xs
xsm
sm
md
lg

ไพรเวตฟันด์โตกองสำรองฯพุ่ง เงินไหลเข้าหมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนส่วนบุคคล-กองทุนสำรองเลี้ยงชีพโตต่อเนื่อง เผยเดือนกุมภาพันธ์รับเงินลงทุนไหลเข้ารวมกว่า 10,688.42 ล้านบาท โพรวิเดนฟันด์โดยเงินเข้าทั้งสิ้น 7,861.15 ล้านบาท จากนายจ้างตั้งกองทุนให้สวัสดิการพนักงานเพิ่ม โดยมี "ทิสโก้" รั้งแชมป์เบอร์หนึ่ง ส่วนไพรเวตฟันด์ได้อานิสงส์ตลาดหุ้นดีดตัว รับเงินลงทุนใหม่อีก 2,827.26 ล้านบาท "กสิกรไทย" มาวินอันดับ 1 ผู้จัดการกองทุนชี้ หากภาวะเอื้อต่อการลงทุนต่างประเทศ จะโตได้อีก แถมโตกว่าตราสารหนี้ด้วย

รายงานข่าวจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) เปิดเผยว่า จำนวนเงินลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวตฟันด์) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ไพรวิเดนฟันด์) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกองทุนทั้ง 2 ประเภท มีเม็ดเงินใหม่ไหลเข้ามารวมกันประมาณ 10,688.42 ล้านบาท ซึ่งมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสูงที่สุดที่ 7,861.15 ล้านบาท และกองทุนส่วนบุคคล 2,827.26 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พบว่าจากจำนวนบริษัทจัดการทั้งระบบ 17 บริษัท มีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 448,542.34 ล้านบาท โดยคิดเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นประมาณ 7,861.15 ล้านบาท จากเดือนมกราคมที่มีจำนวนเงินลงทุนอยู่ที่ 440,681.18 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลง 1.78%

สำหรับส่วนแบ่งการตลาด( มาร์เกตแชร์) 10 อันดับของบริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งระบบ อันดับที่ 1 ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด โดยมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 64,225.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมา 1,353.97 ล้านบาท จากเดือนมกราคมที่ 62,871.16 ล้านบาท

ส่วนอันดับที่ 2 ได้แก่ บลจ. กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีเงินลงทุนรวม 61,623.17 ล้านบาท และได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น1,284.64 ล้านบาท จากเดือนที่แล้วที่มีจำนวนเงินลงทุนอยู่ที่ 60,338.53 ล้านบาท อันดับที่ 3 บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ที่มีเงินลงทุนทั้งหมดเท่ากับ 53,488.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 850 ล้านบาท จากเดือน ม.ค. ที่มีจำนวนเงินลงทุนอยู่ที่ 52,637.68 ล้านบาท

อันดับที่ 4 บลจ. กสิกรไทย โดยมีจำนวนเงินลงทุนอยู่ที่ 49,885.06 ล้านบาท ทำให้มียอดการลงทุนเพิ่มขึ้น 891.77 ล้านบาท จากจำนวนเงิน 48,993.30 ล้านบาท ของเดือนที่ผ่านมา ส่วนอันดับที่ 5 บลจ. ไทยพาณิชย์ พบว่ามีเงินลงทุนทั้งหมดอยู่ที่ 46,054.99 ล้านบาท โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นมา 682.21 ล้านบาท จากเดือน ม.ค. 45,372.78 ล้านบาท

อันดับที่ 6 คือ บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) โดยมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 41,678.10 ล้านบาท ส่งผลให้มียอดเพิ่มขึ้นเท่ากับ 695.88 ล้านบาท จากจำนวนเงินลงทุน 40,982.22 ล้านบาท ของเดือนที่ผ่านมา ขณะที่อันดับที่ 7 ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่มีเงินลงทุนในเดือนกุมภาพันธ์ 39,546.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 492.52 ล้านบาท จากจำนวนเงิน 39,054.24 ล้านบาท ของเดือนมกราคม

อันดับที่ 8 บลจ. ฟินันซ่า พบว่ามีเงินลงทุนทั้งสิ้นอยู่ที่18,217.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 339.96 ล้านบาท จากเดือน ม.ค. ที่ 17,877.34 ล้านบาท อันดับที่ 9 คือ บลจ. บีที ซึ่งมีเงินลงทุนในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 17,532.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 315.41 ล้านบาท จากเดือนที่ผ่านมาคือ 17,217.32 ล้านบาท

