xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่! โอกาสบนความผันผวน...เสี่ยงได้หรือควรหลีกเลี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากพูดถึง การลงทุนในหุ้นของกลุ่มประเทศ Emerging Markets หรือที่คุ้นหูกันในชื่อตลาดเกิดใหม่แล้ว...เชื่อว่าหลายคนยังให้คำตอบของตัวเองไม่ได้ว่า น่าลงทุนหรือน่าเสี่ยงหรือไม่?...สาเหตุที่มีคำถามเหล่านี้ เพราะผู้ลงทุนยังยึดติดกับภาพความผันผวนของตลาดหุ้นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่สามารถลบล้างด้วยผลตอบแทนที่สูงอย่างน่าสนใจ หากเทียบกับกับลงทุนในตลาดอื่นๆ

และผลตอบแทนที่น่าสนใจนี้เอง ทำให้บริษัทจัดการกองทุนหลายแห่ง ออกกองทุนต่างประเทศที่ลงทุนในหุ้นของประเทศเกิดใหม่เสนอเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนมากขึ้น ซึ่งลักษณะของกองทุนเองก็ค่อนข้างมีความหลากหลาย บ้างก็แยกการลงทุนออกเป็นกลุ่มประเทศ บ้างก็แยกออกเป็นภูมิภาค และอีกหลายกองทุน ที่เลือกลงทุนในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกเพื่อกระจายความเสี่ยงให้ผู้ลงทุน...และเพื่อให้ผู้ลงทุนเห็นภาพความเป็นไปของตลาดเกิดใหม่มากขึ้น "ผู้จัดการรายวัน" ขอนำมุมมองของกูรูจาก "อเบอร์ดีน" "แมนูไลฟ์" และ "เอวายเอฟ" มาเป็นข้อมูล ต่อด้วยข้อมูลกองทุนที่ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ที่มีในปัจจุบันว่ามีกองทุนไหนน่าสนใจบ้าง...

3-5 ปีข้างหน้า ตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกเติบโตสูง
คริสโตเฟอร์ หว่อง ผู้จัดการฝ่ายการลงทุน อเบอร์ดีน แอสเซท เมเนเจอร์ส เอเชีย ลิมิเต็ด ให้มุมมองว่า การลงทุนในหุ้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกทั้งในเอเชีย ยุโรปตะวันออก และลาตินอเมริกา ถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะประเทศตลาดเกิดใหม่มีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แข็งแกร่งโดยในปี 2551 นี้ คาดว่าจะเติบโต 8% ในขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง

ขณะเดียวกัน การเติบโตของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังถูกประเมินไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง หากดูสัดส่วนจีดีพีของกลุ่มตลาดเกิดใหม่แล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของเศรษฐกิจโลก แต่มีน้ำหนักในการคำนวณดัชนี MSCI AC World เพียง 8% เท่านั้น ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานนี้อาจจะสะท้อนภาพในอดีตของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ แต่ยังไม่แสดงถึงแนวโน้มในอนาคตของกลุ่มประเทศเหล่านี้ ซึ่งมีโอกาสจะเติบโตขึ้นได้อีกมาก

ทั้งนี้ การที่ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา จึงถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะเข้าไปลงทุน เพราะถ้ามองจากพื้นฐานราคาที่ปรับตัวลงมาทำให้ความเสี่ยงลดลงเมื่อเทียบกับโอกาสในการเติบโตในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ ถือว่าน่าสนใจ

เขากล่าวว่า ในส่วนของเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ทั่วโลกนั้น คาดว่าจะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจากปี 2006 ที่มีสัดส่วนประมาณ 22,384.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 40,818.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2007 และคาดว่าในปีนี้ จะยังคงมีเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่อย่าง แม้ว่าตัวเลขอาจจะลดลงบ้างเล็กน้อยก็ตาม

สำหรับการเคลื่อนไหวของกระแสเงินไหล (Fund Flow) ในโลกที่ไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่นั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี2003 แล้ว ดังนั้นนักลงทุนกลุ่มหนึ่งก็จะมีกำไรจากการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ไปพอสมควรแล้ว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในสหรัฐหรือยุโรปจากเรื่องซับไพร์มซึ่งทำให้เขามีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหา เงินลงทุนบางส่วนก็จะถูกขายทำกำไรออกมาแต่ก็เป็นการขายทำกำไรเพื่อนำเงินลงทุนกลับไปมากกว่าเพราะเขามีต้นทุนการลงทุนที่ค่อนข้างต่ำ นี่อาจจะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนที่จะไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ไปบ้าง

