พิษจากปัญหาซับไพร์มที่เกิดที่ไม่เพียงแต่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง แต่ยังส่งผลไปยังประเทศอื่นทั่วโลก ขณะเดียวกันเรื่องราคานํ้ามันที่สูงขึ้นยังทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ ด้วยเช่นกัน แต่ในภูมิภาคเอเชียกลับได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวไม่มาก โดยเฉพาะประเทศจีนกับอินเดีย 2 ประเทศมหาอำนาจในเอเชียที่กำลังมีบทบาทในเวทีโลกอย่างมากในขณะนี้ และทั้ง 2 ประเทศนี้ในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงประเทศเวียดนามที่กำลังประสบกับเรื่องของปัญหาเงินเฟ้ออยู่ในขณะนี้ วันนี้เราลอง ไปฟังมุมมองจากนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียกัน
นิโคลัส ควอน หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐศาสตร์ ภูมิภาคเอเชีย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวถึง ภาวะและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนกับประเทศอินเดียว่า ทั้ง 2 ประเทศนี้มีจำนวนประชากรที่มากพอๆกัน โดยประเทศจีนมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกหรือคิดเป็นประมาณ 20% ของจำนวนประชากรทั้งโลก ส่วนประเทศอินเดียอยู่ที่ประมาณ 17% ซึ่งถือได้ว่าเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกัน แม้ว่าในช่วงประมาณ 27 ปีที่ผ่านมาทั้งจีนและอินเดียจะมีจำนวนประชากรที่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในโลก แต่ทั้ง 2 ประเทศนี้กลับมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของโลกน้อยมาก กระทั้งในปัจจุบันประเทศจีนกับอินเดียได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะ
โดยนายนิโคลัส ได้แสดงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศจีนว่า ในระยะยาวเศรษฐกิจของประเทศจีนจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอตัวลงก็ตาม ซึ่งการที่เศรษฐกิจของจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นเพราะได้รับปัจจัยที่สำคัญมากจากเรื่องของประชากรที่มีจำนวนมากและการเปิดประเทศของจีนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศจีนเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประเทศจีนยังได้รับเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาพัฒนาประเทศทั้งในภาคส่วนอุตสาหกรรม การขนส่งและการบริการ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของประเทศจีนยังคงได้รับความท้ายทายจากปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการ ซึ่งจะเป็นตัวที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจของจีนได้รับผลกระทบคือ เรื่องของอัตราเงินเฟ้อ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น โดย ในเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้นเป็นผลมาจากราคานํ้ามันที่สูงขึ้น ทำให้ประเทศต่างๆมีอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นไปตามๆกัน แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาประเทศจีนได้มีการใช้นโยบายทางการเงินที่ตรึงตัวเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงส่งผลให้ประเทศจีนมีเงินเฟ้ออยู่ระดับที่ไม่สูงมากและไม่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมาก ดังนั้นจึงเป็นการยากที่เศรษฐกิจของประเทศจีนจะปรับตัวลดลง
ส่วนเรื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ราคาเหล็ก นั้น เป็นผลมาจากความต้องการใช้ที่มากขึ้นหลังจากมีการเปิดประเทศในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการใช้พลังงานภายในประเทศจีนที่มีปริมาณมากและมีการใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแย่กว่าประเทศอื่นถึง 7 เท่า ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีราคาสูงขึ้น แต่หากประเทศจีนมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์มาก
ทั้งนี้ นายนิโคลัส ยังบอกด้วยว่า หากประเทศจีนและอินเดียยังใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกได้ แต่เชื่อว่า ทั้ง 2 ประเทศอาจจะใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ประเทศอื่นๆไม่ได้รับผลกระทบจากการใช้นํ้ามันอย่างไม่มีประสิทธิภาพของประเทศจีน รวมทั้งยังเชื่อว่าคงจะไม่ส่งผลที่เลวร้ายมากในอนาคตและเงินเฟ้อคงจะปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน
ด้าน ไท ฮุย หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามไว้อย่างน่าสนใจว่า ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามเป็นอย่างมาก ซึ่งหากมองไปที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศแล้วในระยะยาวถือว่ามีความน่าสนใจในเรื่องการเข้าไปลงทุน
แต่ปัญหาที่ประเทศเวียดนามที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้เป็นปัจจัยซึ่งจะทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวมีความน่าสนใจลดลง เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับปัจจัยในระยะสั้นมากกว่าในระยะยาว
โดยปัญหาที่ประเทศเวียดนามกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ คือเรื่องของเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยอยู่ที่ระดับ 25% ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยในเรื่องราคาอาหารที่มีราคาสูงขึ้น รวมทั้ง การขาดดุลการค้าเป็นจำนวนมาก เพราะมีการนำเข้าเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ขณะที่การส่งออกนั้นมีเพียงการส่งออกสินค้าประเภทเกษตรกรรมเท่านั้น เป็นผลต่อเนื่องที่ทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งสะท้อนเห็นได้ชัดจากตลาดหุ้นในประเทศที่ตกลง
ทั้งนี้ ประเทศเวียดนามได้มีการใช้นโยบายทางการเงินเข้ามาแก้ปัญหาเงินเฟ้อโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปที่ 14% ส่งผลให้ค่าเงินด่องอ่อนค่าลง รวมทั้งมีแนวโน้มว่าจะอ่อนค่าลงไปอีกอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าทางการเวียดนาม อาจจะมีการขึ้นดอกเบี้ยเป็น 18% ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ส่วนในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามอาจโตกว่า 10% ทำให้ส่งผลต่อสภาพคล่องของประเทศเวียดนาม
นอกจากนี้ นาย ไท ฮุย ยังได้กล่าวถึง แนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียด้วยว่า
จากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เกิดขึ้นและลุกลามมาถึงภูมิภาคเอเชียในระดับหนึ่ง ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับกลางของประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย และถึงแม้ว่าการแยกตัวโดยไม่ขึ้นต่อกันระหว่างเศรษฐกิจสหรัฐฯและเอเชียจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ภูมิภาคเอเชียจะสามารถเผชิญกับผลกระทบของเศรษฐกิจขาลงในสหรัฐฯได้ดีกว่าเมื่อปี พ.ศ. 2543-2544
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่แข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับความผันผวนของตลาดได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนสำรองต่างประเทศ รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัด และการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ ล้วนบ่งชี้ว่าความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติทางการเงินในวงกว้างทั่วภูมิภาคนั้นค่อนข้างเป็นไปได้น้อย
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของทุกประเทศในเอเชียกำลังเผชิญความท้าทายในเรื่องของภาวะเงินเฟ้อ ราคาอาหารและราคานํ้ามันที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางในบางประเทศเช่น จีน อินเดีย และอินโดนิเซีย ออกมาตรการนโยบายทางการเงิน เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม สาเหตุของปัญหาเงินเฟ้อควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดอาจใช้ไม่ได้ผลในการแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนการผลิตที่สูง