“เราไม่คิดว่า กนง. จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในช่วงต้นปีหน้า จึงได้ปรับประมาณการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2551 ลงจากระดับ 5.5% เป็น 4.5% ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นขอบด้านล่างของช่วงตัวเลขประมาณการณ์ของสภาพัฒน์ฯ แต่คาดว่าจะเห็นสภาพัฒน์ฯปรับตัวเลขประมาณการณ์ดังกล่าวลงในอนาคต”
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำบทวิเคราะห์ถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยว่า เป็นไปตามที่บริษัทได้คาดการณ์ไว้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 1 วัน) อีก 0.25% เป็น 3.50% ซึ่งสิ่งนี้ได้ถูกคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางทั้งในตลาดพันธบัตร, ตลาดหุ้นและตลาดเงิน หลังจากที่ธปท.ได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนมากเกี่ยวกับเป้าหมายของธปท.ที่เปลี่ยนมาเป็นการต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ
หากเศรษฐกิจจะเติบโตได้ ต้องจัดการเงินเฟ้อเป็นลำดับแรก
คำประกาศของ กนง. ค่อนข้างชัดเจนและเน้นย้ำถึงสองครั้งว่าอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ, การบริโภคในประเทศ, การลงทุน รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกของไทยด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัวหากปัญหาเงินเฟ้อยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งนโยบายดังกล่าวมิใช่นโยบายการเงินในภาวะปกติที่ใช้เพื่อสร้างสมดุลของการเจริญเติบโตและต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ เราสามารถตีความได้ว่ากนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ซึ่งคาดว่าจะเป็นการประชุมในวันที่ 27 สิงหาคมนี้
อัตราดอกเบี้ยในระยะกลางและระยะยาวอาจไม่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสัญญาณชัดเจนจาก ธปท. แต่ดูเหมือนว่าความเห็นโดยรวมเมื่อเร็วๆนี้ต่างมองว่าอัตราดอกเบี้ยในระยะกลางถึงยาวอาจไม่สูงขึ้นมากเหมือนกับที่ได้คาดการณ์ไว้หนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ อันที่จริงแล้วส่วนปลายของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางถึงยาวได้แบนราบลงตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว โดยที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปต่างปรับตัวลงประมาณ 0.23%-0.51% โดยมีเหตุผลที่ชัดเจนมากคือ: ราคาน้ำมันและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลให้ “ความต้องการใช้ลดน้อยลง” และยังส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยด้วย นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวลงอย่างแรงในหลายๆ วันที่ผ่านมา ประการที่สองมีความกังวลกันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯไม่สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้มาก ณ สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯในขณะนี้และระบบการเงินที่อ่อนแอลงมาก
แบงก์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม
ขณะเดียวกัน บล.กิมเอ็ง เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ในเร็วๆนี้ แม้จะมีข้อเท็จจริงที่ว่าแรงกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบางส่วนได้ผ่อนคลายลงในระยะกลาง - ยาว จากการคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเป็นผลให้ความต้องการสินเชื่อชะลอตัวตาม
6มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
นักวิจารณ์ต่างตำหนิมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4.7 หมื่นล้านบาท ที่ประกาศออกมาวานก่อนนี้ โดยมองว่าจะไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก อย่างไรก็ดีเชื่อว่าสิ่งนี้ค่อนข้างสำคัญต่อธปท.และนโยบายการเงิน ซึ่งประชาชนกลุ่มคนยากจนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะได้รับการบรรเทาในระยะสั้น ด้วยมาตรการบรรเทาในครั้งนี้ ธปท. อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดในการต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อมากนัก
ทั้งนี้ยังคงประมาณการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล 1 วันอีก 0.5% เป็น 4.00% ในปีนี้ โดยก่อนหน้านี้ คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5% ในปีนี้ และอีก 0.25% ในปีหน้า โดยมองว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมกนง.วันที่ 27 สิงหาคมมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมกนง. วันที่ 8 ตุลาคม หรือวันที่ 3 ธันวาคม จะขึ้นอยู่กับระดับราคาน้ำมันในขณะนั้น,อัตราเงินเฟ้อและระดับคาดการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจ
โดยเราไม่คิดว่า กนง. จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในช่วงต้นปีหน้า จึงได้ปรับประมาณการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2551 ลงจากระดับ 5.5% เป็น 4.5% ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นขอบด้านล่างของช่วงตัวเลขประมาณการณ์ของสภาพัฒน์ฯ แต่คาดว่าจะเห็นสภาพัฒน์ฯปรับตัวเลขประมาณการณ์ดังกล่าวลงในอนาคต
อัตราเงินเฟ้อในระดับสองหลักจะยืดเยื้อไปจนถึงปี52
นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยและที่อื่นๆ ควรที่จะเตรียมรับมือกับข่าวร้ายที่จะไหลเข้ามาในตลาดในอนาคต เนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 143 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และบล.กิมเอ็งเองก็ได้รับคำเตือนจาก ธปท. เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสู่ระดับเลขสองหลักนับแต่เดือนนี้เป็นต้นไป และยืดเยื้อไปจนถึงช่วงต้นปีหน้า
ดังนั้นนักลงทุนไม่ควรคาดหวังที่จะเห็นฟองสบู่ของราคาน้ำมันแตกในเร็วๆนี้ หรือว่าจะเห็นแรงกดดันจากการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคผ่อนคลายลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยได้ปรับลดประมาณการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) สำหรับปี 2551 ลงจาก 5.5% เหลือ 4.5% และปรับประมาณการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปีขึ้นจาก 8.0% เป็น10.0%
บทสรุปคือครึ่งปีหลังจะเป็นช่วงที่ยากลำบากสำหรับนักลงทุนทุน และนักลงทุนควรเตรียมรับมือกับตลาดขาลง มันปลอดภัยกว่าที่จะแนะนำนักลงทุนปรับพอร์ตเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่สามารถรับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อได้ดี เช่น หุ้นกลุ่มพลังงาน หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ และหุ้นกลุ่มธนาคาร
เงินเฟ้อระดับสองหลักเริ่มตั้งแต่ก.ค.นี้
กระทรวงพาณิชย์ประกาศว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นเป็น 8.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (yoy) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน) ปรับตัวสู่ระดับ 3.6% ซึ่งมันไม่น่าแปลกใจเลยหากอัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับเลขสองหลัก รวมถึงต้นทุนพลังงานและอาหารในระดับสูงจะสะท้อนลงไปในราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิด เนื่องจากผู้ผลิต, ผู้ค้าส่งและค้าปลีกต่างแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นและไม่สามารถจะยืนราคาเดิมได้อีกแล้ว ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์เองได้ตระหนักถึงจุดนี้และอนุญาตให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้า ทั้งนี้ถ้าราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในช่วง 130-140 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เราคงจะได้เห็นดัชนีเงินเฟ้อในระดับเลขสองหลักในช่วงที่เหลือของปีนี้ไปจนถึงปี 2552
ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูงไม่ใช่ข่าวเลวร้ายที่สุด
มีสำนักคิดแห่งหนึ่งกล่าวไว้ว่าภาวะเงินเฟ้อที่ถูกผลักดันจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์อย่างรวดเร็วนั้น น่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อด้านต้นทุน มากกว่าปัญหาเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ พวกเขายืนยันว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อเลย แต่กลับเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนแก่ภาคธุรกิจมากขึ้นไปอีก หากสหรัฐฯไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยเหตุผลดังกล่าว ผลลัพธ์คือ ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีกและจะส่งผลลบต่อภาคการส่งออกซึ่งถือเป็นเครื่องจักรเพียงตัวเดียวที่ช่วยพยุงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย
นอกจากนี้เรายังเคยผ่านช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยแท้จริงเป็นลบโดยปราศจากปัญหาเศรษฐกิจขั้นรุนแรงมาแล้วก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามเราไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ทั้งหมด แม้มันจะมีเหตุผลที่พอรับฟังได้บ้างก็ตาม เราเห็นด้วยกับประเด็นสำคัญที่ว่าปัญหาเงินเฟ้อไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายที่สุด แต่ผลที่ตามมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลกต่างหากคือสิ่งที่เลวร้ายที่สุด อีกทั้งยังมีโอกาสหลีกเลี่ยงได้น้อยมาก
ที่มา : บล. กิมเอ็ง (ประเทศไทย)