xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนยุทธ์ รับมือเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ Money DIY
โยแมน
yeomanwarders-dailymanager@yahoo.com


ได้ลองขึ้นรถเมล์ช่วย (ประหยัด) ชาติ (นี้) กันหรือยังครับ ผมเองได้มีโอกาสปีนป่ายแย่งชิงไปขึ้นกับเขามาแล้ว แต่ดูท่าแล้วชายหนุ่มร่างระหงอย่างผม คงทนลำบากขึ้นรถเมล์ร้อนๆไม่ไหว สงสัยต้องกลับมาขึ้นรถตู้คู่ใจเหมือนเดิม อย่างว่าแหละครับคนมันรวยช่วยไม่ได้ (อะแฮ่ม….)

คิดๆดูแล้ว ผมก็ไม่ค่อยได้อานิสงส์อะไรจากนโยบายรัฐบาลเป็นชิ้นเป็นอันสักเท่าไหร่ครับ เพราะรถก็ไม่มีขับ ห้องก็เช่าเขาอยู่ ไม่เห็นเฮียเจ้าของหอแกจะมีทีท่าลดราคาค่าน้ำค่าไฟอะไรให้ ครั้นจะออกปากถาม ก็กลัวแกจะทวงค่าเช่าห้องเดือนที่แล้ว คิดไปคิดมาผมว่าเงียบไว้น่าจะปลอดภัยกับอนาคตมากกว่า.....

จะว่าไปแล้ว เรื่องของแพงนั้น คนไทยถือว่ายังโชคดีนักหนาครับ เมื่อเทียบกับผู้คนในประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองฝรั่งมังค่า หรือเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน เพราะประเทศไทยนั้นอย่างไรเสียก็เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ต่อให้ราคาน้ำมันแพงไปถึงไหนถึงไหน แต่ถ้าเรามีข้าวปลาอาหารอยู่ไม่ไกลมือเอื้อมแบบนี้ ก็ยังพอประทังชีวิตกันไปได้ นี่ยังไม่นับว่าคนไทยมีน้ำใจชอบช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากอีกต่างหาก ซึ่งผมว่าคนที่ลำบากสุดตอนนี้ คงไม่พ้นคนที่รายได้ปานกลาง และไม่กล้าขอข้าวใครกินนั่นแหละครับ

แม้ว่าหลายคนจะมองว่า ช่วงนี้มีแต่เรื่องแย่ๆ แต่หากพิจารณากันดีๆแล้ว ภาวะเช่นนี้ก็มีแง่งามให้เราได้ใคร่ครวญอยู่เหมือนกัน เมื่อก่อนให้ตะโกนปาวๆจนปากฉีกถึงสุวรรณภูมิว่าเงินเฟ้อน่ะมันน่ากลัวนักหนา อย่ามัวแต่กลัวเงินต้นหาย เพราะเวลาแก่ตัวไปนั้น แม้เงินต้นไม่หาย แต่ซื้อหาอะไรไม่ได้เลยอาจจะแย่ยิ่งไปกว่า ก็หามีใครฟังไม่ ท่านทั้งหลายยังคงตั้งเข็มทิศที่จะฝากเงินไว้แต่เพียงอย่างเดียว มาถึงตอนนี้ คงได้เริ่มรู้สึกแล้วครับว่าอาหารการกิน เครื่องใช้ไม้สอยทั้งหลายต่างก็ราคาพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนคนที่มีรายได้จากดอกเบี้ยอย่างเดียวเริ่มรู้สึกแล้วครับว่าดอกเบี้ยสูงยังไงก็ไม่สามารถชดเชยราคาข้าวของที่เพิ่มขึ้นได้

ทีนี้จะทำยังไงกันดีล่ะครับ คำถามที่มีอยู่ว่อนไปหมดทั้งเมืองก็คือ จะลงทุนอย่างไรให้ชนะเงินเฟ้อ ซึ่งหลายคนก็แนะนำให้ลงทุนในเงินฝาก หรือตราสารการเงินระยะสั้นๆเพื่อรับประโยชน์จากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย บางคนก็ว่าควรจะลงทุนยาวๆไปเลย เพราะอัตราดอกเบี้ยของตราสารระยะยาวนั้นพุ่งขึ้นไปสูงเกินกว่าเหตุ จากการที่นักลงทุนมีอาการปอดชำรุดกลัวเงินเฟ้อกันจัดเกินไป

