xs
xsm
sm
md
lg

กลยุทธ์การลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดย ดร.ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
นักวิเคราะห์การลงทุนอาวุโส
บลจ.อยุธยา จำกัด


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เน้นย้ำให้ท่านนักลงทุนรักษาวินัยการลงทุนเอาไว้ในสถานการณ์ที่การออมและการลงทุนเป็นไปได้ยากลำบากขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายมากขึ้น ในสัปดาห์นี้ ผมขอเพิ่มเติมในด้านการรักษาวินัยในเรื่องของกลยุทธ์การลงทุน เพราะการลงทุนอย่างมีวินัยไม่ได้เป็นเพียงการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ แต่ยังรวมถึงวิธีการตัดสินใจในการลงทุนด้วยครับ

การมีวินัยในเชิงกลยุทธ์การลงทุนจะช่วยให้ท่านนักลงทุนมีความชัดเจนในการตัดสินใจลงทุน และจะช่วยให้ท่านนักลงทุนมีเข้าใจในการลงทุนมากขึ้น เพราะท่านจะเข้าใจว่าสาเหตุที่ท่านได้กำไรหรือขาดทุนเป็นเพราะอะไร และกลยุทธ์ที่ท่านใช้อยู่มีข้อบกพร่องตรงไหนหรือท่านควรปรับปรุงกลยุทธ์ของท่านอย่างไร นอกจากนี้ การรักษาวินัยในเชิงกลยุทธ์ยังอาจจะช่วยลดความหวั่นไหวของท่านต่อการเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทนการลงทุนด้วย เพราะท่านจะเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทนการลงทุนมีสาเหตุมาจากอะไร และท่านควรตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไร เช่น ท่านอาจจะพบว่าโอกาสในการลงทุนของท่านมีมากขึ้น เมื่อราคาหลักทรัพย์ปรับลง เป็นต้น
Ken Hawkins (www.investopedia.com) ได้แบ่งกลยุทธ์การลงทุนเป็น 3 วิธีหลัก ได้แก่ กลยุทธ์การผสมผสานการลงทุน (Strategic Asset Mix) ยุทธวิธีการจัดสัดส่วนการลงทุน (Tactical Asset Allocation) และ กลยุทธ์การคัดเลือกหลักทรัพย์ (Security Selection Strategies)

กลยุทธ์การผสมผสานการลงทุน จัดเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการลงทุน โดยอาศัยหลักการกระจายการลงทุน (diversification) และใช้ประโยชน์ของการที่ราคาหลักทรัพย์ที่ผสมผสานกันนั้นไม่เคลื่อนไหวไปตามกัน หรือมีความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์อยู่ในระดับต่ำ (low correlation) กล่าวคือ ราคาหลักทรัพย์ A อาจจะเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่ราคาหลักทรัพย์ B อาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทรงตัว หรืออาจจะลดลงก็ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากราคาหลักทรัพย์ B เพิ่มขึ้นมาก ราคาหลักทรัพย์ A ก็อาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทรงตัว หรืออาจจะลดลง ท่านนักลงทุนบางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วทำไมไม่เลือกหลักทรัพย์ที่ราคาเพิ่มขึ้นมากทั้งสองตัวล่ะ คำตอบก็คือ โดยทั่วไปแล้ว ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าหลักทรัพย์ใดจะมีราคาเพิ่มขึ้นมาก หรือลดลงเมื่อใด หากหลักทรัพย์ทั้งสองตัว เคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันตลอดเวลา ก็หมายความว่า ราคาหลักทรัพย์ทั้งสองก็อาจจะลดลงมากได้เช่นกัน สำหรับการผสมผสานการลงทุน ถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนในระยะยาว ดังนั้น ในบางช่วงสัดส่วนของการผสมผสานการลงทุนอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตัวอย่างเช่น ท่านนักลงทุนอาจจะจัดสัดส่วนการลงทุนเป็น ลงทุนในหุ้น 60% ลงทุนในตราสารหนี้ 40% แต่หากท่านนักลงทุนเห็นว่าช่วงนั้นผลตอบแทนในตลาดหุ้นสูง ท่านนักลงทุนก็อาจจะปรับสัดส่วนการลงทุนเป็น ลงทุนในหุ้น 70% และลงทุนในตราสารหนี้ 30% หลังจากนั้น ท่านนักลงทุนอาจจะขายหุ้นเพื่อทำกำไร และกลับมาซื้อตราสารหนี้ เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนของท่านกลับเป็น หุ้น 60% และตราสารหนี้ 40% ดังเดิม

