xs
xsm
sm
md
lg

แดนมังกร ดัชนีเชื่อมั่นดิ่ง รอ..โอลิมปิกกระตุ้นเศรษฐกิจโต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อไม่นานนี้ “ไอเอ็นจี กรุ๊ป” สถาบันการเงินระดับโลก เปิดเผยผลการสำรวจภาวะการลงทุนประจำไตรมาส ซึ่งปรากฏว่า นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในการลงทุนในภูมิภาคเอเชียที่ปรับลดลง นำโดยประเทศจีน ตามด้วยประเทศใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในเอเชีย-แปซิฟิกลดลงไปอยู่ที่ระดับกลาง (neutral) เป็นครั้งแรก หลังจากเคยอยู่ในระดับดีมาโดยตลอดนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำรายงานการสำรวจความเชื่อมั่นในการลงทุนในไตรมาส 3 ปี 2550 เป็นต้นมา

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียโดยรวมมีการปรับลดลงติดต่อกัน 3 ไตรมาส โดยลดลงจาก 125 ในไตรมาส 1 ปี 2551 มาเป็น 109 ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ และสภาวะการเมืองในแต่ละประเทศ โดยก่อนหน้านี้ ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของเอเชียเท่ากับ 141 ในไตรมาส 3 ปี 2550 และลดลงเป็น 135 ในไตรมาส 4 ปี 2550
ทั้งนี้ การสำรวจภาวะการลงทุนไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด (ING Investor Dashboard) เป็นการสำรวจดัชนีการลงทุนประจำไตรมาสในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ยกเว้นญี่ปุ่น) เป็นรายแรก โดยเป็นการชี้วัดความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภูมิภาคนี้ทั้ง 13 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฮ่องกง จีน อินเดียอินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ส่วนดัชนีภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะรวมทุกตลาด ยกเว้นญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ พร้อมทั้งเสนอ ภาพรวมของตลาดการลงทุนและทัศนคติของนักลงทุน โดยสามารถใช้ดัชนีความเชื่อมั่นประจำไตรมาสของไอเอ็นจี กรุ๊ป ในการอ้างอิง

ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในจีนที่ลดลง คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นด้านการลงทุน ทั้งนี้จีนเป็นพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญของไทย ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก ดังนั้น นักลงทุนและผู้นำธุรกิจไทยจึงมีอิทธิพลต่อดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของจีน

จากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในการลงทุนในจีนลดลงจาก 136 ในไตรมาส 1 ปี 2551 มาอยู่ที่ 117 ในไตรมาส 2ที่ผ่านมา โดยดัชนีได้ลดลงจากระดับดีเป็นระดับปานกลางเป็นครั้งแรกแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและจีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในกรุงปักกิ่งเร็วๆ นี้ ซึ่งดัชนีการลงทุนที่ลดลงดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนจีนได้รับผลกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกและความกดดันต่างๆ ในตลาด เช่นกัน

นักลงทุนจีน 46% เชื่อว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ปี 2551 จะตกต่ำ เทียบกับเมื่อไตรมาส 1 ที่มีเพียง 41% ที่คิดว่า เศรษฐกิจจีนจะทรุดต่ำลงในไตรมาส 1 ปี 2551

นักลงทุนจีน 56% คิดว่า ผลตอบแทนการลงทุนในไตรมาส 2 ปี 2551 จะลดลง เทียบกับการสำรวจเมื่อไตรมาส 1 ที่มีเพียง 45% ที่เชื่อว่า ผลตอบแทนการลงทุนในไตรมาส 1 ปี 2551 จะประสบภาวะตกต่ำ

นักลงทุนจีน 35% เห็นว่า สถานะการเงินส่วนบุคคลของพวกเขาในไตรมาส 2 ปี 2551 จะลดลง เทียบกับการสำรวจเมื่อไตรมาส 1 ที่มีเพียง 15% ที่คิดว่า สถานะการเงินส่วนบุคคลของเขาจะตกต่ำในไตรมาส 1 ปี 2551

นอกจากนี้ ข้อมูลยังชี้ว่า นักลงทุนชาวจีน 87% เชื่อว่า เศรษฐกิจจีนจะดีขึ้นจากการที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และ 41% คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงหลังการเข่งขันโอลิมปิกสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2551 เช่นเดียวกับฮ่องกงซึ่งเป็น เจ้าภาพร่วมการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่มีดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยนักลงทุน 76% ใน ฮ่องกงเชื่อว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มดีขึ้นจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และ 49% คิดว่า เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงหลังจบการแข่งขันดังกล่าว

สำหรับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ผลการสำรวจของไอเอ็นจี พบว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีดัชนีความเชื่อมั่นลดลงมากที่สุด อันเป็นผลจากสภาวะตลาดของแต่ละประเทศ สถานการณ์ทางการเมือง และแรงกดดันจากภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจโลกโดยไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนลดลงมากที่สุด ขณะที่อินเดียลดลงเพียงเล็กน้อย