“แม้ว่านักลงทุนกลุ่มหนึ่งก็จะมีกำไรจากการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ไปพอสมควร แต่นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่ง ก็ต้องมองหาโอกาสการลงทุนอยู่ เช่น นักลงทุนจากตะวันออกกลางที่มีความมั่งคั่งขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น เมื่อไม่รู้ว่าจะไปลงทุนที่ไหน โอกาสหนึ่งที่เขาจะเข้ามาลงทุนก็คือกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะทำให้แนวโน้มของเงินทุนไหลเข้าในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในระยะยาวยังคงเป็นบวกอยู่” คริสโตเฟอร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่า 20% ต่อปี ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง กลุ่มประเทศเหล่านี้ย่อมได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนอาจจะปรับตัวลดลงจากต้นทุนที่แพงขึ้น แต่ตัวเลขการเติบโตของกำไรก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง และในจังหวะที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงมา จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทเหล่านี้จะได้มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงการบริหารให้เข้ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถึงจุดนั้นเมื่อการบริหารเริ่มนิ่งเราจะเห็นการเติบโตของกำไรที่ดีขึ้นในอนาคต

ยุโรปตะวันออก P/E ต่ำน่าลงทุน
อลัน แคม กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า การลงทุนในหุ้นของประเทศตลาดเกิดใหม่ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ยังมีความน่าสนใจค่อนข้างมาก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงจากผลกระทบของปัญหาซับไพรม์ เห็นได้จาก P/E ของหุ้นในกลุ่มประเทศดังกล่าวขยับลงมาอยู่ที่ระดับ 6-8 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองที่เกิดขึ้นกับประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีมีบทบาทต่อการเติบโตของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก มองว่าเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น ประกอบกับพรรคการเมืองที่เข้ามาก็ยังเป็นพรรคการเมืองเดียวกัน

ส่วนภาพรวมของการลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ (อีเมอร์จิ้งมาร์เกต) ยังมองว่ามีความน่าสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งตลาดหุ้นจีนเองมีนักวิเคราะห์ประเมินว่ายังมีโอกาสเติบโตได้ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า แม้ในช่วงที่ผ่านมาถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมาจะขยายตัวไปแล้วกว่า 300% ก็ตาม

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศเกิดใหม่หลายประเทศ ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกามากนัก เพราะปัจจุบันกลุ่มประเทศเหล่านี้ลดการพึ่งพาสหรัฐมากขึ้น เช่น จีนที่มีการอัตราการส่งออกไปสหรัฐเพียง 22% เท่านั้น โดยนอกเหนือจากนั้นเป็นการส่งออกไปกลุ่มประเทศยุโรป และประเทศเอเชียด้วยกัน ในขณะที่อินเดียเองก็มีการส่งออกไปสหรัฐเพียง 30% เท่านั้น

อาเซียน 6 ประเทศไม่น้อยหน้าใคร
ฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด กล่าวว่า เราเล็งเห็นศักยภาพการเติบโตของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือเป็นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่น่าสนใจอีกหนึ่งภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า GDP จะเติบโตสูงถึง 9% ในปี 2008 ซึ่งเวียดนามซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตโดยรวมสูงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและยังคาดว่าจะเติบโตในระดับเกิน 6% ขึ้นไปในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จากการวางโครงสร้างพื้นฐานและการเติบโตในภาคการลงทุนโดยตรงจากทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ประเทศสิงคโปร์ที่บริษัทมีการเติบโตกำไรมั่นคง รวมถึงโอกาสการเติบโตในโครงสร้างพื้นฐาน ภาคพลังงาน supply chain และภาคการบริโภคอีกด้วย

ในขณะเดียวกัน ประเทศมาเลเซียเอง ก็มีโอกาสสำหรับการลงทุนแบบ buttom-up สำหรับบริษัทที่มีการปรับโครงสร้างภาคการ ก่อสร้าง soft commodities และ M&A play ประเทศอินโดนีเซียโดยมีโอกาสการลงทุนในภาค soft commodities และโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ฟิลิปปินส์เอง ยังมีทรัพยากรณ์ธรรมชาติค่อนข้างมากที่สามารถนำมาพัฒนาประเทศในอนาคตอันใกล้ข้างหน้า จากการที่ราคา commodity มีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่ขาดไม่ได้คือ ประเทศไทย ที่เรามองในเเง่ valuations ยังเป็นโอกาสในการเลือกลงทุนแบบ buttom-upนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการลงทุนในขณะนี้ อาจจะดูไม่สดใสนักในระยะสั้น แต่ถ้าหากนักลงทุนที่มีประสบการณ์ในการลงทุนในตลาดหุ้นมายาวนาน ก็จะเห็นว่าในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นมีการปรับตัวลดต่ำลงอย่างมาก แต่ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวนั้นยังคงมีแนวโน้มที่จะยังเติบโตในระดับที่มั่นคงและต่อเนื่องได้อยู่ การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นก็จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ลงทุนระยะยาวในการที่จะได้เลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่ดีในราคาถูก ดังนั้นการปรับตัวลดลงของหลักทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียนตั้งแต่ต้นปี 2551 ที่ผ่านมานี้นั้น น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการที่ผู้ลงทุนจะหันมาสนใจการลงทุนในกองทุนที่เน้นการลงทุนในภูมิภาคเอซียนนี้

