xs
xsm
sm
md
lg

ตัวแปรทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดย ดร.ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมความเสี่ยง
บลจ.อยุธยา จำกัด


เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ค่อนข้างมาก ทั้งในด้านบวกและด้านลบ เช่น หากเศรษฐกิจมีการขยายตัวได้ดี ผลประกอบการของบริษัทต่างๆก็จะดีไปด้วย ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจอยู่ในสภาพย่ำแย่ ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการใช้จ่ายหรือความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะแย่ตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทต่างๆขายสินค้าได้น้อยลง ผลประกอบการจึงแย่ลงไปด้วย

การที่จะประเมินว่าเศรษฐกิจดีหรือแย่นั้น ผมเชื่อว่าหลายๆท่านคงจะสามารถประเมินได้ด้วยตัวเอง โดยดูจากความสามารถในการใช้จ่ายของท่าน บางท่านอาจจะดูลึกไปที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆที่ทางภาครัฐรายงานเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) อัตราเงินเฟ้อ ยอดส่งออกและนำเข้า เป็นต้น ในวันนี้ผมขอรวบรวมบทวิจัยจากนักวิจัยหลายๆท่านที่ศึกษาว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจใดบ้างที่ส่งผลให้ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงไป

อัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อ ในงานวิจัยเกี่ยวกับการพยากรณ์ราคาหุ้น ส่วนใหญ่แล้วจะมีการนำเอาอัตราดอกเบี้ยมาเป็นหนึ่งในตัวแปรที่ใช้ในการพยากรณ์ราคาหุ้น จากงานวิจัยของนักวิจัยหลายท่านยืนยันว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ราคาหุ้นลดลง ดังที่เราทราบกันดีว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมเพื่อการลงทุนของบริษัทต่างๆก็จะสูงขึ้นตาม

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็จะออมเงินมากขึ้นเพราะได้ดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทต่างๆขายของได้น้อยลง โดยมีต้นทุนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของนักวิจัยอีกหลายท่านที่ใช้การคำนวณอัตราส่วนผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวกับอัตราผลตอบแทนเงินปันผล ที่เรียกกันว่า Gilt Equity Yield Ratio (GEYR) มาเป็นเครื่องมือในการประเมินทิศทางของตลาด ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ให้ผลตอบแทน 5% ในขณะที่ผลตอบแทนเงินปันผลของตลาดหุ้นอยู่ที่ 8% ค่า GEYR จะเท่ากับ 0.625 โดยค่า GEYR ต่ำกว่า 1 แสดงว่าผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้ต่ำกว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้น ดังนั้น ตลาดหุ้นจึงมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้มาก

สำหรับในด้านอัตราเงินเฟ้อ เมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจย่อมมีมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนของบริษัทต่างๆจะเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ อีกทั้งยังส่งผลให้ตลาดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ จะสร้างแรงกดดันให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง

ปริมาณการลงทุน ในที่นี้หมายถึงการใช้เงินลงทุนของบริษัทต่างๆ โดย Eugene Fama พบว่าปริมาณการลงทุนที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นด้วย ซึ่งอาจอธิบายได้ว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวได้ดี ความเชื่อมั่นของบริษัทต่างๆและผู้บริโภคย่อมดีไปด้วย ดังนั้นบริษัทจึงทำการลงทุนเพิ่ม เช่น ขยายกิจการ มีการลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เป็นต้น เพื่อตอบสนองต่อการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทที่ลงทุนเพิ่ม จะคาดหวังว่า ผลตอบแทนที่ได้รับจะสูงกว่าเงินที่ลงทุนไป เมื่อบริษัทมีการลงทุน เงินก็จะไหลเข้าสู่ระบบในหลายๆส่วน ไม่ว่าจะเป็นคนขายเครื่องจักร ผู้จัดหาวัตถุดิบ พนักงานของบริษัท ฯลฯ ซึ่งการลงทุนถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดี และจะส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทต่างๆดีขึ้น บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นก็ดีตามไปด้วย

อัตราแลกเปลี่ยน บทวิจัยหลายชิ้นรายงานว่า การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินมีทิศทางเดียวกันกับการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ที่ต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างชาติ กล่าวคือ เมื่อค่าเงินอ่อนค่าลง ตลาดหุ้นก็จะปรับตัวลดลงด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ ค่าเงินมักจะอ่อนตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของผลประกอบการของบริษัทมีมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ กอปรกับนักลงทุนต่างชาติจะทำการลดความเสี่ยงจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีสูงขึ้น

ผมเชื่อว่าท่านนักลงทุนหลายท่าน คงจะพอทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้ง 4 ตัวที่กล่าวมานี้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้น ผมหวังว่าบทวิจัยที่ผมรวบรวมมาสรุปในวันนี้คงจะช่วยให้ท่านนักลงทุนเห็นภาพชัดขึ้นว่าสาเหตุและผลกระทบของปัจจัยทั้ง 4 นี้มีที่มาที่ไป และส่งผลกระทบอย่างไร ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ทิศทางตลาดจากภาพรวมของเศรษฐกิจต่อไป และคงจะพอมองออกว่าทำไมกระทรวงการคลังและแบงค์ชาติ ถึงมีความเห็นต่างกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น