xs
xsm
sm
md
lg

ฝังดิน ลงทุน หรือฝากธนาคาร อนาคตหลังมีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใกล้เข้ามาทุกขณะ สำหรับ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 สิงหาคม 2551 แต่ไม่ต้องตระหนก หรือตกใจไปล่วงหน้า เพราะในช่วง 1 ปีแรกยังคงให้ความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนในทุกบัญชี

โดยอัตราคุ้มครองเงินฝากจะลดหรั่นลงไปหลังจากปีที่ 2 คือจะเหลือ 100 ล้าน ในปีที่ 3 จะเหลือ 50 ล้านบาท และในปีที่ 4 จะเหลือ 10 ล้านบาท ส่วนในปีสุดท้ายจะเหลือ 1 ล้านบาทต่อ 1 สถาบันการเงิน

คนส่วนใหญ่ของประเทศคงไม่ยี่หระ หรือให้ความสนใจกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้เท่าไรนัก เพราะคนที่ได้รับผลกระทบจะต้องมีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศคงจะไม่มีเงินออมมากขนาดนั้น

สอดคล้องกับผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งระบุว่าบัญชีที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเพียงแค่ 1.2% จากจำนวนบัญชีรวมทั้งหมดในปัจจุบันมีจำนวน 74.6 ล้านบัญชี โดยเป็นบัญชีเงินฝากที่มีจำนวนเงินมากกว่า 1 ล้านบาทจำนวน 8.9 แสนบัญชี และเป็นบัญชีเงินฝากที่มีจำนวนเงินตํ่ากว่า 1 ล้านบาทจำนวน 73.7 ล้านบัญชีหรือคิดเป็น 98.8% 

ขณะที่จำนวนบัญชีที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาทนั้นคิดเป็นจำนวนเงิน 5.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 73.1% ส่วน จำนวนบัญชีที่มีเงินฝากตํ่ากว่า 1 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนเงิน 1.9 ล้านล้านบาท หรือ 26.9% รวมทั้ง 2 บัญชีคิดเป็นเงินจำนวน 6.9 ล้านล้านบาท

สำหรับจำนวนบัญชีที่จะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ระบบสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ในปีที่1: 2551 จะมีจำนวนบัญชีที่ได้รับความคุ้มครองจำนวน 74,610,874 บัญชี คิดเป็น 100% เนื่องจากในปีแรกยังได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน ปีที่ 2 : 2552 จะมีบัญชีที่ได้รับความคุ้มครองจำนวน 74,607,173 บัญชี คิดเป็น 99.995% ส่วนบัญชีที่ไม่ได้รับความคุ้มครองมีจำนวน 3,710 บัญชี คิดเป็น 0.005% ตามการคุ้มครองในปีที่ 2 สำหรับบัญชีเงินฝากที่ไม่เกิน 100 ล้านบาท

ปีที่ 3 : 2553 บัญชีที่ได้รับความคุ้มครองมีจำนวน 74,601,828 บัญชี คิดเป็น 99.988% โดยมีบัญชีที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจำนวน 9,016 บัญชีคิดเป็น 0.012% ตามการคุ้มครองในปีที่ 3 สำหรับบัญชีเงินฝากที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ขณะที่ในปีที่ 4 : 2554 บัญชีที่ได้รับความคุ้มครองมีจำนวน 74,541,085 บัญชี คิดเป็น 99.91% โดยมีบัญชีที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจำนวน 69,789 บัญชีคิดเป็น 0.09% ตามการคุ้มครองในปีที่ 3 สำหรับบัญชีเงินฝากที่ไม่เกิน 10 ล้านบาท

ในปีที่ 5 : 2555 จะมีบัญชีที่ได้รับความคุ้มครองมีจำนวน 73,725,339 บัญชี คิดเป็น 98.81% โดยมีบัญชีที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจำนวน 885,535 บัญชีคิดเป็น 1.19% ตามการคุ้มครองในปีที่ 5 สำหรับบัญชีเงินฝากที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนของจำนวนเงินฝากที่จะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ระบบสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ในปีที่ 1 : 2551 เงินฝากที่จะได้รับความคุ้มครองมีจำนวน 6,930,291 บาทคิดเป็น 100 ในปีที่ 2 : 2552 เงินฝากที่จะได้รับความคุ้มครองมีจำนวน 5,486,647 บาทคิดเป็น 79.17% ส่วนเงินฝากที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง มีจำนวน 1,443,644 บาท คิดเป็น 20.83 %