ยุทธวิธีการจัดสัดส่วนการลงทุน เป็นการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนดี และลดน้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนด้อยกว่า ตัวอย่างเช่น ท่านนักลงทุนอาจจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้น และลดน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ เพราะคาดว่าหุ้นจะให้ผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งยุทธวิธีการจัดสัดส่วนการลงทุนจะแตกต่างจากการผสมผสานการลงทุนตรงที่ การผสมผสานการลงทุนจะมีสัดส่วนการลงทุนค่อนข้างชัดเจน และปรับน้ำหนักการลงทุนตามสภาวะตลาด ในขณะที่ยุทธวิธีการจัดสัดส่วนการลงทุนจะต้องอาศัยการคาดการณ์ล่วงหน้า

กลยุทธ์การคัดเลือกหลักทรัพย์ มีอยู่หลายกลยุทธ์ด้วยกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะความชอบของท่านนักลงทุนว่าท่านจะชอบแบบใด แต่โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปในเรื่องของหุ้น สำหรับตัวอย่างกลยุทธ์การคัดเลือกหลักทรัพย์ ได้แก่ การเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง (growth stock) การคัดเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี หรือมีราคาตลาดต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน (value stock) การลงทุนตามทิศทางตลาด (Momentum) เป็นต้น

ในการตัดสินใจดำเนินกลยุทธ์ต่างๆ ก็ยังมีกลยุทธ์ที่สำคัญที่ช่วยในการวิเคราะห์การดำเนินกลยุทธ์ก็คือ การวิเคราะห์แบบ Top-down และการวิเคราะห์แบบ Bottom-up ซึ่งการวิเคราะห์แบบ Top-down คือการดูว่ามีปัจจัยใดบ้างที่อาจมีผลกระทบต่อตลาด เช่น อัตราเงินเฟ้อ นโยบายของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น จากนั้นจึงมาวิเคราะห์ว่าภาคธุรกิจใดจะได้หรือเสียประโยชน์จากปัจจัยนั้นๆ แล้วจึงตัดสินใจเกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุน ในขณะที่การวิเคราะห์แบบ Bottom-up จะเริ่มวิเคราะห์จากปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์นั้นๆ จากนั้นจึงวิเคราะห์ภาพรวมของภาคธุรกิจ และต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจโดยรวม

การที่ท่านนักลงทุนจะตัดสินใจเลือกกลยุทธ์การลงทุนแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย เช่น หากท่านนักลงทุนมีความเชี่ยวชาญในภาคเศรษฐกิจ แต่มีความเข้าใจในเรื่องของธุรกิจแต่ละประเภทเพียงเล็กน้อย ท่านนักลงทุนอาจจะใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบผสมผสานการลงทุน และสำหรับท่านนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ อาจจะเลือกใช้การวิเคราะห์แบบ Bottom-up เพื่อเลือกหุ้นที่เหมาะสมกับรูปแบบการลงทุนของท่าน

สำหรับในรายละเอียดของกลยุทธ์ต่างๆ ผมได้เคยเขียนไปแล้วทั้งหมด ท่านสามารถหาอ่านย้อนหลังได้ในเว็บไซต์ของบริษัทเราที่ www.ayfunds.com ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น