xs
xsm
sm
md
lg

TREASURY..ขุมทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ฝึกสร้างวินัยการออม..ไม่รอพ.ร.บ.เงินฝาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กองทุนนี้ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมากเพราะเป็นเครดิตของประเทศ นอกจากนี้ยังมีอายุเฉลี่ยของพันธบัตรรัฐบาลที่ลงทุนไม่เกิน 100 วัน ซึ่งสั้นมาก ทำให้มีความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคาจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก"

พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก น่าจะเป็นสิ่งใกล้ตัวคนไทยมากที่สุดเรื่องหนึ่งในอนาคต ยิ่งใกล้การมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 สิงหาคม 2551 โดยในช่วง 1 ปีแรกจะให้ความคุ้มเงินฝากต่อ 1 สถาบันการเงินเต็มจำนวน แต่หลังจากนั้นจะลดหลั่นมาเรื่อยๆ ภายในระยะเวลา 5 ปีดังนี้
ตั้งแต่ 11 ส.ค.51-10 ส.ค.52 ยังคงให้ความคุ้มครองเต็มจำนวนเงินต่อ 1 สถาบันการเงิน ต่อ 1 บุคคล
11 ส.ค.52- 10 ส.ค.53 ให้ความคุ้มครอง 100 ล้านบาทต่อ 1 สถาบันกาเงินต่อ 1 บุคคล
11 ส.ค.53-10 ส.ค.54 ให้ความคุ้มครอง 50 ล้านบาทต่อ 1 สถาบันการเงินต่อ 1 บุคคล
11 ส.ค.54-10 ส.ค.55 ให้ความคุ้มครอง 10 ล้านบาทต่อ 1 สถาบันการเงินต่อ 1 บุคคล
และตั้งแต่ 11 ส.ค.55 เป็นต้นไปจะให้ความคุ้มครอง 1 ล้านบาท ต่อ 1 สถาบันการเงิน

แล้วมันเกี่ยวกับคนธรรมดาอย่างเราๆ ตรงไหน?...ลำพังแค่รายได้กับค่าใช้จ่ายบางครั้ง ชักหน้าไม่ถึงหลัง ชักกันอยู่หลายรอบยังกลบกันไม่มิดสักที จะมีเงินออมกับเขาบางก็เพียงเล็กน้อย ส่วนการที่จะมีเงินสดเกิน 1 ล้านบาทนอนนิ่งๆ อยู่ในธนาคารแล้วได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ คงต้องบอกว่าลืมไปได้เลย

คิดแบบนี้คงไม่ต้องสนใจ พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้วกระมัง? ต้องขอบอกว่าไม่ใช่ เพราะเป็นการปิดกั้นโอกาสในการเปิดโลกทัศน์ของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่มิควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการหมกตัวเองให้อยู่ภายในกล่องสี่เหลี่ยมใบแคบๆ เท่านั้น
ยิ่งการฝากเงินหลังจากนี้มีความเสี่ยงแล้ว ทำไมต้องนั่งรอความเสี่ยงในเมื่อมีโอกาส ไม่ใช่แค่คนที่มีเงินฝาก 1 ล้านบาทเท่านั้น เพราะช่องทางที่ว่าน่าจะเหมาะสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการออมเงินด้วยเช่นกัน

เครื่องมือ หรือช่องทางที่ว่าคือ กองทุนTREASURY ซึ่งหากพูดถึงความเสี่ยงกับผลตอบแทนน่าจะคุ้มค่ากับการฝากเงิน ถึแม้จะไม่มีพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ก็ตาม เพราะกองทุนนี้มีความเสี่ยงต่ำกว่าการฝากเงิน แต่ให้ผลตอบแทนสูงกว่านั่นเอง

