xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดตราสารหนี้ สถานการณ์ในเดือนสิงหาคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ยูโอบี (ไทย)

มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยแบบ Outright ต่อวันในเดือนสิงหาคม 2551 ของตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 76.90 พันล้านบาทจาก 77.18 พันล้านบาทในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีพันธบัตรรัฐบาลมีอัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 3.69 และดัชนีหุ้นกู้ภาคเอกชนมีอัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันโดยคิดเป็นอัตราผลตอบแทนร้อยละ 1.68 ณ สิ้นเดือนสิงหาคม ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 4.55 และมีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 5.43 ปี ในขณะที่ดัชนีหุ้นกู้ภาคเอกชนมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 5.05 และอายุเฉลี่ยเท่ากับ 2.82 ปี อัตราผลตอบแทนปรับลดลงทั้งเส้น โดยอัตราผลตอบแทนระยะสั้นตั้งแต่ อายุ 1 เดือน – 1 ปี ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.02 ถึง 0.36 พันธบัตรระยะสั้นอายุ 2-4 ปีปรับตัวลดลงร้อยละ 0.31 ถึง 0.40 พันธบัตรระยะกลางอายุ 5-10 ปีปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ 0.42 ถึง 0.70 และพันธบัตรระยะยาวปรับตัวลดลงร้อยละ 0.55 ถึง 0.74

แนวโน้ม

สภาวะตลาดในเดือนกันยายน ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดต่ำลงซึ่งส่งผลให้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อในประเทศทุเลาลงกว่าที่คาดไว้ จะส่งผลทางจิตวิทยาในแง่บวกต่อการลงทุนก็ตาม แต่จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง การประท้วงที่อาจจะยืดเยื้อออกไป ประกอบกับอุปทานของภาครัฐของปีงบประมาณหน้าที่ยังไม่ทราบ จึงคาดว่านักลงทุนยังคงเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อลดความเสี่ยงของความผันผวนทางด้านราคา

กลยุทธ์ประจำเดือน

กลยุทธ์การลงทุนคือ เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น**

ตลาดตราสารทุน
เดือนกันยายน 2551

สรุปตัวเลขเศรษฐกิจเดือนสิงหาคม 2551


- ดัชนีราคาผู้ผลิตอ่อนตัวลงร้อยละ 2.2 จากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 21.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนสิงหาคม (producer price index) ปรับตัวลดลงที่ระดับร้อยละ 2.2 จากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงเพิ่มสูงขี้นร้อยละ 21.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ราคาสินค้าหมวดอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงร้อยละ 3.2 จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากต้นทุนสินค้าจำพวกน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าหมวดเกษตรกรรมเร่งตัวสูงขึ้นร้อยละ 2.4 จากเดือนก่อนหน้า และร้อยละ 42.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อนึ่ง แม้ดัชนีราคาผู้ผลิตจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงมีอยู่ เนื่องจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าของผู้ผลิต

- การลดลงของราคาน้ำมันช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม (headline inflation) ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากเร่งตัวแตะระดับสูงสุดในรอบสิบปีในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) เพราะมาตรการของภาครัฐ อาทิ การนั่งรถโดยสารประจำทางและรถไฟชั้นสามฟรี การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 12 จากเดือนก่อนหน้า อีกทั้งเป็นผลจากการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าจำพวกข้าวและธัญพืชเมื่อเทียบกับช่วงเดือนที่ผ่านมาถึงแม้ราคาสินค้าหมวดพืชผักและอาหารสำเร็จรูปจะปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม

- การบริโภคภาคเอกชน และ การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงแต่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมคงเติบโต

การบริโภคภาคเอกชน (PCI) เติบโตแข็งแกร่งในเดือนกรกฎาคม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) ส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เติบโต (เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) สำหรับการลงทุนภาคเอกชน (PII) เติบโตอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเมื่อพิจาราณาตั้งแต่ต้นปี การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวติดลบที่ระดับร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ยังคงเติบโตแข็งแกร่งร้อยละ 10.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามภาคการส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ดี

สรุปภาวะตลาดเดือนสิงหาคม

ตลาดเดือนสิงหาคมเป็นตลาดที่แกว่งตัวสูงและมีปริมาณการซื้อขายต่ำ เพราะความกังวลด้านการเมืองและราคาน้ำมันที่ผันผวน แต่ SET ก็ยังสามารถปิดด้วยการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.20 ที่ระดับ 684.44 จุด โดยในช่วงครึ่งแรกของเดือนสิงหาคม SET ปรับตัวลดลงมาสู่จุดต่ำสุดที่ 667.12 จุด ตามตลาดภูมิภาคที่ปรับตัวลงและราคาน้ำมัน/ถ่านหินที่ลดลง และได้ดีดกลับไปสูงสุดที่ 707.48 จุดในช่วงกลางเดือนเพราะผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2551 ของบริษัทจดทะเบียนออกมาดีประกอบกับการลี้ภัยไปอังกฤษของอดีตนายกฯทักษิณ อย่างไรก็ดี SET ได้ปรับตัวลดลงมาปิดที่ระดับ 684.44 จุดในช่วงครึ่งหลังของเดือน เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อกลุ่มพันธมิตรเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลและเรียกร้องให้นายกฯลาออก นอกจากนี้ราคาน้ำมันก็มีความผันผวน โดยราคาปรับตัวลดลงจากยอดสูงที่ 125.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในวันที่ 1 สิงหาคม มาที่ 112.89 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในวันที่ 18 สิงหาคม แต่ได้ดีดตัวขึ้นเพราะสถานการณ์ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในรัสเซียและความกังวลเกี่ยวกับพายุเฮอริเคน ทำให้ราคาน้ำมันปิดสิ้นเดือนที่ราคาเฉลี่ย 116.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

แนวโน้มตลาดเดือนกันยายน

เรามองว่าปัจจัยการเมืองในประเทศยังคงส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในเดือนกันยายนมากที่สุด นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและพื้นฐานของบริษัทต่างๆมากนัก ตลาดให้ความหวังว่าบรรยากาศการลงทุนจะดีขึ้นถ้าการชุมนุมประท้วงสลายตัวไปอย่างสงบโดยมีการประกาศยุบสภาหรือนายกฯสมัครลาออก อย่างไรก็ดีนักลงทุนต่างประเทศอาจมองว่าปัญหาในลักษณะนี้เป็นปัญหาระยะยาวของเมืองไทย ดังนั้นคาดว่าเม็ดเงินน่าจะยังคงไหลออกจากตลาดทุนต่อเนื่องอยู่

กลยุทธ์ประจำเดือนกันยายน

ให้น้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาดในหมวดพลังงาน ธนาคารขนาดใหญ่ สื่อสาร
ให้น้ำหนักการลงทุนเท่ากับตลาด อสังหาริมทรัพย์
ให้น้ำหนักการลงทุนน้อยกว่าตลาดในหมวดปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง

กำลังโหลดความคิดเห็น