แต่หากมองกันยาวๆแล้ว การลงทุนในตราสารหนี้แต่เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะยืดจะหดอายุตราสารแค่ไหน ก็ไม่อาจทำให้ท่านหนีความน่ากลัวของเงินเฟ้อไปได้หรอกครับ เปรียบเหมือนคนกลัวฟันผุ แค่แปรงฟันอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ต้องใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วย ขัดฟันอย่างเดียวก็อาจไม่พอต้องให้หมอขูดหินปูนเป็นประจำทุก 6 เดือนอีกต่างหาก

ซึ่งกระบวนการที่นอกเหนือจากการแปรงฟัน ก็นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงค่าเสียเวลา ไม่ว่าจะเป็นการหัดใช้ไหมขัดฟัน (ใหม่ๆโดนไหมบาดเหงือกอีกต่างหาก) ส่วนหมอฟันนั้นพอเจอกันมักจะไม่ได้แค่ขูดหินปูนอย่างเดียว แต่คุณหมอฟันคนสวยต้องเจอฟันผุซี่เดิมๆ (ที่เริ่มจะผุอีกแล้ว!) เรียกได้ว่ามีโอกาสเจ็บทั้งตัว เสียทั้งตังค์นั่นแหละครับ

เปรียบเหมือนการลงทุนครับ เอะอะอะไร ก็จะฝากเงิน ฝากเงิน ท่าเดียว เงินออมก็ยากที่จะเติบโตได้ทันเงินเฟ้อ ดังนั้น เราต้องหาทางลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆที่งอกเงยไม่แพ้เงินเฟ้อร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หุ้นปันผล กองทุนรวมหุ้น หรือแม้กระทั่งลงทุนบางส่วนในกองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งท่านก็ต้องพร้อมรับความจริงด้วยว่าราคาของหุ้น หรือ กองทุนเหล่านี้จะต้องมีขึ้นมีลง แถมขึ้นได้มาก ลงได้มากอีกด้วย แต่เราก็ต้องแบ่งเงินมาลงทุนบ้าง เพราะเรารู้แล้วเห็นแล้วว่าการฝากเงินอย่างเดียว ยังไงก็พาเราไปไม่ถึงไหนแน่นอน

บางคนก็อาจเถียงว่าหุ้นตกแอ้งแม้งทั่วโลก กอดเงินฝากไว้ แม้ดอกเบี้ยจะต่ำกว่าเงินเฟ้อ แต่ก็ดีกว่าขาดทุนบานตะเกียงไปกับหุ้น ผมว่าเราต้องดูให้มันครบทั้งวงจรครับ ไม่ว่าขาลง ขาขึ้น แล้วจะพบว่าก่อนหุ้นจะตกขนาดนี้ ก็เคยขึ้นมาซะเยอะแยะ แถมช่วงที่หุ้นตกอย่างหนัก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายก็พากันพาเหรดขึ้นมากันเป็นทิวแถว ซึ่งถ้าเรากระจายการลงทุนไปให้ครบถ้วน ก็น่าจะช่วยลดผลกระทบระยะสั้นที่เกิดจากการลงทุนในสินทรัพย์ชนิดใดชนิดหนึ่งลงไปได้บ้าง

สำหรับสัดส่วนการลงทุนนั้น ผมขอเอาคำแนะนำของคุณปู่จอห์น โบเกิล ผู้บุกเบิกกองทุนเชิงรับอันเกรียงไกรในสหรัฐฯอย่าง Vanguard Fund มานำเสนอครับ โดยคุณปู่โบเกิลบอกว่าอายุเท่าไหร่ให้หักลบด้วย 10 จะเท่ากับสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ ส่วนที่เหลือก็คือหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ เช่น ถ้าเราอายุ 30 แสดงว่ามีสัดส่วนตราสารหนี้ได้ 30-10 เท่ากับ 20% ที่เหลือเป็นหุ้น ส่วนคนที่อายุ 50 ก็จะมีสัดส่วนตราสารหนี้ได้ 50-10 เท่ากับ 40% เป็นหุ้นถึง 60% เป็นต้น

บางคนอาจรู้สึกครับว่าหลักการนี้ ออกจะเข้มไปหน่อย แต่คุณปู่ท่านได้ให้แง่คิดไว้ครับว่าเราควรปล่อยให้เงินออมของเราทำงานอย่างเต็มที่ ในช่วงเวลาที่เรามีโอกาสผิดพลาดได้มาก เพราะยังมีรายได้อยู่ ต่อเมื่อแก่ตัวไปแล้ว เราจะไม่มีเวลามากพอที่จะแก้ไขความผิดพลาดใดๆที่เกิดขึ้นจากการลงทุนได้อีก

พบกันใหม่ เดือนหน้าครับ!

กำลังโหลดความคิดเห็น