xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้จัก..คุณค่าของเงิน เพื่อเริ่มต้นสู่การออมเพื่ออนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เมื่อเราคิดออกว่าเงินมีคุณค่าต่อเราอย่างไรได้แล้ว ก็ต้องมีการวางแผนการใช้เงินเสมอ พร้อมกับต้องจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่อการออม เพื่ออนาคตที่ดีของเราด้วย”

ช่วงนี้ไปไหนมาไหน หากมีเงินแค่ 10 บาท ก็คงไม่ต้องมองถึงเที่ยวกลับ เพราะคุณไม่มีเงินแม้แต่นั่งรถเมล์กลับบ้านแล้ว เนื่องจากทางขสมก. (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ปรับขึ้นราคารถร้อนเป็น 9 บาท ซึ่งยิ่งฟังยิ่งได้ยิน และยิ่งจ่ายเองก็ยิ่งใจหาย

แต่ก่อนตอนเด็กๆ จำได้ว่าขึ้นรถเมล์ครั้งแรก (ขาว – น้ำเงิน) ค่าตั๋ว 1.50 บาท/คน พอโตขึ้นมาหน่อยไปโรงเรียนเอง 2.00 บาท ต่อมา 2.50 บาทก็เริ่มได้ยลโฉมรถเมล์แดงที่มาครั้งแรกก็ 3.00 บาท/คน ซึ่งช่วงนั้นเมื่อได้ขึ้นก็ถือว่าโก้เก๋ เพราะประตูรถเปิดปิดเองได้ เบาะนั่งหรูกว่าเบาะหนังสีน้ำเงินหุ้มไม้ของคันละ2.50 บาท จนกระทั่งตอนนี้ราคาตั๋วไหลทะลักดีดตัวขึ้นจาก 3.50 บาท มา 5.00 บาท และไหลมา 7.00 บาท ก่อนกระโดดรอบสุดท้ายทำลายสถิติโอลิมปิก และสถิติโลกที่9.00 บาท

แน่นอนราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนชาวมหานครบางกอกที่ต้องฝืดเคืองตามไปด้วย แต่ก็อยากจะรู้ภาครัฐและองค์กรว่าไม่คาดคิดกันไว ล่วงหน้าก่อนบ้างหรือว่าในอนาคตต้นทุนจะเพิ่มขึ้น จึงควรมองหาพลังงานด้านอื่นๆ หรือดำเนินการแก้ไข หรือมารองรับให้ดีกว่าความคิดเพียงแค่ปรับขึ้นค่าโดยสารเพียงอย่างเดียว

ส่วนที่หยิบยกเรื่องค่าตั๋วรถเมล์มาพูดถึง เพราะอยากจะมานำเสนอบทความในเรื่องของ เงิน ซึ่งได้พบบทความดีๆจากเว็บไซต์ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอ ในยุคข้าวยากหมากแพง ภายใต้ชื่อ คุณค่าที่แท้จริงของ “ เงิน ” โดยนับตั้งแต่อดีตมานั้น สัจธรรมที่ว่า “การหาเงินย่อมยากกว่าการใช้เงิน” จะเป็นสิ่งที่คุ้นหูเราเรื่อยมา เพราะเงินเป็นเงื่อนไขสำคัญแห่งความอยู่รอดและตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิต

ดังนั้นเราควรที่จะมีการสร้างความรู้ความเข้าใจและมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับเงิน เพื่อให้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากในความเป็นจริงเงินมีสถานะเป็นเพียงสื่อกลางที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสิ่งของและสินค้าต่าง ๆ ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่การที่เงินจะให้คุณหรือโทษก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนได้ให้คุณค่าแก่เงินอย่างไร?

ซึ่งปัจจุบันจะมี 3 แนวคิดใหญ่ ๆ แนวคิดแรกคือ “การให้คุณค่าเงินแบบวัตถุนิยม” ซึ่งเชื่อว่าเงินสามารถแลกเปลี่ยนกับความมั่นคงในการดำรงชีวิตทำให้ชีวิตสุขสบาย หรือแม้กระทั่งมีอำนาจบารมีเหนือผู้อื่น คนประเภทนี้มักวัดคุณค่าของเงินด้วยจำนวนเงินแบบยิ่งมีมากยิ่งดี แถมคิดเอาเองว่าถ้าใครมีเงินมากกว่าก็ได้รับการยกย่องยอมรับจากสังคมรอบข้างมากขึ้นเท่านั้นโดยไม่คิดว่าคุณค่าของคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับมีเงินมหาศาลเพียงอย่างเดียว