โดยในปีที่ 3 : 2553 เงินฝากที่จะได้รับความคุ้มครองมีจำนวน 5,112,668 บาท หรือคิดเป็น 73.77% ส่วนเงินฝากที่ไม่ได้รับการคุ้มครองมีจำนว 1,817,623 บาท คิดเป็น 26.23% สำหรับในปีที่ 4 : 2554 เงินฝากที่จะได้รับความคุ้มครองมีจำนวน 3,946,095 บาทคิดเป็น 56.94% ส่วนเงินฝากที่ไม่ได้รับการคุ้มครองมีจำนวน 2,984,195 บาทคิดเป็น 43.06% ขณะที่ในปีที่ 5 : 2555 เงินฝากที่จะได้รับความคุ้มครองมีจำนวน 1,867,571 บาทคิดเป็น 26.95% ส่วนเงินฝากที่ไม่ได้รับการคุ้มครองมีจำนวน 5,062,720 บาทคิดเป็น 73.05%

61% หวั่นสูญเงินฝาก
ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังบอกอกีว่า สำหรับผู้มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาทจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มที่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นี้ประมาณ 39% กลุ่มที่เป็นกลาง 16% และไม่เห็นด้วยประมาณ 61%

สำหรับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีความรู้สึกไม่แฟร์หากจะมีการลดการคุ้มครองลง ระยะเวลาที่ลดการคุ้มครองนั้นสั้นเกินไป และยังไม่แน่ใจในการบริหารงานของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งอาจไม่มีเงินจ่ายคืนได้รับวงเงินที่ตั้งไว้ โดยอยากให้รัฐบาลคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนต่อไป

ส่วนกลุ่มที่เห็นด้วยเกี่ยวกับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ให้เหตุผลว่า เป็นสร้างความยุติธรรมสำหรับทุกคน โดยรัฐไม่ต้องเอาภาษีไปสนับสนุนกรณีสถาบันการเงินล้ม และเข้าใจในภาระที่รัฐบาลต้องรับในขณะนี้ นอกจากนี้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ประกาศยังให้คุ้มครองถึง 1 ล้านบาทซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และลูกค้าธนาคารจะได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทำให้ผลตอบแทนที่อาจได้รับเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ในส่วนที่มีความคิดเห็นเป็นกลางได้ผลจากแบบสอบถามดังนี้ ประเทศอื่นๆก็ไม่น่าคุ้มครองเงินฝาก 100% เช่นกัน ผุ้ฝากสามารถถอนเงินไปลงทุนในผลิตภัณฑ์อื่นๆได้ และในส่วนของเงินฝาก 1 ล้านบาทยังคงได้รับการคุ้มครองอีกด้วย

การปรับตัวของประชาชน
ปฎิกริยาของผุ้ฝากเงินมีดังนี้ คือ ปีที่ 1 อาจจะยังอยู่เฉยๆ อาจจะเริ่มกระจายเงินฝากบ้าง เนื่องจากยังได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน ปีที่ 2 อยู่เฉยๆ ศึกษาข้อมมูลลงทุน และในช่วงครึ่งปีหลังกระจายเงินฝากไปพันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวม

ขณะที่ใน ปีที่ 3 ประชาชนจะเริ่มหันมาศึกษาและปรับการลงทุนทุกๆ 6 เดือน กระจายเงินไปธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และลงทุนในทองคำ กระจายฝากไปธนาคารอื่น สำหรับปีที่ 4 ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะมีการปรับแผนการลงทุนทุก 6 เดือน โดยอาจมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และประกันภัย กระจายเงินฝากไปธนาคารอื่นมากขึ้น และในปีสุดท้าย การกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์อื่นจะเพิ่มขึ้นตามลำดับทั้ง อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ พันธบัตร กองทุนรวม รวมถึงการกระจายเงินฝากไปยังธนาคารอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

เข้าใจว่า หลังจากนี้คงจะเห็นการปรับตัวหลายๆ ด้านตามมาอีก เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างมองหาสิ่งทดแทนเพื่อลดความเสี่ยงของตนเองในการที่จะสูญเงินฝากในจำนวนที่เกิน 1 ล้านบาทขึ้น แต่สิ่งที่อยากบอกคือคนที่มองว่าตนเองมิได้รับผลกระทบจากพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะไม่มีเงินออมไม่มากนักว่า แล้วจะนิ่งเฉยฝากเงินต่อไปเรื่อยๆ คงไม่ใช่

ที่กล่าวเช่นนั้น เพราะท่านกำลังจะเสียโอกาสในการแสวงหาผลตอบแทน และการลงทุนผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ไม่ว่า บลจ. หรือธนาคารพาณิชย์จะนำมาเสนอ เพื่อดึงเม็ดเงินในส่วนนี้ ซึ่งหากเราพยายามหาข้อมูลถ้วนถี่ คุณนั่นแหละจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์เต็มๆ จากพ.ร.บ.ฉบับนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น