xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนสำรองฯ6เดือนโต1.3หมื่นล. รับลูกจ้าง-นายจ้างส่งเงินสมทบเข้ากองต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพครึ่งปีโต 13,671.60 ล้านบาทรับอานิสงค์ลูกจ้าง-นายจ้างใส่เงินสมทบต่อเนื่อง แต่เดือนต่อเดือนเงินกองทุนวูบไปกว่า 4,064.48 ล้านบาท หลังภาวะการลงทุนไทยสุดสวิง "บลจ.ทิสโก้" ครองหัวขบวนด้วยจำนวนเงิน 64,366.96 ล้านบาท ขณะที่ "กรุงไทย" รั้งตำแหน่งที่ 2 ด้วยมูลค่ากองทุน 62,511.03 ล้านบาท ด้าน"พิชิต" เผยครึ่งปีหลังโพวิเดนต์ฟันด์น่าจะโตต่อ

รายงานข่าวจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยจำนวนเงินในอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident fund) ประจำเดือนมิถุนายน 2551 ว่า ทั้งระบบมีจำนวนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 455,391.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 13,671.60 ล้านบาท หรือ 3.10% จากจำนวนเงิน ณ สิ้นปี 2550 ที่ทั้งระบบมีจำนวนเงินกองทุน 441,720.26 ล้านบาท อย่างไรก็ตามถ้าเปรียบเทียบจำนวนเงินดังกล่าวกับจำนวนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ เดือนพฤษภาคม 2551 ที่มีจำนวน 459,456.34 ล้านบาท กลับคิดเป็นการลดลงกว่า 4,064.48 ล้านบาท หรือ 0.88%

ทั้งนี้ 10 อันดับบริษัทจัดการที่มีจำนวนเงินในการบริหารจัดการสูงสุด ณ เดือนมิถุนายน 2551 ได้แก่ อันดับ 1 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด มีจำนวนเงินกองทุน 64,366.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,641.08 ล้านบาท หรือ 2.62% จากปลายปีก่อนที่มีเงินกองทุน 62,725.88 ล้านบาท ในขณะที่จำนวนเงินดังกล่าวกลับคิดเป็นการลดลง 1,062.21 ล้านบาท หรือ 1.62% จากเดือนก่อนหน้า , อันดับ 2 บลจ. กรุงไทย เดือนล่าสุดมีจำนวนเงิน 62,511.03 ล้านบาท ลดลงกว่า 8,862.78 ล้านบาท หรือ 12.42% จากปลายปี 2550 ที่มีจำนวนเงินกองทุน 71,373.81 ล้านบาท และปรับตัวลดลงจากจำนวนเงินกองทุนในเดือนก่อนหน้า 731.69 ล้านบาท หรือ 1.16%

ขณะที่อันดับ 3 บลจ. เอ็มเอฟซี มีเงินกองทุนในการจัดการ 54,373.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,631.57 ล้านบาท หรือ 5.09% เมื่อเทียบกับปลายปีก่อนที่มีจำนวนเงินในการจัดการ 51,742.13 ล้านบาท ขณะที่จำนวนเงินดังกล่าวกลับคิดเป็นการลดลง 357.04 ล้านบาท หรือ 0.65% จากเดือนก่อนหน้า, อันดับ 4 บลจ. กสิกรไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายนมีจำนวนเงินกองทุน 51,417.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,491.51 ล้านบาท หรือ 7.29% ขณะที่ปลายปีก่อนบลจ.กสิกรไทยมีเงินกองทุน 47,926.12 ล้านบาท อย่างไรก็ตามถ้าเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะคิดเป็นการลดลง 399.63 ล้านบาท หรือ 0.77 %

นอกจากนี้อันดับ 5 บลจ. ไทยพาณิชย์ มีจำนวนเงินกองทุนล่าสุดที่ 46,046.38 ล้านบาท ลดลง 5,693.30 ล้านบาท หรือ 11.00% จากปลายปีก่อนที่มีจำนวนเงิน 51,739.68 ล้านบาท รวมไปถึงยังคิดเป็นการลดลงจากเดือนก่อนหน้ากว่า 312.70 ล้านบาท หรือ 0.67% , อันดับ 6 บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) มีเงินกองทุนในการจัดการ 42,341.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,791.76 ล้านบาท หรือ15.85% เมื่อเทียบกับปลายปีก่อนที่มีจำนวนเงินในการจัดการ 36,549.76 ล้านบาท แต่จำนวนเงินดังกล่าวกลับคิดเป็นการลดลง 396.60 ล้านบาท หรือ 0.93% จากเดือนก่อนหน้า

ส่วนอันดับ 7 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL มีจำนวนเงินกองทุน 40,052.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17,828.71 ล้านบาท หรือ 80.22% จากปลายปีก่อนที่มีเงินกองทุน 22,224.21 ล้านบาท ในขณะที่จำนวนเงินดังกล่าวกลับคิดเป็นการลดลง 388.11 ล้านบาท หรือ 0.96% จากเดือนก่อนหน้า , อันดับ 8 บลจ. ฟินันซ่า มีเงินกองทุนในการจัดการ 18,904.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,102.70 ล้านบาท หรือ 6.19% เมื่อเทียบกับปลายปีก่อนที่มีจำนวนเงินในการจัดการ 17,802.27 ล้านบาท จำนวนเงินดังกล่าวกลับคิดเป็นการลดลง 40.97ล้านบาท หรือ 0.22% จากเดือนก่อนหน้า

ด้านอันดับ 9 บลจ. บีที มีจำนวนเงินกองทุนล่าสุดที่ 17,830.52 ล้านบาท ลดลง 4,567.19 ล้านบาท หรือ 20.39% จากปลายปีก่อนที่มีจำนวนเงิน 22,397.71 ล้านบาท รวมไปถึงยังคิดเป็นการลดลงจากเดือนก่อนหน้ากว่า 41.99 ล้านบาท หรือ 0.23% , สุดท้ายอันดับ 10 บริษัท อเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด (AIA) มีเงินกองทุนในการจัดการ 16,013.99 ล้านบาท ลดลง 3,811.87 ล้านบาท หรือ 19.23% เมื่อเทียบกับปลายปีก่อนที่มีจำนวนเงินในการจัดการ 19,825.86 ล้านบาท แต่จำนวนเงินดังกล่าวกลับคิดเป็นการลดลง 180.11 ล้านบาท หรือ 1.11% จากเดือนก่อนหน้า
นายพิชิต อัคราทิตย์
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า สำหรับการเติบโตของจำนวนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในช่วงครึ่งปีแรกนั้น เป็นไปตามธรรมชาติของกองทุนเพราะลูกจ้างและนายจ้างต้องมีการส่งเงินเข้าสมทบ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าปัจจุบันจากความผันผวนของตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน ส่งผลทำให้จำนวนเงินกองทุนปรับตัวลดลงบ้างเช่นเดียวกัน

สำหรับครึ่งหลังของปีนี้นั้น คาดว่ากองทุนน่าจะยังคงสามารถเติบโตได้จากการที่ลูกจ้างและนายจ้างใส่เงินเข้าสมทบในกองทุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนความผันผวนทางการลงทุนนั้นคาดว่าน่าจะอยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่ต้องยอมรับว่ายังคงมีความเสี่ยงอยู่ ดังนั้นในส่วนของบริษัทจะยังคงบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในการบริหารจัดการด้วยความระมัดระวังเช่นเดิม รวมไปถึงอาจจะมีการพิจารณาเน้นลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น