ขณะเดียวกัน นักลงทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 61% คาดว่า ภาวะเงินเฟ้อยังคงพุ่งสูงขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2551 และ 81% เชื่อว่า ภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนในไตรมาสต่อมา

ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติ (เอ็นบีเอส) เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ครึ่งปีแรกของจีนวิ่งช้าลง ชะลอตัวอยู่ที่ 10.4% โดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 ขยายตัวเพียง 10.1% ลดลงจากสถิติจีดีพีตลอดปี 2007 ซึ่งพุ่งแตะ 11.9% แต่อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวด้วยเลข 2 หลัก

หลี่ เสี่ยวเชา โฆษกของเอ็นบีเอส กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ ที่ถูกผลักดันจากปัญหาซัปพลายอาหารและเศรษฐกิจโลกนั้นกลายเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับจีน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลก โดยกล่าวว่า แรงกดดันจากราคาอาหารและวัตถุดิบยังคงพุ่งสูงต่อเนื่อง สืบเนื่องจากมีปัจจัยหลายประการจำกัดผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ สถานการณ์ด้านการเงินของทั่วโลกกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต และมีความผันผวนในการพัฒนาเศรษฐกิจโลก

แต่ หลี่ เสี่ยวเชา ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจของจีนนั้นยังสามารถรักษาเสถียรภาพและความเร็วในการขยายตัวได้ ส่วนที่เห็นจีดีพีจีนครึ่งปีแรกชะลอตัวลงนั้นเขาเชื่อว่า นี่อยู่ภายใต้การควบคุมและความคาดหมายของรัฐบาล

ขณะที่ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนคาดว่า จีดีพีจีนตลอดทั้งปี 2008 นั้นน่าจะขยายตัวที่ 10% ซึ่งยังคงสูงกว่าเป้าหมาย 8.0% ที่นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ตั้งเป้าไว้

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์หลายคนกล่าวว่า ตัวเลขจีดีพีข้างต้นนั้นสะท้อนให้เห็นว่า เหตุธรณีไหว 8.0 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมาในมณฑลเสฉวน กระทั่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนและทรัพย์สินกินบริเวณกว้างในแทบมณฑลตะวันตกเฉียงใต้ และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายถึง 88,000 คนนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 ตรงกันข้ามความพยายามเร่งก่อสร้างและฟื้นฟูเมืองที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว จะช่วยฉุดตัวเลขจีดีพีจีนให้โตในช่วงระยะสั้น ตามที่เชอร์แมน ชาน นักเศรษฐศาสตร์จากมูดี้กล่าว

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อของจีนนั้น ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ขยายตัวประมาณ 7.9% โดยราคาอาหารเพิ่มขึ้น 20.4% และอัตราเงินเฟ้อเฉพาะเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 7.1% ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติฯ แต่ก็ถือว่าชะลอตัวเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ 8.7% เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราที่สูงทำลายสถิติเงินเฟ้อตลอด 12 ปีที่ผ่านมาของจีน ด้านกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า การที่เงินเฟ้อชะลอตัวลงนั้น สืบเนื่องจากมาตรการคุมเข้มเศรษฐกิจ รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

อีกทั้ง ยังมีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของจีนนั้นจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งไปสู่เป้าเงินเฟ้อตลอดปี 4.8% ของรัฐบาลในที่สุด

ข้อมูลเพิ่มเติม

การสำรวจของไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด มีขึ้นเพื่อประเมินทัศนคติและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนในภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิก 13 ประเทศด้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นประจำทุกไตรมาส โดยในแต่ละตลาดที่ทำการสำรวจจะแบ่งเกณฑ์ค่าดัชนีไปตั้งแต่ 0 (ต่ำที่สุด) จนถึง 200 (ดีที่สุด)

การสำรวจดังกล่าว เป็นการสำรวจประจำไตรมาสรายแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในเขตภูมิภาคดังกล่าว(ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยได้นำดัชนีความเชื่อมั่นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมาปรับเป็นส่วนหนึ่งของ การสำรวจในแต่ละไตรมาสด้วยดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในภูมิภาคดังกล่าวมาจากค่ากลางของฐานใน 10 ตลาดใน ภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ไต้หวัน และไทย (ไม่รวมญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์)

โดยการสัมภาษณ์โดยตรงและออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่างนักลงทุนรายใหญ่ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 13 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,313 คน กลุ่มตัวอย่างมีอายุ 30 ปีหรือสูงกว่า มีสินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 100,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือมากกว่า ยกเว้น อินโดนีเซีย (สินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 56,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือมากกว่านั้น) และ ฟิลิปปินส์(สินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 100,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือรายได้ต่อเดือน 250,000 เปโซหรือมากกว่านั้น) โดยผลสำรวจจัดทำโดยบริษัทวิจัยอิสระ ทีเอ็นเอส (TNS)
กำลังโหลดความคิดเห็น