xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นกระทิงขวิดหุ้นไทยพุ่ง หลังภาวะหมีจำศีล..เริ่มตื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"อาจกล่าวได้ว่าตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะหมีแล้วหลังจากที่ดัชนีลดลงไปมากกว่า 20% ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับตลาดหุ้นในภูมิภาค อันที่จริงเมื่อย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่าประเทศไทยเคยประสบกับภาวะหมีมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ราคาน้ำมัน ปัญหาสถาบันการเงิน และการลอยตัวค่าเงินบาท อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าภาวะหมีมักตามมาด้วยภาวะกระทิงเสมอ ทำให้มองว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน"

เมื่อวันพุธที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 721.13 จุด โดยปิดลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี (เมื่อเทียบจากระดับปิดที่ 719.14 จุด ณ วันที่ 25 พ.ค. 50) หรือขยับลงร้อยละ 2.95 จากระดับปิดที่ 473.03 จุด ในสัปดาห์ก่อน และร่วงลงร้อยละ 15.96 จากสิ้นปีก่อน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา การขายสุทธิต่อเนื่องของนักลงทุนดูเหมือนจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หุ้นไทยร่วงลงติดต่อกันหลายวัน ขณะที่ปริมาณการซื้อขายโดยรวมของตลาดก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทยยังมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาค ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของภาวะหมีรอบใหม่ โดยดัชนี SET ปรับลดลงจากระดับสูงสุดในเดือนต.ค. 50 จนถึงปัจจุบันร้อยละ 20.52

โดยที่ผ่านมา ดัชนี SET เข้าสู่ภาวะหมี (Bear Market) แล้ว โดยล่าสุดดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงเกิน 20% เพราะในช่วงที่ผ่านมาบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การเมืองในประเทศ ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และแนวโน้มของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งทิศทางของอัตราดอกเบี้ย ที่อาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากความกังวลดังกล่าว ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิไปรวมแล้วกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

แต่ไทยไม่ใช่ตลาดเดียวที่เข้าสู่ภาวะหมี ทั้งนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์คก็ได้เข้าสู่ภาวะดังกล่าวไปก่อนหน้านี้ โดยดัชนี DJIA ปรับลดลงไปแล้ว 20.82% จากจุดสูงสุดในช่วงต้นเดือนต.ค. 50 เนื่องมาจากปัญหาวิกฤตสินเชื่อซับไพร์ม (Subprime Mortgage Loan) ซึ่งปัญหาได้กระทบเป็นวงกว้างต่อหลายอุตสาหกรรมหลักในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ ค้าปลีก การก่อสร้าง รถยนต์ และโบรกเกอร์ ตลอดจนราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นแรงได้กดดันให้เกิดเงินเฟ้อไปทั่วโลก ทำให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ดัชนี S&P 500 ก็เข้าสู่ภาวะหมีแล้วเหมือนกัน โดยดัชนีปิดที่ 1,244.69 จุด กลายเป็นสถิติที่ตกต่ำมากที่สุดในรอบ 2 ปี และทรุดลงกว่า 20% จากจุดสูงสุดในเดือนต.ค. 50 ซึ่งเป็นการเกิดภาวะหมีเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่ปี 2545

นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความวิตกว่าเศรษฐโลกอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อสูง (Stagflation) ซึ่งความกังวลดังกล่าว ลุกลามไปยังไปตลาดหุ้นต่างๆ ในภูมิภาค ทำให้นักลงทุนไม่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจึงปรับพอร์ตการลงทุนโดยลดการถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น หุ้น และหันไปเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงกว่า เช่น พันธบัตรรัฐบาล ทำให้ในภูมิภาคเองก็มีหลายตลาดที่เข้าสู่ภาวะหมีเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ดัชนีหุ้นเวียดนามที่ทรุดตัวลงมากถึง 65% จากจุดสูงสุดในเดือน ก.พ. 50 ขณะที่ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ กระดาน-เอ ร่วงลงประมาณ 55% จากจุดสูงสุดในเดือน ต.ค. 50 รวมทั้ง ดัชนีหุ้นสิงคโปร์เองก็เคยเจอภาวะหมีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยร่วงลงประมาณ 21% จากจุดสูงสุดในเดือนต.ค. 50 หลังจากนั้นดัชนีก็ฟื้นตัวขึ้นในช่วงสั้นๆ โดยใช้เวลาเพียง 3 เดือน ดัชนีปรับตัวขึ้นถึง 254.36 จุด จาก 2,981.75 จุดในเดือนม.ค. เป็น 3,236.10 จุดในเดือนเม.ย. 51 ก่อนจะปรับลดลงอีกครั้งตามทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาค

อดีตตลาดหุ้นไทยเคยเข้าสู่ช่วงที่เกือบจะเป็นภาวะหมีมาแล้วในช่วงเดือนส.ค. 47 โดยดัชนี SET ปรับลดลงจากสูงสุดในเดือนธ.ค. 46 ประมาณ 19% ซึ่งตอนนั้นปัจจัยถ่วงตลาดสอดคล้องกับปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหมีในปัจจุบัน ที่มาจากราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในช่วงดังกล่าวตลาดหุ้นยังได้รับแรงกดดันจากการอ่อนค่าของเงินบาท และมาตรการวางเงินประกัน 10% สำหรับการซื้อขายหุ้นด้วยเงินสด อย่างไรก็ตาม ต่อมาดัชนี SET สามารถฟื้นตัวได้หลังจากนั้น โดยได้รับอานิสงส์จากการประกาศเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจากเครดิต สวิส เฟริร์สท์ บอสตัน (CSFB) ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจรายใหญ่ และจากผลการเลือกตั้งที่เป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยรัฐบาลชุดเดิมชนะการเลือกตั้ง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จากการได้คะแนนเสียงจำนวนมาก ส่งผลให้มีแรงซื้อหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการสานต่อนโยบายเดิมโดยเฉพาะโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังเคยเผชิญกับภาวะหมีมาแล้วหลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่น ภาวะ Super Bear ที่เป็นภาวะหมีร้ายแรง ครั้งแรกในปี 2522 ที่ดัชนีติดลบไป 42% เพราะตลาดหุ้นมีปัญหาจากวิกฤติของบริษัทเงินทุน โดยเฉพาะกรณีราชาเงินทุนซึ่งเป็นเกิดขึ้นจากการปั่นหุ้น และก่อให้เกิดปัญหาสภาพคล่องตามมา อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนั้นไม่มากนัก เนื่องจากจำนวนนักลงทุนยังมีไม่มาก นอกจากนี้ การที่ดัชนีตกลงมามากส่วนหนึ่งยังมาจากการที่ตลาดหุ้นไทยเฟื่องฟูมากในช่วงก่อนหน้านั้น และครั้งถัดมา ที่หุ้นตกหนักมากที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 หลังปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว โดยดัชนีหุ้นไทยร่วงลงถึง 55% จาก 832 จุด เหลือเพียง 373 จุด

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าภาวะหมีมักจะตามมาด้วยภาวะกระทิง (Bull Market)เสมอ แต่ช่วงระยะเวลาในการเกิดภาวะกระทิงอาจเป็นช่วงสั้นๆ หรือยาวนานหลายเดือนนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหนุนต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าภาวะหมีของดัชนี SET ในรอบนี้อาจจะเกิดภาวะกระทิงตามมาได้ หากสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ทำให้ยังเป็นโอกาสดีที่นักลงทุนจะช้อนซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และลงทุนในช่วงสั้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงต้องระมัดระวังโดยเฉพาะในเรื่องของจังหวะเวลาในการเข้าซื้อขาย

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของตลาดจะยั่งยืนเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหนุนหลายปัจจัยว่าจะมีความชัดเจนและต่อเนื่องได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพทางการเมือง การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงการปรับตัวของตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค

"อาจกล่าวได้ว่าตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะหมีแล้วหลังจากที่ดัชนีลดลงไปมากกว่า 20% ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับตลาดหุ้นในภูมิภาค อันที่จริงเมื่อย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่าประเทศไทยเคยประสบกับภาวะหมีมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ราคาน้ำมัน ปัญหาสถาบันการเงิน และการลอยตัวค่าเงินบาท อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าภาวะหมีมักตามมาด้วยภาวะกระทิงเสมอ ทำให้มองว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะหากปัจจัยลบหลักอย่างปัญหาการเมืองคลี่คลายลง แต่การฟื้นตัวครั้งนี้จะใช้เวลายาวนานแค่ไหน ยังขึ้นกับปัจจัยสำคัญต่างๆ อันได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งแนวโน้มราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ย"

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น