ผู้จัดการออนไลน์-- ผลสำรวจของรัฐบาลเวียดนามซึ่งถูกนำมาเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (26 มิ.ย.) เผยให้เห็นว่าสภาวะความกดดันในสังคมปัจจุบันนี้กำลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อโครงสร้างทางครอบครัวในเวียดนาม ซึ่งมีผลให้อัตราการอย่างร้างเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการที่เด็กเล็กและผู้สูงอายุใช้เวลาอยู่ตามลำพังมากยิ่งขึ้น
การผลการสำรวจครอบครัวจำนวนมากทั่วประเทศพบว่า ความเท่าเทียมทางเพศนั้นได้รับการพัฒนาอยู่ในระดับที่ดีขึ้น แต่ผู้ชายก็ยังคงเป็นผู้นำในครอบครัวเช่นเดิม และพบว่ายังมีความรุนแรงระหว่างคู่สมรสเกิดขึ้นถึง 20% ด้วยกัน
โครงการสำรวจดังกล่าวเป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF โดยสอบถามครอบครัวต่างๆ ถึง 9,400 ครอบครัวใน 64 เมืองทั่วประเทศ
"หลังจากที่นโยบายโด่ยเหมย (doi moi) เพื่อการปฏิรูปทางเศรษฐกิจได้ถูกนำมาใช้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเวียดนามเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในแทบทุกด้าน รวมถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัวด้วย" ผลการสำรวจ กล่าว
โด่ยเหมยหมายถึง "การเปลี่ยนใหม่" อันเป็นนโยบายที่พรรคคอมมิวนิสต์กำหนดออกมาใช่ช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งนำไปสู่การปฏิรูปทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง
เวียดนามเคยมีรูปแบบสังคมที่เป็นชนบท ซึ่งแนวคิดแบบขงจื้อมีอิทธิพลอย่างมากต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้เด็กๆ ต้องความเคารพต่อผู้ที่โตกว่า รวมทั้งผู้หญิงต้องเชื่อฟังสามีของตนด้วย
อย่างไรก็ตามผลการสำรวจพบว่าประเพณีหรือขนบธรรมเนียมทางสังคมต่างๆ ในเวียดนามมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากขึ้น จากในช่วงที่ปี 1975 เรื่อยมาจนกระทั่งการเปิดประเทศเพื่อติดต่อกับนานาชาติมากขึ้นในทศวรรษที่ 1990 ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจตามมา
"การหย่าร้าง" ซึ่งเป็นคำที่มักไม่ค่อยจะได้ยินกันในอดีต แต่กลับเป็นปัญหาอย่างมากในปัจจุบัน เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา การอย่าร้างในเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 2.6% ในวัยตั้งแต่ 18 - 60 ปี โดยหญิงที่ขอหย่าส่วนใหญ่มักจะให้เหตุผลในเรื่องของความแตกต่างทางทัศนคติและการใช้ชีวิต การนอกใจรวมทั้งความยากลำบากทางเศรษฐกิจ
ผลการสำรวจยังพบว่า ผู้ปกครองจำนวนมากในขณะนี้มีความรู้สึกว่าไม่สามารถใช้เวลาอยู่กับลูกๆ ได้อย่างเพียงพอ และยังเป็นห่วงในเรื่องของพัฒนาการทางด้านอารมณ์และจิตใตของเด็กๆ อีกด้วย
"มันไม่ใช่เรื่องของความไม่ต้องการ หรือการทอดทิ้ง...พ่อแม่จำนวนมากจำเป็นต้องทำงานเพื่อให้ครอบครัวได้อยู่รอด ดังนั้นจึงทำให้พวกเขาไม่มีเวลาที่จะอยู่กับลูกๆ อย่างเพียงพอ" นายเจสเปอร์ มอร์ช (Jesper Morch) หัวหน้าสำนักงาน UNICEF ในเวียดนามกล่าว
ในบรรดาครอบครัวทั้งหมดที่ทำการสำรวจ มีจำนวนเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีผู้สูงอายุอาศัยรวมอยู่ด้วย
"ครอบครัวที่มีสมาชิกอาศัยอยู่รวมกันถึง 3 รุ่นนั้นเป็นสิ่งที่พบไม่มากนักในปัจจุบันและกำลังลงเรื่อยๆ ซึ่งอาจะเป็นเพราะการที่เวียดนามมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแบบอุตสาหกรรมมากขึ้น" รายงานที่ร่วมกันจัดทำระหว่างสถาบันครอบครัวและเพศศึกษาแห่งเวียดนาม (Vietnam's Institute of Family and Gender Studies) กล่าว.