xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางธุรกิจกับการปรับดุลยภาพของเศรษฐกิจโลกรอบใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นางสาวอังคณา รัชธร
ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

จุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจโลก
กระบวนการปรับสมดุลของเศรษฐกิจโลกระลอกใหม่เกิดขึ้นจาก เงินเฟ้อ ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญ และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เนื่องจากราคาน้ำมันและอาหารที่ทะยานสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันปรับขึ้นเร็วและแรง เป็นผลมาจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นเวลานาน โดยเฉพาะจีน อินเดีย และกลุ่มประเทศอาหรับ ทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันและสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย ขณะที่ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างเพียงพอในช่วงระยะเวลาอันสั้น
ผลกระทบของเงินเฟ้อ จะก่อให้เกิดการปรับสมดุลของเศรษฐกิจโลกทั้งในด้านการค้า พลังงาน อาหาร ควบคู่ไปกับด้านการเงิน ซึ่งอาจใช้เวลา 3 ปีเป็นอย่างน้อย กล่าวคือ

- เศรษฐกิจชะลอตัวเร็วทั่วโลก โดยเงินเฟ้อจะยังคงเป็นปัญหาหนักในปีนี้โดยเฉพาะในเอเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาน้ำมัน โดยในช่วง 2-3 ปีนี้ นอกจากปัจจัยพื้นฐานแล้วการคาดการณ์ระดับราคาจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาน้ำมันค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคาสูง โดยในปีนี้ความต้องการใช้น้ำมันจะสูงมากโดยเฉพาะช่วงใกล้การจัดงาน Olympic โดยหากราคาน้ำมันปรับขึ้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะเร่งขุดเจาะหรือจำหน่ายน้ำมัน เนื่องจากจะได้รับผลตอบแทนจากการขายน้ำมันค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศอิสราเอลกับอิหร่าน และความไม่สงบในประเทศไนจีเรีย จะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นเร็ว ส่งผลให้อำนาจซื้อของประเทศส่วนใหญ่ลดน้อยลง กระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและการค้าระหว่าง

- ระยะปานกลาง (ประมาณ 2-3 ปี) เป็นระยะที่มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว มีการผลิตพลังงานทดแทนจากพืชน้ำมันและขยายพื้นที่เพาะปลูกธัญญาหารและพืชน้ำมันเป็นอย่างมาก ยังผลให้ราคาน้ำมันและอาหารไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

- ระยะยาว สถานการณ์โลกจะเริ่มเข้าสู่สมดุลใหม่ เป็นผลจากการฟื้นตัวของวิกฤตสินเชื่อในสหรัฐฯ ผลของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและพฤติกรรมการบริโภคพลังงานโดยการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตและการขนส่งเป็นอย่างมาก

เส้นทางธุรกิจของไทย..ในยุคน้ำมันแพง
ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้านทั้งปัญหาการไร้เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ และอยู่ท่ามกลางวิกฤตโลก อันได้แก่ วิกฤตการเงิน วิกฤตอาหาร และที่เป็นปัญหาหนักที่สุดคือ วิกฤตพลังงาน โดยราคาน้ำมันจะเป็นแรงกดดันสำคัญให้ทุกภาคส่วนธุรกิจต้องหันมาให้ความสำคัญกับการปรับตัวอย่างรวดเร็วและจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อม ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบสูง คือ ภาคอุตสหากรรม ขณะที่ภาคเกษตรกรรม จะเป็นกลุ่มที่ยังเติบโตดี

1.สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกจะเติบโตน้อยลง
ภาคอุตสาหกรรม ประสบกับแรงกดดันหลายด้าน คือ (1) ต้นทุนพุ่งสูงขึ้นเร็ว เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจที่พึ่งพาน้ำมันสูง (2) กำลังซื้อของตลาดโลกลดลง (3) การแข่งขันเข้มข้นมากขึ้น จากการเปิดการค้าเสรีอย่างแพร่หลายทั่วโลก


สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ (1) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ ซึ่งจะยังคงกระจุกตัวอยู่ในสินค้ากลุ่มเดิมที่เป็นการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติ เพราะมีความได้เปรียบในช่องทางจัดจำหน่ายและต้นทุนโดยเปรียบเทียบ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ รถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น (2) สินค้าที่มีโอกาสเติบโตดีในช่วงน้ำมันแพง คือ ยางรถยนต์/จักรยาน รถจักรยาน เป็นต้น

ส่วนสินค้าที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์หนัง รองเท้ากีฬา และเครื่องเรือน (เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้) ประมง ขนส่ง การบิน อุตสาหกรรมกระดาษ ปูนซิเมนต์ ก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อสังหาริมทรัพย์บางประเภทยังเติบโตดีซึ่งเป็นกลุ่มตลาดระดับกลางค่อนข้างสูงและตลาดบน โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่อยู่ใกล้ระบบขนส่งระบบรางและรถไฟฟ้า และจังหวัดที่มีแนวโน้นการขยายการลงทุนจากต่างชาติค่อนข้างดี จะอยู่ในกลุ่มเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ ระยอง สมุย พัทยา ชลบุรี

นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า ตลาดส่งออกของไทยที่น่าจะไปได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง จะเป็นประเทศที่มีฐานะดุลการค้าเกินดุล และมีสกุลเงินที่แข็งค่า ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง เป็นต้น

2.สินค้าเกษตร : โอกาสท่ามกลางวิกฤต
ระดับราคาสินค้าเกษตรเกือบทุกชนิดอยู่ในช่วงขาขึ้นนับแต่ปี 2545 เป็นต้นมา (รูปที่ 1) และจะอยู่ในระดับสูงเป็นเวลากว่า 10 ปีตามการคาดการณ์ของ FAO (Food and Agriculture Organization) โดยปัจจัยที่มีความสำคัญในการกำหนดราคาสินค้าเกษตร ได้แก่

(1) ความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งเป็นผลของการขาดการบริหารจัดการที่ดีเป็นเวลานาน ทำให้การผลิตไม่เพียงพอและกลายเป็นปัญหาหนักเมื่อการบริโภคเพิ่มขึ้นมาก โดยเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกลุ่ม BRIC (บราซิล รัสเซีย จีน และอินเดีย) ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกลดลงจากการแย่งพื้นที่เพื่อนำไปพัฒนาอุตสาหกรรม และการปลูกพืชพลังงานทดแทน ตลอดจนสภาพอากาศแปรปรวนมากขึ้นจากปัญหาโลกร้อน

(2) ราคาน้ำมัน และการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเร็วและถาวร จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น ค่าปุ๋ย และค่าขนส่ง เป็นต้น และค่าเงินดอลลาร์ที่เสื่อมค่าลงส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้นทันที เนื่องจากเป็นสกุลเงินหลักในการซื้อขายในตลาดโลก

แนวโน้มระดับราคาสินค้าเกษตรในช่วงปี 2551-2560 จะปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2541-2550 โดยกลุ่มธัญญพืชจะปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด กล่าวคือ ข้าวสาลี ข้าวโพด และนมผงพร่องมันเนย ราคาปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 40-60 เนยเหลวและเมล็ดพืชน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 60 น้ำมันพืชปรับขึ้นมากกว่าร้อยละ 80 ราคาเนื้อหมูและเนื้อวัวจะปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 น้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 (รูปที่ 2)

สินค้าเกษตรมีโอกาสทางการตลาดสูงเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะสินค้าที่มีความต้องการสูง เช่น ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และ สินค้าอาหาร(อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่แช่แข็งและแปรรูป ผักและผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ควรมีการติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความชัดเจนของนโยบายพลังงานทดแทนของภาครัฐ เพราะจะมีผลโดยตรงต่อการวางแผนและจัดสรรพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางและอนาคตของธุรกิจภาคการเกษตรของประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น