xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกไทยปี51..มาจากเก่ง + เฮง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวเลขมูลค่าส่งออกปี 2551 ที่มีการคาดคะเนกันข้ามปีว่าจะชะลอตัวลงกว่าปี 2550 ที่ขยายตัวได้กว่าร้อยละ 17 กลับมีฟอร์มดีมาโดยตลอดนับตั้งแต่เปิดศักราชปี 2551 และมิได้ออกอาการแผ่วลงแม้แต่น้อย ทั้งที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าหลักที่ส่อเค้าซบเซาลง รวมทั้งราคาน้ำมันและต้นทุนการผลิตที่ทะยานสูงขึ้นมากจนไม่เป็นใจต่อการขยายการส่งออกเท่าใดนัก

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยสามารถฟันฝ่าคลื่นลมผ่านครึ่งปีแรกไปได้อย่างน่าภาคภูมิใจ ทั้งด้วยความเก่งของผู้ส่งออกจำนวนมากที่ปรับตัวได้ดีและมีการขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ ยังไม่นับรวมการที่บริษัทข้ามชาติจำนวนมากที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย ยังใช้เราเป็นแขนขาในการส่งออกเพื่อกระจายสินค้าต่อไปยังตลาดอื่นๆ ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งจุดนี้เอง ทำให้ประเทศไทยยังคงรักษาความเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญในตลาดการค้าโลก (Global Supply Chain) ไว้ได้

เมื่อประจวบเหมาะกับความเฮงที่คาดไม่ถึงจากปัจจัยแวดล้อมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าเกษตรที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะข้าวที่ตลาดกลับกลายเป็นของผู้ขาย รวมทั้งการแข่งขันจากคู่แข่งสำคัญอย่างจีนเริ่มแผ่วลงในหลายสินค้าจากปัจจัยบั่นทอนหลายประการ ประกอบกับเงินบาทที่แข็งค่ามานานเริ่มมีทิศทางอ่อนค่าลงตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ทำให้การส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 มีมูลค่า 87,212.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 23.1 และมีแนวโน้มว่าตลอดทั้งปีจะขยายตัวได้เกินเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ร้อยละ 12.5 อย่างไม่ยากเย็นนัก ยิ่งไปกว่านั้นมีความเป็นไปได้ที่การส่งออกอาจขยายตัวเกินร้อยละ 20 หากยังสามารถรักษาระดับความเร็วและความแรงของการส่งออกไม่ให้แผ่วลงไปกว่าครึ่งปีแรก

การปรับตัวของผู้ประกอบการ : ความเก่งของภาคส่งออกไทย

ตัวเลขส่งออกของไทยในปี 2551 ที่พุ่งขึ้นเหนือความคาดหมายดังกล่าว ส่วนที่ได้จากความเก่งของภาคส่งออกไทย คงต้องยกนิ้วให้กับปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้
1.ผู้ส่งออกไทยขยายตลาดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง มูลค่าส่งออกไปตลาดใหม่เติบโตดีมาโดยตลอดและทวีความสำคัญขึ้นเป็นลำดับ โดยสัดส่วนการส่งออกไปตลาดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนใกล้เคียงตลาดหลักเข้าไปทุกขณะ จากร้อยละ 37 ของมูลค่าส่งออกรวมในปี 2546 เป็นร้อยละ 48 ในช่วงครึ่งแรกปี 2551 นอกจากนี้ มูลค่าส่งออกไปตลาดใหม่ในช่วงครึ่งแรกปี 2551 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 31.1 โดยเฉพาะตลาดแอฟริกา (ขยายตัวร้อยละ 60.5) อินโดจีน (ร้อยละ 57.0) และยุโรปตะวันออก (ร้อยละ 31.8)

2.ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับระเบียบการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าส่งออกได้มากขึ้น ปัจจุบันผู้ส่งออกไทยจำนวนไม่น้อยมีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ด้วยการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานตามที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ทำให้สามารถแทรกตัวเข้าสู่วงจรการค้าโลกได้เป็นอย่างดี จากเดิมที่เน้นเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตหรือประกอบสินค้า ไปสู่การวางตัวเป็นผู้ออกแบบ วิจัยและพัฒนา การจัดจำหน่าย ตลอดจนการทำการตลาดผ่านการสร้างตราสินค้า เป็นต้น

3.ไทยยังคงรักษาสถานะของการเป็นฐานการผลิตให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations : MNCs) ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ด้วยจุดแข็งที่แรงงานมีความประณีตสูง ตลอดจนมีฐานการผลิตของอุตสาหกรรมเชื่อมโยง (Supporting Industries) ที่เข้มแข็งในการป้อนชิ้นส่วนและวัตถุดิบให้แก่ MNCs จำนวนมาก ทั้งนี้ MNCs เหล่านี้ถือเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การผลิต และการตลาด โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งมีมูลค่าส่งออกคิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าส่งออกรวมของประเทศในช่วงครึ่งแรกปี 2551 ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์