และอันดับสุดท้ายคือ บริษัท อเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด (AIA) โดยมีเงินลงทุนทั้งหมดของเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 16,014.25 เพิ่มขึ้นมา 389.55 ล้านบาท จากจำนวนเงิน15,624.70 ล้านบาทของเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

รายงานข่าวกล่าวว่า ปัจจัยที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วงนี้ เนื่องจากช่วงที่บริษัทจัดการเร่งทำการตลาดเพื่อดึงยอดเข้ามาเป็นฐานลูกค้ารองรับพ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จะมีผลบังคับใช้เร็วๆนี้ ขณะเดียวกันน่าจะเป็นช่วงที่บริษัทเอกชนหลายราย เริ่มหันให้ความสำคัญกับการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนังงานมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนนายจ้างที่เพิ่มขึ้นเป็น 8,944 บริษัทจากจำนวนนายจ้าง 8,809 บริษัทในเดือนมกราคม

ไพรเวตฟันด์โตเฉียด3พันล้าน
สำหรับการขยายตัวของกองทุนส่วนบุคคล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 มีจำนวนเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 178,320.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2,827.26 ล้านบาทที่มีจำนวนเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 175,493.51 ล้านบาท โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตในระดับ 1.61%

โดยส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทที่มีจำนวนเงินลงทุนมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1. บลจ. กสิกรไทย มีจำนวนเงินลงทุนในเดือนกุมภาพันธ์ทั้งสิ้น 35,154.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น1,282.38 ล้านบาท จากเดือนมกราคมซึ่งอยู่ที่ 33,872.42 ล้านบาท อันดับที่ 2. บลจ. ทิสโก้ มีจำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 31,345.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.89 ล้านบาท จากเดือนมกราคมซึ่งอยู่ที่ 31,294.49 ล้านบาท อันดับ 3. บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) มีจำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 22,675.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.32 ล้านบาท จากจำนวนเงิน 22,636.16 ล้านบาท

อันดับ 4. บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) มีจำนวนเงินลงทุน สิ้น 21,356.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.77 ล้านบาทจากเดือนมกราคมที่มีเงินลงทุนรวมอยู่ที่ 21,356.91 ล้านบาท อันดับที่ 5. บลจ. วรรณ มีจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 20,749.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 178.70 ล้านบาทจากจำนวนเงิน 20,749.67 ล้านบาท

อันดับที่ 6. ธนาคารกรุงเทพ มีจำนวนเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 9,522.68 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 24.01 ล้านบาท จากเดือนมกราคมที่ 9,546.69 ล้านบาท อันดับที่ 7. บลจ. อเบอร์ดีน มีจำนวนเงินรวม 6,479.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 101.01 ล้านบาทจากเดือนมกราคม ซึ่งอยู่ที่ 6,378.72 ล้านบาท

อับดับที่ 8. บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง จำกัด มีจำนวนเงินลงทุนในเดือนกุมภาพันธ์ทั้งสิ้น 5,477.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 98.63 ล้านบาท จากเดือนมกราคมที่มีเงินลงทุนรวม 5,378.70 ล้านบาท อันดับที่ 9. บลจ. ไทยพาณิชย์ มีจำนวนเงินลงทุน 5,349.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 159.60 ล้านบาท จากเดือนมกราคมที่มีจำนวนเงินลงทุน 5,190.25 ล้านบาท

และอันดับที่ 10. บลจ. อยุธยา ซึ่งมีจำนวนเงินลงทุนในเดือนกุมภาพันธ์ทั้งสิ้น 3,805.30 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 5.68 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 3,799.63 ล้านบาทในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

นายประภาส ตันติพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า จำนวนเงินลงทุนของกองทุนส่วนบุคคลทั้งระบบที่เพิ่มขึ้น มีปัจจัยมาจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ จึงส่งผลต่อตลาดตราสารทุนรวมถึงบลจ.ต่างๆ มีเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากนักลงทุนที่เข้ามาลงทุน

ส่วนการออกไปลงทุนในต่างประเทศนั้น นายประภาส กล่าวว่า หากเศรษฐกิจในต่างประเทศมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น และภาวะการลงทุนทั่วโลกลดความผันผวนลง อาจจะมีกองทุนส่วนบุคลลไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ สถานการณ์การลงทุนในต่างประเทศยังมีความกังวลจากนักลงทุนในเรื่องของปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพในสหรัฐ (ซับไพร์ม) อยู่ ส่วนแนวโน้มการเติบโตในปีนี้ หากเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศแล้ว กองทุนส่วนบุคคลมีแนวโน้มการเติบโตได้ดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น