การตีราคายุติธรรมใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าสินทรัพย์เหล่านี้จะมีราคาลดลงอย่างมากตามความเชื่อมั่นและความเสี่ยงของผู้เข้ามาซื้อ

โดยจากวิกฤตที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินของสหรัฐครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในประเทศสหรัฐ มีการหาสินทรัพย์ลงทุนใหม่อย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบที่จะตามมาแต่อย่างใด ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จึงรุนแรงถึงขั้นล้มละลายกัน ซึ่งการที่สถาบันการเงินเหล่านี้พยายามที่จะมีการควบรวมกิจการกันเพื่อประคองธุรกิจของตนเองนั้น นางสาว ศิรพร ได้ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สถาบันการเงินเหล่านี้พยามที่ควบรวมกิจการกัน เพราะเป็นการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ในเรื่องของการลงทุนให้เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังมองว่า การที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ พยายามที่จะอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อช่วยเหลือบรรดาสถาบันการเงินที่อยู่ในขั้นวิกฤตนั้น ไม้ได้เป็นการแก้ปัญหาวิกฤตแต่อย่างใด เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาไปได้ชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนแต่อย่างใด กล่าวคือ ปัญหาในตอนนี้ คือ นักลงทุนไม่อยากที่จะลงทุนทั้งๆ ที่มีเงิน แต่เพราะขณะนี้เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นที่นักลงทุนไม่มี ขณะเดียวกัน การเข้าไปอุ้มกิจการนั้น เป็นเรื่องที่ธนาคารกลางของสหรัฐเองมองว่าควรจะเข้าไปอุ้มหรือไม่ โดยกรณีการอุ้มกิจการของ บริษัท แฟนดี้ เม และเฟดดี้ แมค นั้น เป็นเพราะ บริษัทนี้มีผลประโยชน์แก่นักลงทุนทั่วโลก และยังเป็นบริษัทที่มีบทบาทหลักในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งหากปล่อยให้ล้มละลายลงจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนทั่วโลกที่ลงทุนอยู่กับบริษัทนี้

ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุน ยังบอกด้วยว่า ในส่วนของ บลจ. พรีมาเวสท์ เองนั้น กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ มีการกระจายความเสี่ยงไว้อย่างมาก ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้แต่อย่างใด แต่ในส่วนที่ลงทุนในหุ้นนั้น ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดหุ้นที่ตกลงมาตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ตามทาง บลจ.เอง ได้ติดตามสถานกาณ์จากทางผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศที่ไปลงทุนอยู่ ซึ่งเป็นผู้ที่ประเมินสถานการณ์ต่างๆ

แม้ผลกระทบจากการล้มละลายของวาณิชธนกิจเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย แต่มันเป็นสัญญาณที่บอกให้ทั่วโลกรู้ว่า ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้คำว่าความเสียหายนั้นหายไป หากแต่มันเดินคู่ขนาดไปตลอดและพร้อมจะแสดงผลในอีกด้านให้เห็น รวมทั้งเรื่องของการลงทุน บทเรียนจากวาณิชธนกิจที่ล้มละลายนี้ยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงคำว่า "ความเสี่ยง" ปัจจัยหนึ่งที่เดินเคียงข้างการลงทุนอยู่เสมอ

กำลังโหลดความคิดเห็น