xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนามในภาวะเงินเฟ้อ จับสถานการณ์ จับจังหวะลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้คาดว่าทางการเวียดนามจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และจากปัจจัยที่กดดันขณะนี้น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 7.0 ซึ่งถือว่าจะเป็นปีแรกที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามต่ำกว่าร้อยละ 8.0 จากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา"

ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจของ ประเทศเวียดนามเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับที่เรียกได้ว่าเท่าทวี จนหลายฝ่ายที่เคยมองข้ามความสำคัญ เริ่มเปลี่ยนทัศนคติ และจับตามองใหม่ในฐานะ "ประเทศคู่แข่งที่มีศักยภาพใกล้เคียงประเทศไทย" ไม่ว่าจะเป็นในด้านการบริโภค การเติบโต ความน่าลงทุน หรือการส่งออก ซึ่งนอกจากความน่ากลัวในฐานะคู่แข่งทางการค้าสำคัญในกลุ่มอาเซียนแล้ว ตอนนี้บริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ยักษ์ใหญ่บางรายที่ตั้งรกราก หรือมีเจ้าของเป็นคนไทยเองที่ได้มีการโยกฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนามแทนประเทศไทยเช่นเดียวกัน

ยิ่งทุกวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่าในไทยเองยังคงมีปัญหารุมเร้าไม่ว่าจะเป็น ความไม่แน่นอนทางการเมือง หรือ ปัญหาภาวะเศรษฐกิจ จากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งแบบฉุดไม่อยู่ตามราคาน้ำมันและสินค้าการเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้เราคงต้องหันหน้าไปมองประเทศเวียดนามกันเสียหน่อยว่า ท่ามกลางการตกต่ำของเศรษฐกิจโลกที่ประสบเหมือนๆกันเช่นนี้ประเทศเวียดนามเป็นอย่างไรบ้าง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐกิจของเวียดนามซึ่งระบุว่า ปัจจุบันประเทศเวียดนามกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.2 จากร้อยละ 21.4 ในเดือนเมษายน 2551 ส่งผลให้ฟิทช์เรทติ้งส์ (Fitch) ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเวียดนาม จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ “BB-minus” ลงสู่ “เชิงลบ” จาก “เสถียรภาพ” เพราะไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเวียดนามจากภาวะเงินเฟ้อที่ทะยานในระดับสูง ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบบธนาคาร เนื่องมาจากตอนนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของเวียดนามติดลบประมาณร้อยละ 12 แม้ว่าทางการเวียดนามพยายามบรรเทาภาวะเงินเฟ้อ โดยการทยอยขยายช่วงอัตราแลกเปลี่ยนเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ รวม 3 ครั้ง จากเดิมที่กำหนดให้เคลื่อนไหวขึ้นลงร้อยละ 0.5 ในช่วงต้นปี 2551 เป็นบวก/ลบร้อยละ 1.0 ในปัจจุบันก็ตาม แต่นโยบายการเงินของทางการเวียดนามที่ช้าและน้อยเกินไป ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันค่าเงินด่องของเวียดนามต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ได้อ่อนค่าลงมากเป็นประวัติการณ์ที่ 16,255 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 2 มิถุนายน 2551 แต่หากพิจารณาเทียบกับค่าเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2550 จะคิดเป็นอ่อนค่าลงร้อยละ 1.5 ซึ่งการอ่อนค่าของเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯนี้ ยังคิดเป็นระดับที่ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนสกุลอื่นในเอเชียต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ในวันที่ 2 มิถุนายน 2551 ที่อ่อนค่าลงร้อยละ 8.9 จากอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปีที่ผ่านมา หรือค่าเงินรูปีของอินเดียต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงราวร้อยละ 6.6

ทั้งนี้สาเหตุที่ค่าเงินด่องของเวียดนาม อ่อนค่าลงมาไม่มากนัก เนื่องจากทางการเวียดนามกำหนดให้ค่าเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นลงในกรอบแคบๆระหว่างวัน ทำให้ค่าเงินด่องในปัจจุบันยังไม่สะท้อนค่าเงินที่แท้จริงของเวียดนามในภาวะที่เวียดนามประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง

 ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดกดดันค่าเงินด่อง

ปัจจุบันประเทศเวียดนามประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 4.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เนื่องจากยอดขาดดุลการค้าที่พุ่งขึ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ของจีดีพีในปี 2550 โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ยอดขาดดุลการค้าของเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 14.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2550 ประมาณ 3 เท่า เนื่องจากมูลค่านำเข้าสินค้าของเวียดนามโดยเฉพาะน้ำมันที่พุ่งขึ้นตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทะยานขึ้นในระดับสูงส่งผลให้ดุลการค้าของเวียดนามในปี 2551 มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น และคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้จะขาดดุลพุ่งขึ้นเป็น 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 7 ของจีดีพี ทำให้สะท้อนถึงค่าเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีกในปีนี้

 เงินเฟ้อพุ่งสูง....กระทบความน่าสนใจลงทุน

*ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในระดับสูง ส่งผลทำให้ต้นทุนค่าจ้างแรงงานในเวียดนามมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วยกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขัน (competitiveness)  เพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในภาคธุรกิจจะบั่นทอนบรรยากาศด้านการลงทุน ในฐานะที่เวียดนามเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนที่โดดเด่นแห่งหนึ่งในปัจจุบันจากราคาค่าแรงงานที่มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และจากปัจจัยดังกล่าวประเทศไทยอาจได้รับผลดีในแง่ของการแข่งขันกับเวียดนาม ด้านการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI)

โดยจากสถานการณ์ที่เวียดนามอาจต้องปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานตามภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งนักลงทุนไทยที่กำลังขยายการลงทุนเข้าไปจัดตั้งฐานการผลิตในเวียดนามเพื่อใช้ประโยชน์จากค่าจ้างแรงงานของเวียดนามที่ต่ำกว่าไทย อาจต้องชะลอการเข้าไปลงทุนในเวียดนามในขณะนี้ เพื่อรอดูสถานการณ์ด้านเสถียรภาพด้านราคาที่มีความสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเวียดนาม

ขณะที่เงินเฟ้อที่สูงกดดันให้ค่าจ้างแรงงานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ค่าเงินด่องยังอ่อนค่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจเวียดนาม ทำให้คาดว่าเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะยังคงมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่ามากขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้นนักลงทุนต่างชาติรวมทั้งนักลงทุนไทยอาจจะชะลอการลงทุนในเวียดนามเพื่อรอให้ค่าเงินด่องอ่อนค่ามากขึ้น เพื่อประโยชน์จากมูลค่าการลงทุนในเวียดนามในรูปสกุลเงินด่องที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนามมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้

"ปัญหาเศรษฐกิจที่เวียดนามกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนสำคัญที่ว่าเสถียรภาพด้านราคามีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงของประเทศต่างๆ ซึ่งทางการของแต่ละประเทศควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกและออกมาตรการควบคุมเงินเฟ้ออย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที"

อย่างไรก็ตามจากความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ทำให้คาดว่าทางการเวียดนามจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และจากปัจจัยต่างๆ ที่กดดันเศรษฐกิจเวียดนามในขณะนี้ น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 7.0 ในปีนี้จากที่เติบโตร้อยละ 8.5 ในปี 2550 ซึ่งถือว่าจะเป็นปีแรกที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามต่ำกว่าร้อยละ 8.0 จากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2548-2550) ที่เติบโตเกินร้อยละ 8.0 มาโดยตลอด ซึ่งนักลงทุนไทยที่มีแผนจะเข้าไปลงทุนในเวียดนามควรรอดูประเด็นด้านเสถียรภาพของเงินเฟ้อและอัตราค่าจ้าง รวมทั้งเงินด่องที่น่าจะยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีก


ที่มาข้อมูล : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น