ดังนั้น คนพวกที่ติดอยู่กับแนวคิดนี้จึงมักให้คุณค่าแก่เงินมากเกินจริงโดยไม่รู้ตัว ถึงขนาดแสวงหาเงินโดยเปลี่ยนเป้าหมายจากการดำรงชีพเพียงอย่างเดียวไปเป็นความละโมบ โลภมาก ยินดีทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมาโดยไม่รู้ผิด ชอบ ชั่ว ดี ดังนั้น เราควรพิจารณาถึงแนวคิดนี้ให้ดีและเหมาะสมด้วย

แนวคิดที่สองคือ “การให้คุณค่าแก่เงินต่ำกว่าความเป็นจริง ” มักพบในกลุ่มคนที่ปฏิเสธเงินเพราะเห็นเป็นสิ่งผิด คนในกลุ่มนี้มีแนวคิดมุ่งละกิเลสของตนอยู่อย่างสมถะ และไม่สร้างเงิน ซึ่งแนวคิดฟังดูดี แต่ในทางกลับกันถ้าทุกคนคิดแบบนี้กันหมดอาจส่งผลให้สังคมหยุดนิ่งไม่พัฒนาต่อไป เพราะจะไม่มีความต้องการและไม่แสวงหาทำให้กลไลทางเศรษฐกิจไม่ขับเคลื่อนนั่นเอง

แนวคิดสุดท้าย คือ “การให้คุณค่าแก่เงินอย่างสมจริง” เพราะปฎิเสธไม่ได้ว่าเงินมีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในระดับหนึ่ง ซึ่งควรจะพอเพียงต่อการเลี้ยงชีพให้ไม่ลำบากแต่ก็ไม่ต้องโลภมากจนไม่ยอมพอ โดยอาจยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งทำให้เรามีความสุขทั้งกาย สุขทั้งใจ แถมยังจะมีเพื่อนที่ดีได้มากกว่ามีศัตรูเสียอีก

“เราควรกำหนดแนวคิดเกี่ยวกับคุณค่าของเงินของตัวเราเองให้ดีก่อน และเรียนรู้ที่จะใช้เงินตามความจำเป็นไม่ฟุ่มเฟือยหรือตระหนี่ถี่เหนียวจนเกินไป ที่สำคัญคือ ควรนำเงินมาใช้เพื่อการสนับสนุนเป้าหมายและแผนการดำรงชีพที่ดีมากกว่าจะมีไว้เพื่อโอ้อวดหรือแสดงความฟุ่มเฟือย”

เมื่อเราคิดออกว่าเงินมีคุณค่าต่อเราอย่างไรได้แล้ว ก็ต้องมีการวางแผนการใช้เงินเสมอ พร้อมกับต้องจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่อ “ การออม ” เพื่ออนาคตที่ดีของเราด้วย และหลักการง่ายของการออมเงินแบบหนึ่งที่นำไปประยุกต์ใช้ได้ในทันทีคือ “วิธีออมเงินแบบลบสิบ” นั่นคือหักเงิน 10% ของเงินเดือนทุกเดือนทันทีที่เงินเดือนออก นำเงินไปฝากสะสมไว้ที่ธนาคาร หรือหักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ
ที่สำคัญที่ต้องจำไว้เสมอคือ 10% ของเงินเดือนที่หักไปเก็บไว้นั้นเพื่อเป้าหมายที่เราต้องการในอนาคต เช่นเพื่อเอาไว้ใช้หลังเกษียณเพราะฉะนั้นจะต้องไม่ถอนเงินจำนวนนี้ออกมาใช้จนกว่าจะเกษียณอายุ หรือเรียกว่าเรามีเป้าหมายเพื่ออะไรก็ต้องมีวินัยพอที่จะเก็บเงินไว้เพื่อการนั้นให้ได้นั่นเอง

การจะมีเงินก็ง่าย ๆ แบบนี้แหละ แต่อย่างว่าคนเรากว่าจะหาเงินเก็บเงินได้ช่างยากเย็นกว่าการควักเงินออกใช้จริง ๆ ที่สำคัญคือหลายคนกลับคิดไม่ออกเสียอีกว่าคุณค่าของเงินที่ดีและเหมาะสมสำหรับตัวเราและสังคมของเราคืออะไร มันถึงได้วุ่นวายกันเสียจริง.....!

แหล่งข้อมูล: กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ที่มารูป : webservices.richietech.com
กำลังโหลดความคิดเห็น