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะ นโยบายของกองทุนประเภทนี้จะเน้น ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก ทำให้ความเสี่ยงจะมีเพียงกรณีที่รัฐบาลล่มสลาย หรือเก็บภาษีไม่ได้เท่านั้น โดยหากมองกันแบบหลวมๆ ในกรณีที่รัฐถึงขั้นเก็บภาษีไม่ได้ แล้วแบงก์พาณิชย์จะทำธุรกิจอย่างไร อย่าว่าแต่ปล่อยกู้เลย เงินฝากเองยังหาลำบาก แล้วต้นทุนในส่วนของเงินฝากเดิมอีก ดูแล้วอีรุงตุงนังไปหมด แบบนี้คงน่าจะพอเห็นภาพอยู่บ้าง

ส่วนอัตราผลตอบแทนไม่ต้องพูด ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี สำหรับวงเงิน 1 ล้านบาท เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพ กสิกร และไทยพาณิชย์ แล้วกองทุนประเภทยังให้ผลตอบแทนสูงกว่า คือ 1 ปีย้อนหลังจะอยู่ที่ประมาณ 2.7%

ขณะที่สภาพคล่องคงจะไม่เรียวไทม์ เหมือนเงินฝากออมทรัพย์ที่ถอนเมื่อไรก็ได้ แต่ก็ถือว่าใกล้เคียงกันคือ ถอนวันนี้ได้พรุ่งนี้(T+1) และถอนหน่วยลงทุนได้ทุกเวลาเช่นกัน ซึ่งต่างจากเงินฝากประจำ โดยข้อดีอีกอย่างของกองทุนนี้คือ การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น ทำให้นักลงทุนไม่ต้องกังวลเลยว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น จะทำให้เสียโอกาสด้านผลตอบแทน

พูดมาพอประมาณแล้ว ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรขึ้นอยู่กับนักลงทุนเอง ที่จะต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการลงทุนทุกครั้ง เนื่องจาก กองทุนลักษณะนี้จะมีความคล้ายคลึงกับกองทุนมันนี่มาร์เก็ต ที่ลงทุนในพันธรัฐบาล และตราสารหนี้เอกชน แต่กองทุนประเภท TREASURY จะเน้นลงทุนในพันธบัตร และตราสารหนี้ขอรัฐบาลเท่านั้นทำให้มีความเสี่ยงต่ำกว่า

จะให้ดีต้องลองมาฟังความเห็นของ ผู้ที่เกี่ยวงข้องกับกองทุนประเภทนี้กันบ้าง วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ รองประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนเริ่มมีความเข้าใจ กองทุน K-TREASURY มากขึ้น และมองว่ามีความเสี่ยงและสภาพคล่องใกล้เคียงกับการฝากเงินแบบออมทรัพย์ แต่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา ขนาดของกองทุนประเภทนี้ได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย และเงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากเงินออมของประชาชนที่เดิมมักจะฝากอยู่ในธนาคาร และมีบางส่วนที่จะมาจากเงินของนักลงทุนที่นำมาพักไว้ระหว่างที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของกองทุนที่สร้างผลตอบแทนสูงในช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการลงทุนในกองทุนนี้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

วนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย)จำกัด** บอกว่า “กองทุนนี้ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมากเพราะเป็นเครดิตของประเทศ นอกจากนี้ยังมีอายุเฉลี่ยของพันธบัตรรัฐบาลที่ลงทุนไม่เกิน 100 วัน ซึ่งสั้นมาก ทำให้มีความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคาจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก โดยผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทนเสมือนดอกเบี้ยแบบลอยตัว คือในช่วงที่ดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลงผลตอบแทนจะลดลงตามไปด้วย”

สรุปสั้นๆ เอาพอสังเขป ว่าอย่างน้อยประชาชนคงต้องมีการปรับตัวในการออมหลังจากนี้ แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ จากกรณีมีเงินออมไม่ถึง 1 ล้านบาทก็ตาม เพราะการสร้างวินัยทางการออมถือเป็นเรื่องจำเป็นในปัจจุบัน และหากมองในแง่ความเสี่ยงและผลตอบแทนแล้ว หากมีทางเลือกที่ดีกว่าในระดับความเสี่ยงที่ต่ำกว่า หรือเท่ากันแล้ว เราควรจะเลือกแบบไหน?
กำลังโหลดความคิดเห็น