ความเฮง : ปัจจัยหนุนนำส่งออกขยายตัว

ในปี 2551 ภาคส่งออกยังได้รับผลดีจากสภาวะแวดล้อมในตลาดการค้าโลกที่เป็นใจซึ่งช่วยผลักดันให้ปี 2551 เป็นปีทองอีกปีหนึ่งของภาคส่งออกไทย ความเฮงที่ว่านี้ ได้แก่

A.ราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นมาก ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้มูลค่าส่งออกในช่วงครึ่งแรกปี 2551 ขยายตัวสูงมาก โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรในช่วงครึ่งแรกสูงขึ้นมาก อันเป็นผลมาจากความวิตกกังวลถึงภาวะขาดแคลนอาหารจากภูมิอากาศในหลายภูมิภาคของโลกที่แปรปรวน ขณะเดียวกัน ราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมก็ปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้พุ่งพรวดเหมือนกรณีราคาสินค้าเกษตร

B.แรงกดดันจากเงินบาทแข็งค่าบรรเทาลงเป็นลำดับ แม้ในช่วงต้นปี 2551 เคยถูกมองว่าอาจเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้การส่งออกในปี 2551 ไม่น่าสดใสนัก อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2551 เป็นต้นมา เงินบาทเริ่มมีทิศทางอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุสำคัญจากมูลค่านำเข้าที่สูงขึ้นมากจากราคาน้ำมันที่พุ่งไม่หยุด ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลง ประกอบกับปัญหาการเมืองในประเทศ ทำให้มีเงินทุนไหลออกจำนวนมาก เงินบาทจึงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อการส่งออกตามมา

C.การแข่งขันจากจีนแผ่วลงในบางสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนการผลิตของจีนเริ่มสูงขึ้น จากเดิมที่อยู่ในระดับต่ำมากจนสินค้าจากประเทศอื่นต้องพ่ายทัพอย่างไม่เป็นกระบวน แต่มาในวันนี้ โครงสร้างการผลิตในจีนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้นทุนการผลิตในจีนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคุณภาพสินค้าซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นโอกาสที่สินค้าหลายรายการของไทยที่เคยพ่ายต่อสินค้าจีน เริ่มกลับตีตื้นขึ้นได้ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงาน เช่น เครื่องนุ่งห่ม ของเด็กเล่น เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกม เป็นต้น

ส่งออกปี 2552 :อาจไม่เฮงเหมือนเดิม

มูลค่าส่งออกครึ่งแรกปี 2551 ที่ขยายตัวเหนือความคาดหมาย กับตัวเลขส่งออกที่ทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมิถุนายน คงไม่ใช่สิ่งที่จะยืนยันได้ว่าภาคการส่งออกของไทยจะยังคงโตต่อไปได้เช่นเดิม เพราะเมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ พบว่าการส่งออกในระยะถัดไปมีอุปสรรคให้ต้องฝ่าฟันอีกมาก ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น ที่เผชิญปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมๆ กับเงินเฟ้อที่รุนแรง

ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกอาจจะเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 2552 ขณะเดียวกัน ปัจจัยบวกซึ่งเคยเป็นความโชคดีของผู้ส่งออกไทยในครึ่งปีแรก ก็เริ่มมีเค้าลางที่จะกลับกลายเป็นปัจจัยบั่นทอนในระยะถัดไป ทั้งเงินบาทที่อาจมีโอกาสกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทรุดหนักลง และเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอีก รวมถึงราคาสินค้าเกษตรสำคัญทั้งข้าวและมันสำปะหลังในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งออกของไทยในระยะถัดไปจะต้องเผชิญกับปัจจัยบั่นทอนหลายด้าน และอาจไม่มีโชคช่วยเข้ามาเสริมเหมือนปี 2551 แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยพยุงให้การส่งออกของไทยยังเดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่สะดุดคือ ตัวผู้ส่งออกเอง ซึ่งหากไม่ชะล่าใจเกินไปนักกับตัวเลขส่งออกที่สูงขึ้นเกินคาดในช่วงครึ่งแรกปี 2551 และยังคงเร่งพัฒนาทั้งด้านการผลิตให้ได้มาตรฐาน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งการขยายตลาดใหม่ให้ได้อย่างต่อเนื่อง การส่งออกในปี 2552 ก็จะขยายตัวต่อไปได้ และจะยังคงทำหน้าที่เป็นตัวจักรสำคัญ (Engine of Growth) ในการนำพาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้อย่างน่าภาคภูมิใจ


ที่มา : ฝ่ายวิชาการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น