xs
xsm
sm
md
lg

Q&A Corner : อยากลงทุนแต่มีเงินน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำถาม - มีเงินลงทุนแค่ไม่กี่หมื่น และยังไม่มีประสบการณ์ เข้าไปอ่านในเว็บหลายๆเว็บก็ไม่เข้าใจ เขาใช้ภาษาที่เป็นทางการ ไม่รู้ว่าจะได้ผลตอบแทนยังไง ลงทุนยังไง ซื่อขายยังไง คือพูดตรงๆ เลยว่าไม่มีความรู้เรื่องนี้เลยครับช่วยผมหน่อยนะ แสงวิชา

ตอบ - การลงทุนในกองทุนรวมเเบ่งออกดังนี้ครับ 1. กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund) หมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุน จำพวก หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ เป็นต้น โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีจะมีการลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม หรือที่เราเรียกกันว่า “กองทุนหุ้น” กองทุนรวมตราสารทุนจะมีการเคลื่อนไหวของมูลค่าหน่วยลงทุน(NAV) ค่อนข้างมาก ตามภาวะความผันผวนของราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฉะนั้นความเสี่ยงจากการลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้จึงมีค่อนข้างสูง แต่ผู้ลงทุนก็มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนสูงด้วยเช่นกัน ( high risk high return )

2. กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ (Fixed Income Fund) หมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจ ตั๋วสัญญาใช้เงิน บัตรเงินฝาก ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ เป็นต้น โดยไม่มีการลงทุนในหุ้น ฉะนั้นความเสี่ยงจากการลงทุนผ่านกองทุนประเภทนี้จึงไม่รุนแรงมากนัก ผลตอบแทนก็ไม่สูงเช่นกัน ทั้งนี้เพราะรายได้หลักของกองทุนประเภทนี้ คือ ดอกเบี้ยจากตราสารที่กองทุนเข้าไปลงทุนนั่นเอง หากกองทุนทำการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรอง ก็จะมีกำไรหรือขาดทุนจากการซื้อขายมาเกี่ยวข้องด้วย

3. กองทุนรวมผสม (Mixed Fund) หมายถึง กองทุนรวมที่กำหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารแห่งทุน ในขณะใดขณะหนึ่งน้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม หรือ ไม่มีการกำหนดสัดส่วนการลงทุน ขึ้นกับการตัดสินใจของบริษัทจัดการกองทุนรวม โดยผู้จัดการกองทุนรวม ตามความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ (ซึ่งก็คือกองทุนผสมแบบยืดหยุ่นเดิมนั่นเอง) ความเสี่ยงและผลตอบแทนจากการลงทุนประเภทนี้ก็จะอยู่ในระดับกลางๆ

ส่วนกองทุนรวมพิเศษนั้นมี 12 ประเภท ดังต่อไปนี้ คือ 1. กองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of Funds) หมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม โดยกองทุนรวมหน่วยลงทุนสามารถกระจายการลงทุนไปในหลายๆ กองทุนรวมภายใต้การจัดการของหลายๆ ผู้จัดการกองทุน และหลายๆ บริษัทจัดการ 2. กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) หมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น ซึ่งมีกำหนดชำระคืนเมื่อทวงถามหรือจะครบกำหนดชำระคืนหรือมีอายุสัญญาไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ลงทุนในทรัพย์สินหรือเข้าทำสัญญาเหล่านั้น กองทุนรวมตลาดเงินจะมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ เหมาะสำหรับการลงทุนระยะสั้น ที่ไม่ต้องการเผชิญกับความเสี่ยงจากการลงทุนมากนัก 3. กองทุนรวมมีประกัน (Guaranteed Fund) หมายถึง กองทุนรวมที่บริษัทจัดการจัดให้มีสถาบันการเงินเป็นผู้ประกันต่อผู้ถือหน่วยลงทุนว่า จะได้รับเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน ตามจำนวนเงินที่ประกันไว้

ซึ่งอาจจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน เมื่อถือหน่วยลงทุนครบตามระยะเวลาที่กำหนด นโยบายการลงทุนของกองทุนรวมมีประกัน ก็มีได้หลากหลาย เพียงแต่จะจัดให้มีบุคคลที่สามมาเป็นผู้ค้ำประกันเงินต้นหรือ/และผลตอบแทน

4 . กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น (Capital Protected Fund) หมายถึง กองทุนรวมที่บริษัทจัดการวางแผนการลงทุนโดยการจัดสรรเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากเพียงพอ ที่จะส่งผลให้เงินต้นหรือเงินลงทุนเริ่มแรกทั้งจำนวนหรือเพียงบางส่วน ตามที่ระบุไว้ได้รับการคุ้มครอง เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในโครงการ และเงินส่วนน้อยอีกส่วนหนึ่งจะถูกนำไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงที่สูง เพื่อให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน เมื่อเฉลี่ยกับเงินลงทุนส่วนใหญ่แล้วมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ดังนั้น กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นจึงมักจะมีข้อกำหนดในเรื่องระยะเวลาในการถือครองหน่วยลงทุน 5. กองทุนรวมที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (Specific Fund) หมายถึง กองทุนรวมที่มีการลงทุนกระจุกตัวเน้นหลักทรัพย์บางประเภทมากกว่าเกณฑ์ที่ สำนักงาน ก.ล.ต กำหนด ดังนั้นสำนักงาน ก.ล.ต. จึงให้กองทุนนี้ต้องมีคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงมากกว่ากองทุนรวมทั่วๆไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบและใช้วิจารณญาณในการเลือกลงทุน

พรุ่งนี้มาต่อกันอีกนะครับสำหรับ การลงทุนในกองทุนรวม สำหรับท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ fund@manager.co.th หรือโพสต์คำถามไว้ได้ที่หน้ากองทุนรวม www.manager.co.th นะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น