xs
xsm
sm
md
lg

ชี้วงจรเศรษฐกิจจีนก้าวสู่“ขาลง” ปัญหาเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อรุมเร้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอการเติบโตลง
ไชน่านิวส์ – ผู้เชี่ยวชาญชี้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนได้เลยจุด “พีค” เมื่อปี 2007 มาแล้ว ดังนั้นในช่วงจากนี้ไปจะเป็น “ขาลง” ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอตัวลงในปีต่อๆไป นอกจากนั้นจีนยังจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเงินเฟ้อทั้งจากในและต่างประเทศที่เข้ามา

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. กรมสถิติแห่งชาติจีนได้ประกาศว่าดัชนีเศรษฐกิจของจีนในเดือนเม.ย.อยู่ที่ 110.7 ต่ำกว่าเดือนมี.ค.ที่อยู่ที่ 113.3 ทำให้หลายฝ่ายเริ่มที่จะมองว่า นี่เป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่าจีนกำลังจะพ้นจากความเสี่ยงที่เรียกว่าเศรษฐกิจร้อนแรงเกินหรือไม่?

ต่อประเด็นดังกล่าว นิตยสารไชน่า อิโคโนมิก วีกลี่ ได้ทำการสัมภาษณ์พิเศษนายสี่ว์ เสี่ยนชุนรองอธิบดีกรมสถิติแห่งชาติจีน โดยคำตอบที่ได้รับก็คือ “เศรษฐกิจของประเทศจีนกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาการปรับตัว ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจีนจะอยู่ในสภาพของการที่อัตราเติบโตค่อยๆชะลอตัวลง”

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหักเห

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ จุดหักเหจะเกิดขึ้นเมื่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเลยจุดสูงสุด หรือไม่ก็จุดต่ำสุด ซึ่งการจะวัดว่าเป็นจุดหักเหหรือไม่ ประเทศนั้นๆจะต้องไม่อยู่ในเงื่อนไข 2 ประการกล่าวคือต้องไม่ใช่อยู่ในภาวะที่อัตราเติบทางเศรษฐกิจปกติผันผวนอย่างรุนแรง หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจพุ่งขึ้นหรือดิ่งลงอย่างฮวบฮาบ

หลายปีที่ผ่านมา ทฤษฎีที่ว่าเศรษฐกิจจีนเข้าสู่จุดหักเหหรือไม่ได้ถูกถกเถียงในแวดวงวิชาการกันมาตลอด สี่ว์ เสี่ยนชุนผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในกรมสถิติแห่งชาติ สำนักงานคำนวณเศรษฐกิจประชาชน ซึ่งมีหน้าที่ในการคำนวณผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเป็นตัวสะท้อนเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาได้แสดงทัศนะต่อกรณีดังกล่าวว่า

“จากการวิเคราะห์ขั้นต้น ผมมองว่าในปี 2007 ที่ผ่านมานับเป็นจุดสูงสุดของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน และนับจากปีนี้เป็นต้นไป อัตราของการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะค่อยๆชะลอความเร็วลง”

สี่ว์ยังได้วิเคราะห์ต่อไปว่า “เมื่อมองจากอัตราการเติบโตของจีดีพีโลกที่ผ่านมา การที่มีประเทศหรือภูมิภาคใดมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า 10% ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีนั้นเป็นเรื่องที่หาได้ยากมาก เท่าที่มอง ผู้ที่สามารถสร้างสถิตินี้ได้ก็มีเพียงญี่ปุ่น สิงคโปร์และฮ่องกงเท่านั้นโดยญี่ปุ่นนั้นต่อเนื่อง 5 ปีในช่วงปี 1966-1970 ส่วนฮ่องกงก็มีเศรษฐกิจเติบโตสองหลักตั้งแต่ปี 1961-1965

สี่ว์ยังมองว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนย่อมไม่อาจพ้นไปจากกฎเกณฑ์ของโลก “ในปี 1192-1996 เศรษฐกิจจีนเคยเติบโตในอัตรา 2 หลักต่อเนื่องกันมา 5 ปี ซึ่งถือเป็นรอบขาขึ้นของเศรษฐกิจจีนที่เติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 12.4% และวงจรเศรษฐกิจเช่นนั้นได้เกิดขึ้นอีกในช่วงปี 2003-2007 โดยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตรา 2 หลักต่อเนื่องอีก 5 ปี เฉลี่ยปีละ 12.8% ตัวเลขการเติบโตเช่นนี้ไม่สามารถที่จะคงอยู่ยาวนานเกินไปได้ ดังนั้นเมื่อผ่าน “จุดพีค” ไปแล้ว ก็จะเข้าสู่วงจรของขาลง

ในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานระดับโลกมากมายที่ได้ประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2008 ก็คล้ายว่าจะมองว่าปี 2007 เป็นจุดสูงสุดของจีนเช่นกัน ยกอย่างเช่นธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้คาดการณ์ว่าจีดีพีจีนในปีนี้เติบโตในอัตรา 9.6% ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ประเมินว่าจะเติบโต 9.3% และเอเปกได้ประเมินว่าจะเติบโต 10.7% ทั้งที่จีดีพีของจีนในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 11.9% ทำให้เห็นได้ว่าสถาบันต่างๆในโลกต่างก็มองตรงกัน