มีกองทุนไหนให้เลือกบ้าง?
- บลจ.อเบอร์ดีน เตรียมเสนอขายกองทุนเปิดอเบอร์ดีน โกลบอล อีเมอร์จิ้ง โกรท ฟันด์(ABGEM) กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ที่จะลงทุนผ่านหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดอเบอร์ดีน โกลบอล อีเมอร์จิ้ง มาร์เกต ฟันด์ ในต่างประเทศ โดยกองทุนหลักดังกล่าว มีนโยบายลงทุนในหุ้นของประเทศเกิดใหม่ทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรปตะวันออก และลาตินอเมริกา รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่มีอัตราการเติบโตที่ดีในระยะยาว ทั้งนี้ กองทุนเปิดอเบอร์ดีน โกลบอล อีเมอร์จิ้ง โกรท ฟันด์ จะเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 17-31 มีนาคมนี้

- บลจ.เอวายเอฟ เตรียมเสนอขายกองทุนเปิดอยุธยา อาเซียน เวียดนาม โฟกัส ซึ่งเป็นกองทุนหุ้นที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ในกองทุน CAAM Funds - ASEAN New Markets โดยมี Credit Agricole Asset Management (CAAM) เป็นผู้จัดการกองทุน โดยกองทุนดังกล่าวมีผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน (20 เม.ย.50) อยู่ที่ +20.22% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค.50) เทียบกับผลตอบแทน +22.44% ต่อปี ของดัชนี MSCI South East Asia (ดัชนีนี้ไม่รวมประเทศเวียดนาม) ซึ่งกลยุทธ์การเลือกลงทุนของ AYFAVN จะเลือกลงทุนใน 6 ประเทศที่อยู่ในอาเซียนเป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วย เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ เเละไทย กองทุนนี้จะเปิดขายหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 18-31 มีนาคมนี้

- บลจ.แมนูไลฟ์ มีกองทุนเปิดแมนูไลฟ์ สเตรงค์ อิเมอร์จิ้ง อีสเทอร์น ยุโรป เอฟไอเอฟ ซึ่งเป็นกองทุนรวมต่างประเทศที่เน้นลงทุนในหุ้นประเทศเกิดใหม่ในยุโรปตะวันออก ผ่าน Manulife Emerging Eastern Europe Fund (Class A) โดยกองทุนนี้สามารถซื้อหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ

- บลจ.วรรณ มีกองทุนเปิด วรรณเอเอ็ม โกลบอล อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต เอควิตี้ เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารแห่งทุนที่ลงทุนในประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก (Emerging Markets) เช่น ภูมิภาคเอเชีย ยุโรปตะวันออก และละตินอเมริกา ผ่านกองทุนของ IXIS Asset Management และ Russell Investment Group กองทุนนี้ สามารถซื้อได้ทุกวันทําการสุดท้ายของสัปดาห์ และขายคืนทุกวันทําการสุดท้ายของสัปดาห์

- กองทุนกลุ่มประเทศ BRIC มี 3 กองทุนด้วยกัน ประกอบด้วย กองทุนเปิดแอสเซทพลัสบริค มีนโยบายเน้นลงทุนในกองทุน Templeton BRIC Fund ที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ของประเทศในกลุ่ม BRIC ได้แก่บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน (รวมถึงฮ่องกง และไต้หวัน) กองทุนไอเอ็นจี ไทย บริค 40 ซึ่งมีนโยบายลงทุนในกองทุน SPDR S&P BRIC 40 ETF (BIK) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับ S&P BRIC 40 Index กองทุนเปิดพรีมาเวสท์ (ไทยแลนด์) บริค สตาร์ ฟันด์ ซึ่งเป็นกองทุนของบลจ.พรีมาเวสท์(ไทยแลนด์) ซึ่งมีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Allianz-dit BRIC Stars ซึ่งมีนโยบายเน้นลงทุนในกลุ่มประเทศ BRIC เช่นเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น