xs
xsm
sm
md
lg

Asset Allocation (7): Tactical Allocation

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล
บลจ.วรรณ จำกัด


ตอนนี้เป็นตอนที่เจ็ดและเป็นตอนสุดท้ายของเรื่องใหญ่ของการลงทุนที่เรียกว่า Asset Allocation ที่ผมพากย์ไทยว่า จัดทัพลงทุน โดย ผมได้พูดถึงว่าหลักสำคัญ คือ เราควรจัดหมวดทรัพย์ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ตนรับได้เป็นหลัก (Strategic Asset Allocation) ส่วนถ้าในบางโอกาส อาจปรับสัดส่วนการลงทุนให้ต่างไปบ้างเราเรียกว่า Tactical Asset Allocation

ผู้ที่สามารถทำ Tactical Allocation ได้ดีอาจสามารถเพิ่มผลตอบแทนและลดความเสี่ยงของการลงทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นว่า สมมุติมีการทำ Tactical Allocation หน้าตาของพอร์ตลงทุนจะเป็นอย่างไรสำหรับเก้าปีของข้อมูลที่เรามี (ซึ่งเป็นข้อมูลที่เรายกตัวอย่างมาตลอด) ให้ดูข้อมูลในตารางต่อไปนี้ซึ่งเป็นการยกตัวอย่างสมมุติของคนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง แล้วจัด Strategic Asset Allocation ไว้ที่ 50/50 คือ หุ้นครึ่งพันธบัตรครึ่งนั่นเองครับ โดยที่เขามีความสามารถพิเศษในการทำ Tactical Allocation ตามจังหวะเวลาอย่างดีเยี่ยมอีกค้วย

ในตารางผู้ลงทุนลงทุนตาม Strategic Allocation (คือ 50/50) อยู่สี่ปี แต่มีอยู่สามปีที่ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นเป็นพิเศษ (bullish) คือ ปี 2001-2003 ซึ่งเขาลงทุนในหุ้นเพิ่มเป็น 70% แล้วลดการลงทุนในพันธบัตรเหลือ 30% ในขณะเดียวกันก็มีอยู่สองปีที่เขาเป็นกังวลกับราคาหุ้น (bearish) คือปี 2000 และปี 2004 จึงลงทุนในหุ้นต่ำกว่าปกติ คือ ลงหุ้น 30% และถือพันธบัตร 70% ซึ่งทำให้เขาได้ผลตอบแทนที่ดีเป็นพิเศษเพราะได้ลงทุนมากเป็นพิเศษในปีที่หุ้นดี และลงทุนในหุ้นน้อยเป็นพิเศษในปีที่หุ้นแย่ เป็นเหตุให้เขาได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 15.47% ซึ่งดีกว่ากรณีที่ลงตามสัดส่วน Strategic Allocation 50/50 ตลอดเวลา ซึ่งจะได้เพียง 11.33% อย่างมีนัยสำคัญทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ตารางที่แสดงนี้ ให้ดูถึงตัวอย่างที่ค่อนข้างเป็นอุดมคติของ Tactical Asset Allocation อย่างยอดเซียน ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะจับจังหวะ(market timing) ได้อย่างถูกต้องแม่นยำสม่ำเสมอเช่นนี้ อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยบางงานในสหรัฐที่พบว่า โดยสถิติมีอยู่วิธีหนึ่งที่พอจะมีโอกาสช่วยในการจับจังหวะเวลาได้ เปรียบเทียบ ค่า earning/price ของดัชนีหุ้นกับผลตอบแทนของตั๋วเงินคลัง ถ้าหากว่าค่าความต่างนี้แคบเล็กผิดปกติก็แสดงว่าขณะนั้นตลาดอยู่ในสภาวะที่มองโลกสดใสเกินปกติ ทำให้หุ้นมีราคาสูง ควรลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้น ...ทำไมจึงมองเช่นนั้นได้ เรามาลองทำความเข้าใจกันนะครับ

เราคุ้นกับค่า P/E หรือ price/earning เป็นการคำนวณว่า ราคาเป็นกี่เท่าของความสามารถในการทำกำไร ในเวลาที่ตลาดกำลังมองโลกสดใส คนแห่ซื้อหุ้นกันมากๆ ค่า P/E ก็จะสูง ซึ่งก็ย่อมทำให้ค่า E/P หรือ earning/price (เรียกว่า earning yield ก็ได้) ต่ำ นอกจากนี้ถ้าเราอ่านความหมายของ E/P ดู เราจะพบว่าค่านี้พอจะสื่อถึงการคาดหวังของอัตราผลตอบตอบแทนได้ด้วยเพราะ เราคำนวณ earning หรือกำไรหารด้วยราคาซึ่งคือต้นทุนของเงินลงทุน ดังนั้นถ้าเราสมมุติว่าในกำไรที่บริษัททำได้ต่อหุ้นนั้นส่วนหนึ่งจ่ายเป็นปันผลส่วนหนึ่งเก็บไว้ขยายธุรกิจ แล้วทุกบาทที่บริษัทเก็บเป็นกำไรสะสมนั้นก็สะท้อนไปในราคาหุ้นให้เพิ่มขึ้นเท่ากันบาทต่อบาทในระยะเวลาหนึ่งปี ค่า E/P ก็จะเท่ากับอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับในการลงทุนหนึ่งปีด้วย

เอาละครับ ตอนนี้เรามาลองเอาหลักการจับจังหวะเวลาที่ฝรั่งเขาพบมาดูกับข้อมูลไทยบ้าง ในตารางข้างบนได้แสดงค่า P/E ของตลาดหุ้นไทยในอดีตเอาไว้ และแสดงไว้คู่กับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุสิบปี (yield to maturity) หากท่านสังเกตุดู ก็จะพบว่าเวลาที่ดูข้อมูลต้นปีนั้น