หลังจุดหักเห “เงินเฟ้อไม่หยุดพอง”

นายเหลียง เสี่ยวหมินนักเศรษฐศาสตร์ได้ระบุในงานสัมมนาแห่งหนึ่งที่เซี่ยงไฮ้ว่า “เศรษฐกิจจีนคงยากจะหลีกเลี่ยงจุดหักเหในระยะ1-2 ปีได้ ในระยะสั้นอาจจะมองว่าเป็นภัยที่ร้ายแรง ทว่าในระยะยาวแล้วการเจ็บปวดนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจจีนพัฒนาไปได้อย่างมั่นคง”

ในสายตาของสี่ว์ เสี่ยนชุนก็มองว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนแม้จะชะลอตัวลง แต่คงสามารถหลีกเลี่ยงการตกวูบได้ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990จนถึงปัจจุบัน วงจรเศรษฐกิจของจีนได้หมุนมา 2 รอบ โดยในรอบแรกคือช่วงปี 1990-1999 ซึ่งหลังจากที่ถึงจุดพีคในปี 1996 แล้ว ในปี 1999 จีดีพีของจีนเติบโตอยู่ต่ำสุดที่ 7.6% ในรอบที่ 2 เริ่มตั้งแต่ปี 2003 และมีจุดพีคอยู่ที่ปี 2007 และแม้ว่าวงจรในรอบนี้จะยังไม่จบ แต่สิ่งที่สามารถตัดสินได้ก็คือ ในรอบนี้การผันผวนจะน้อยกว่าในรอบที่ผ่านมา และหากไม่เกิดเหตุสุดวิสัยอื่น การชะลอตัวในรอบนี้คงจะเริ่มช้าลง และเบากว่าในรอบที่แล้ว”

อย่างไรก็ตามเหลียง เสี่ยวหมินได้ระบุว่า อย่าได้ประมาทว่าเรื่องคำเตือนที่อาจจะภัยทางเศรษฐกิจเป็นแค่คำที่ไร้สาระ เพราะนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากได้แสดงความเห็นแล้วว่า ปัจจุบันการที่ราคาสินค้าและเงินเฟ้อของจีนยังอยู่ในระดับสูงเป็นสิ่งที่น่ากังวล ถ้าหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวในขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ก็จะเกิดการขัดแย้งของเศรษฐกิจภายในเกิดขึ้น”

เมื่อต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา นายหลิว ตวนหัวหน้าสาขาบริหารจัดการเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยเหรินหมินก็ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ที่จริงจุดหักเหของเศรษฐกิจจีนได้เริ่มต้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนแล้ว ดังนั้นจีนจะต้องป้องกันปัญหาเงินเฟ้อ และตามทฤษฎีแล้วอัตราการขยายตัวทาเศรษฐกิจของจีนคงจะไม่เกิน 9%”

“ปัญหาเงินเฟ้อในปีนี้นับว่าหนักหน่วงอย่างยิ่ง แต่เดิมคาดการณ์กันไว้ว่าในไตรมาสที่ 2 จะทยอยลดลง ทว่าเมื่อมองจากปัจจุบัน จุดที่จะลดลงน่าจะยืดออกไปอีกมาก โดยเฉพาะหลังจากเกินแผ่นดินไหวที่เสฉวน อาจจะส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าต้องรออีกระยะจึงจะปรับลด” สี่ว์ระบุ

ปรับนโยบายการเงิน

“ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาเคยระบุว่า จะต้องจับตาสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจต่างประเทศให้ดี แล้วนำมาปรับจังหวะในการควบคุมเศรษฐกิจระดับมหภาคของจีนให้ตรงจุดและเหมาะสม นี่คือแนวทางการควบคุมเศรษฐกิจในช่วงต่อไป” สี่ว์กล่าว

ปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญหน้ากับผลกระทบทางด้านลบจากทั่วโลก ด้านหนึ่งคือปัญหาเงินเฟ้อของโลก ตามที่เวิลด์แบงก์ได้เปิดเผย เงินเฟ้อในโลกได้เพิ่มขึ้นจาก 3.9% ในเดือนม.ค.เป็น 4.1% ในเดือนมี.ค. โดยประเทศกำลังพัฒนามีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจาก 7.6% มาเป็น 8.4% ขณะที่อีกด้านหนึ่งอัตราการเติบโตทางของการค้าระหว่างประเทศในโลกลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในปีนี้ลดลงจาก 5.5% ในปีที่แล้วเหลือ 4.5%

สี่ว์มองว่า ปัญหาที่ซับซ้อนและมากมายจากนานาชาตินี้ ได้ทำให้การควบคุมเศรษฐกิจระดับมหภาคของจีนมีความยากมากขึ้น ในขณะที่นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจมหภาคท่านหนึ่งได้ระบุว่า “ปัญหาที่เข้ามากระทบมีหลายอย่าง แต่ปัญหาเรื่องซับไพรม์เป็นเรื่องของนอกประเทศ การที่เศรษฐกิจเป็นขาลงก็เป็นไปตามวงจรทางเศรษฐกิจ ดังนั้นสิ่งที่ต้องรับมือก็คือการปรับนโยบายการควบคุมทางการเงินอย่างเข้มงวด ซึ่งอาจจะช่วยยับยั้งไม่ให้เศรษฐกิจนั้นลง “แรง” จนเกินไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น