xs
xsm
sm
md
lg

ThaiBMAหวังปีหน้าดอกเบี้ยลดกระตุ้นบอนด์ระยะยาวได้รับความนิยมเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หวังปีหน้าบอนด์ระยะยาวจะกลับมาได้รับความนิยม หากต่างประเทศและไทยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีหน้า หลังความผันผวนของค่าเงินบาท ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อและทิศทางเศรษฐกิจชะลอตัว

นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทถูกจับตามองในระยะนี้ เพราะช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวค่อนข้างกว้าง จึงทำให้มีความกังวลเกิดขึ้นมาว่า จะกระทบกับทิศทางเศรษฐกิจการลงทุน และการส่งออกของประเทศ

ทั้งนี้เนื่องจากหากค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น จะส่งผลบวกในด้านการนำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมัน ซึ่งจะมีผลให้ระดับเงินเฟ้อทรงตัวหรือลดลงมา ดังนั้นความจำเป็นในเรื่องของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ก็จะน้อยลงไปด้วย

สำหรับการที่ค่าเงินบาทมีการปรับตัวในรอบนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางกลุ่มประเทศยุโรป ภาวะเศรษฐกิจไม่ดีนัก ทำให้ค่าเงินอียูเลยอ่อนค่าลง เช่นเดียวกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมาจากปัญหาในประเทศหลายๆเรื่องรวมทั้งปัญหาจากธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกันในส่วนประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมา จึงทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาด้วย

“เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็จะไปกระทบกับการส่งออก กระทบการท่องเที่ยวให้มีปัญหา ซึ่งจะมีแรงกดดันมาที่แบงก์ชาติอีกเหมือนกับช่วงก่อนหน้าที่ค่าเงินบาทเคยแข็งค่ามาแล้ว”
ขณะเดียวกันหากค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ปัญหาจะมีผลออกมาในทางตรงข้าม การส่งออกจะดี แต่น้ำมันที่นำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาสูงขึ้นตามการอ่อนตัวของค่าเงิน ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น อีกทั้งดอกเบี้ยมีโอกาสที่จะต้องปรับสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากธปท.มีความกังวลกับเรื่องของเงินเฟ้ออยู่ ก็จำเป็นที่จะต้องดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลที่จะเกิดขึ้นกับตลาดตราสารหนี้นั้น หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อาจจะกระทบกับการลงทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ หรือในตราสารทุน แต่ถ้าหากในทางกลับกันหากค่าเงินบาทแข็งแล้วทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไม่มาก อาจทำให้มีบริษัทในประเทศหันมาออกตราสารหนี้มากขึ้น เพราะต้นทุนที่ได้จะไม่สูงจนเกินไป ยิ่งหากดอกเบี้ยลดลงตราสารหนี้จะยิ่งคึกคักมากขึ้น รวมถึงอาจจะมีการใช้ประโยชน์ของค่าเงินบาทที่แข็งไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ หรือใน FIF มากขึ้นด้วย หากว่าดอกเบี้ยในประเทศต่ำกว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าค่าเงินบาทอ่อนลง เงินเฟ้อสูงขึ้น ดอกเบี้ยสูงขึ้น การออกตราสารหนี้คงจะน้อยลง ตัวอย่างเช่นในช่วงเดือน 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีการมองกันว่าดอกเบี้ยจะขึ้น ได้มีการเทขายบอนด์กันออกมาค่อนข้างมาก เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าถ้าดอกเบี้ยขึ้น จะทำให้บอนด์ที่ถือไว้เกิดการขาดทุนจึงต้องขายออกมาก่อน แล้วหันไปลงทุนในระยะสั้นๆแทน

“การลงทุนในตราสารหนี้ ปัจจัยที่มีผลกระทบไม่ใช่เรื่องของค่าเงินเพียงอย่างเดียว จะต้องพิจารณารวมๆกันไปกับเรื่องของเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยด้วย เช่น หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าไปเรื่อยๆ ก็อาจจะต้องมีการขึ้นดอกเบี้ยมาบ้าง อย่างครั้งล่าสุดที่แบงก์ชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาเป็น 3.75% เพราะต้องการดูแลในเรื่องของเงินเฟ้อเป็นหลัก”

ส่วนการที่ในระยะนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มทรงตัว รวมถึงราคาคอมมอดิตี้ต่างๆโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เริ่มปรับตัวลดลง กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA ประเมินว่า จะทำให้อัตราเงินเฟ้อจะไม่เป็นปัจจัยที่กดดันต่อการลงทุนอีกต่อไป โดยทิศทางของการปรับดอกเบี้ยมากๆอย่างที่ตลาดเคยมีการคาดการณ์กันไว้ก่อน ก็อาจจะไม่มีความจำเป็น ประกอบกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศอาจจะต้องมีการปรับลดลง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ฉะนั้นทิศทางในปี 2551 ดอกเบี้ยอาจจะลดลงได้ ซึ่งจะเป็นผลดีกับตราสารหนี้โดยตรง

“ตอนนี้เริ่มมีการคาดการณ์กันใหม่แล้วว่า โอกาสที่ดอกเบี้ยจะลดลงในปีหน้ามีโอกาสเป็นไปได้เหมือนกัน แต่คงต้องคอยจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะถ้ามีการมองว่าดอกเบี้ยจะลง ปีหน้าคงจะเห็นการลงทุนในตราสารหนี้อายุยาวๆมากขึ้นกว่าในปัจจุบันนี้ ”นายณัฐพล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น