ในเวลาที่ P/E สูง (E/Pจะต่ำ) และ Yield ของพันธบัตรสูง จะเป็นช่วงที่พันธบัตรน่าสนใจกว่าหุ้นโดยเปรียบเทียบ เช่นในต้นปี 2000 ที่หุ้นมี P/E อยู่ที่ระดับ 14.9 เท่า คือ มี E/P = 6.71% ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับ Yield ของพันธบัตรเป็น 7.91% ณ เวลานั้น ดังนั้นจึงมองได้ว่า ณ เวลานั้นตลาดหุ้นอาจฮึกเหิมเกินไปและผู้ลงทุนอาจเลือกที่จะลดน้ำหนักหุ้นลงจากระดับปกติ (strategic allocation)

ในขณะที่ถ้า P/E ต่ำ (E/Pจะสูง) และ Yield ของพันธบัตรต่ำ จะเป็นปีที่หุ้นน่าสนใจกว่าพันธบัตรโดย เช่นในปี 2002 ตอนต้นปี หุ้นมีที่ P/E อยู่ที่ระดับ 4.9 เท่า คือ มี E/P = 20.41 % ซึ่งสูงอย่างมากเมื่อเทียบกับ Yield ของพันธบัตรเป็น 4.74% ณ เวลาเดียวกัน ซึ่งอาจมองได้ว่าขณะนั้นเป็นเวลาที่ตลาดยังอยู่ในภาวะขลาดกังวลจึงทำให้ราคาหุ้นต่ำอยู่มากเมื่อเทียบกับความสามารถในการทำกำไร ในเวลาเช่นนั้น ผู้ที่อ่านสภาพอารมณ์ตลาดได้ถูกต้อง ก็สามารถขยับ strategic allocation โดยการเพิ่มน้ำหนักหุ้นเป็นพิเศษได้

หลักการที่แสดงมานี้กล่าวได้ว่าอยู่บนความจริงที่ว่า ตลาดทุนนั้นมีบางช่วงบางเวลาที่โลภจัดหรือกลัวจัดแล้วทำให้ราคาของหลักทรัพย์แพงไปหรือถูกไปได้ ผู้ที่ไม่หลงโลภหลงกลัวตามไปด้วย ก็อาจเฝ้าดูอาการของตลาดอย่างนกที่มองมาจากบนฟ้า โดยวิธีการที่ผมยกตัวอย่างนี้เป็นแนวหนึ่งที่ท่านใช้ประกอบการวิเคราะห์อารมณ์ตลาดดังกล่าวได้ ท่านที่สนใจเรื่องนี้เพิ่มเติมอาจหาอ่านได้จากหนังสือ จัดทัพลงทุน ที่ผมแต่งและพิมพ์โดยฝ่ายสื่อสิ่งพิมพ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนะครับ ตอนนี้อาจหาซื้อยากหน่อย แต่ที่มีแน่ๆ คือ ห้องสมุดมารวย และร้านหนังสือที่ตึกตลาดหลักทรัพย์ หรือถ้าหาไม่ได้จริงๆ ติดต่อถามมาที่ บลจ. วรรณ โทร 02 659 8888 กด 1 ก็ได้ครับ

ท้ายนี้ ผมขอฝากข้อสรุปไว้เล็กน้อยสำหรับเรื่อง Asset Allocation ที่จบบทความเจ็ดตอนในวันนี้ ดังนี้ครับ

1. Strategic Asset Allocation ที่แบ่งเงินลงทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยงสำคัญที่สุด

2. การทำ tactical allocation เป็นการเบี่ยงสัดส่วนการลงทุนเพื่อหาโอกาสของผลตอบแทนที่ดีขึ้นโดยจับจังหวะของตลาด

3. การจับจังหวะตลาดที่พบว่าได้ผลคือการจับอารมณ์ที่ลิงโลดหรือหดหู่เกินเหตุของตลาดหุ้น

4. อารมณ์ดังกล่าวนั้น ดูได้จากการเปรียบเทียบระดับราคา ซึ่งตัวอย่างที่ผมยก คือ การดู earning yield (E/P) ของหุ้นเทียบกับ ผลตอบแทน (yield) ของพันธบัตร

5. เวลาเราพิจารณาข้อมูลต้องมองไปในอนาคต การดู P/E ก็ควรมองไปข้างหน้าด้วย P/E ที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ที่ตลาดหลักทรัพย์คำนวณนั้นเป็น Trailing P/E ส่วน Forward P/E จะต้องมองไปยังกำไรที่คาดหวังในอนาคตด้วย จึงต้องหาจากนักวิเคราะห์หรือบริษัทหลักทรัพย์หรือ data provider ที่มีการรวบรวมข้อมูลไว้นะครับ

6. ขอเน้นว่าในสภาวการณ์ทั่วๆ ไปที่ตลาดไม่โลภจัดกลัวจัด ผู้ลงทุนควรลงทุนตาม Strategic Allocationที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเองไว้เป็นหลักนะครับ

7. ในทางปฏิบัติท่านสามารถใช้ กองทุนดัชนีหรือ อีทีเอฟ อย่าง TDEX (ThaiDEX SET50 ETF) เป็นตัวแทนของการลงทุนในหุ้นในการทำ Asset Allocation ของท่านได้

ไชโย จบเรื่องยากๆ มาราธอนชุดนี้แล้ว ในคราวหน้าผมจะพูดเรื่องเบาๆ แต่มีคุณค่ามหาศาล คือ คำสอนของบุรุษผู้มั่งคั่งที่สุดในประวัติศาสตร์โลกอันว่าด้วยแนวทางสู่ความสำเร็จ ความมั่งคั่งและความสุข ลองติดตามดูนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น