xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยกลางวิกฤต"แฮมเบอร์เกอร์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เศรษฐกิจสหรัฐกับผลกระทบของตลาดหุ้นทั่วโลกดังที่เป็นข่าวอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่มีใครรู้ว่าจะสิ้นสุดหรือจบลงในเวลาไหน เนื่องจากปัญหาที่สร้างผลกระทบครั้งนี้สะสมกันมาอย่างยาวนาน จนบางคนมองว่าอาจต้องใช้เวลาอีกมากกว่าจะสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้

มองกันว่า ณ วันนี้ เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย(Recession) อย่างจริงจัง จากปัญหาสภาพคล่องภายใน และถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะออกมาตรการฉุกเฉินด้วยการลดดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำแล้ว ก็ยังไม่สามารถควบคุมความรุนแรงของปัญหานี้ได้

การที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายของปัญหาวิกฤติสินเชื่อในสหรัฐฯได้อย่างแน่ชัดนั้น กลายเป็นประเด็นที่กดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนโลกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง ทั้งจาก ตัวเลขข้อมูลทางเศรษฐกิจต่างๆของสหรัฐฯที่ทยอยรายงานออกมา และปัญหาซับไพรม์

โดยศูนย์วิจัย กสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย และมีความเป็นไปได้ที่ปัญหาของเศรษฐกิจสหรัฐฯในรอบนี้อาจจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนานกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับรอบก่อนหน้าในช่วงวิกฤตฟองสบู่ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกล้วนได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้ง ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนาม ดัชนีตลาดหุ้นจีนและอินเดีย ต่างเผชิญกับแรงขายทำกำไรส่งผลให้การปรับตัวของดัชนีจากสิ้นปีก่อนจนถึงวันที่ 20 มีนาคมนั้น ลดลงไปถึงร้อยละ 39 ร้อยละ 27.7 และร้อยละ 26 ตามลำดับ ส่วนดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงไปร้อยละ 7 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับดัชนี DJIA ที่ลดลงไปร้อยละ 6.8

แต่ยังมีการคาดกันว่าอย่งน้อยตลาดหุ้นสหรัฐฯอาจจะมีการฟื้นตัวขึ้นได้ก่อนการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริง โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายของเฟดอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และการออกมาตรการต่างๆในการแก้ปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องในตลาดการเงิน ตลอดจน แรงซื้อที่คาดว่าจะกลับเข้ามาในบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดีหลังจากที่ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้นร่วงลงไปมากกว่ามูลค่าที่

ภาวะทดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐนอกจากจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกแล้ว ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้เช่นกัน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัย กสิกรไทย มองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่เข้าสู่ช่วงภาวะถดถอย และการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ จะทำให้นักลงทุนมีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากการรายงานตัวเลขในภาคเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯยังคงออกมาย่ำแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้อย่างต่อเนื่อง ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการขาดแคลนสภาพคล่องในสถาบันการเงินและกองทุนต่างๆที่รุนแรงมากขึ้นจะส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง และลดการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ต่างๆ ได้เช่นกัน

แต่นอกเหนือจากผลกระทบทางลบจากการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐแล้ว ศูยน์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาดหุ้นบ้านเรายังมีปัจจัยบวกที่น่าจะส่งผลดีมากกว่า ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวอยู่ในระดับที่ดีได้ในปีนี้ โดยปัจจัยบวกที่ว่าจะประกอบไปด้วย ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคและผู้ลงทุน โดยการที่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาล และการยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ของธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะส่งผลบวกในเชิงจิตวิทยาต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้

ขณะที่ ความคาดหวังเชิงบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ สืบเนื่องจากการออกมาตรการต่างๆในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ต่างๆของภาครัฐ รวมถึง การออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่ามาตรการเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนแนวโน้มผลกำไรของหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุปสงค์ในประเทศ เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และนิคมอุตสาหกรรม

นอกจากนั้น มาตรการทางภาษีของรัฐบาลมีบางส่วนที่เป็นการสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน น่าจะสามารถจูงใจให้มีการเข้าบริษัทต่างๆ เข้าจดทะเบียนเพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นไทย

ปัจจัยหนุนอีกประการ ได้แก่ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ คาดว่าเฟดจะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงได้อีกในช่วงที่ยังเหลือของปี หากธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเช่นเดียวกัน ย่อมจะเป็นปัจจัยที่จูงใจให้เกิดการไหลเข้าของเงินลงทุนสู่ตลาดทุนไทยเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น อันเป็นการสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ

มองกันตามสถานการณ์แล้ว ข้อมูลที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยนำมาวิเคราะห์น่าจะบอกแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐ และผลกระทบหลังจากนี้ได้ ซึ่งประเทศไทยเองได้รับผลกระทบมาพอสมควรจากปัญหานี้ แต่เมื่อมองปัจจัยบวกที่คาดว่าจะทำให้ตลาดทุนบ้านเราเติบโตได้ทามกลางวิกฤตครั้งนี้ยังมีเช่นกัน โดยหัวใจสำคัญคือการดำเนินนโยบายของรัฐ และความชัดเจนทางการเมือง ส่วนจะทำได้มากน้อยขนาดไหน คงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าจะพิสูจน์ฝีมือของตนได้ดีมากน้อยขนาดไหนนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น