xs
xsm
sm
md
lg

ข้าว จากขาดตลาดจะกลายเป็นล้นตลาด ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คงยังจำกันได้ว่าก่อนหน้านี้เพียงแค่ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประชากรโลกได้พบกับวิกฤติการณ์ใหม่นอกจากวิกฤติราคาน้ำมัน นั่นก็คือ วิกฤติการณ์ราคาอาหาร โดยเฉพาะราคาข้าวสารที่มีการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 150% ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 4 เดือนนับตั้งแต่ต้นปี 2551 แน่นอนว่าการที่ราคาข้าวอยู่ดีๆก็มีการพุ่งขึ้นแพงมหาโหดแบบนี้ กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นประชาชนที่มีรายได้ต่ำในหลายๆประเทศที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก จึงทำให้เกิดภาพของการออกมาประท้วงราคาอาหารแพงในหลายๆประเทศ ซึ่งบางประเทศก็รุนแรงจนถึงขั้นกลายเป็นจลาจล

ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก แน่นอนว่าย่อมเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์ไปเต็มๆในการปรับเพิ่มขึ้นของราคาข้าวอย่างน่าอัศจรรย์ใจแบบนี้ ผู้คนที่อยู่ในวงจรข้าวล้วนได้รับผลประโยชน์แบ่งสันปันส่วนกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกร โรงสี ผู้ส่งออก หรือแม้แต่กระทั้งรัฐบาลที่ได้รับผลพลอยได้จากภาษีการส่งออก ตัวเลขมูลค่าการส่งออกที่ปรับเพิ่มขึ้นพรวดพราดแม้จะมีปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มไม่มากนักเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

วิกฤติอาหารของโลกจึงเป็นโอกาสทองของประเทศไทย ที่จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมได้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้น และทำให้ไทยมีโอกาสที่จะกลายเป็นศูนย์กลางอาหารของโลก จนถึงขั้นที่อาจมีการตั้งกลุ่มประเทศผู้ส่งออกข้าว(Oganization of the Rice Exporting Countries) เกิดขึ้น แต่โอกาสทองของประเทศไทยก็ต้องหายไป

จากที่ประเทศไทยมีโอกาสในการที่จะกำหนดราคาข้าวในตลาดโลกอันเนื่องจากในตลาดโลกเหลือไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกเพียงรายเดียว ด้วยเพราะรัฐบาลอินเดียและเวียดนามล้วนระงับและจำกัดการส่งออก ก็กลับกลายเป็นว่าแม้ไทยจะสามารถกำหนดราคาส่งออกที่สูงได้แต่ก็มีประเทศผู้ซื้อน้อยรายเหลือเกินที่ยินยอมซื้อข้าวจากไทย ซึ่งประเทศผู้ซื้อเหล่านั้นแม้นจะมีการสั่งซื้อจากไทยก็เป็นการสั่งซื้อที่น้อยกว่าที่คาดไว้ เช่น มาเลเซียที่ตั้งใจว่าจะสั่งข้าว 500,000 ตันก็สั่งเพียง 200,000 ตัน หรือไนจีเรียที่ก็ตั้งใจว่าจะสั่ง 500,000 ตันสุดท้ายก็สั่งเพียงแค่ 100,000 ตัน ยังไม่นับรวมฟิลิปปินส์ที่ยกเลิกการประมูลนับครั้งไม่ถ้วน

ต้นตอวิกฤตข้าว
จุดเริ่มต้นของราคาข้าวที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ นั่นได้เริ่มขึ้นในปี 2550 โดยเรื่องได้เริ่มขึ้นนับตั้งแต่ประเทศเวียดนามซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 ของโลกและเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ได้เผชิญกับปัญหาโรคระบาดในนาข้าวและประสพภัยธรรมชาติจนทำให้ผลผลิตข้าวในประเทศลดต่ำลง

จนมาถึงปี 2551 ข้าวร้ายเกี่ยวกับผลผลิตข้าวก็เริ่มโผล่มาเป็นระรอก ไม่ว่าจะเป็นการเผยตัวเลขการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในเวียดนามจนทำให้พื้นที่ในการปลูกข้าวสูญหายไปประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งถ้าตัวเลขดังกล่าวเป็นจริงก็จะทำให้เวียดนามซึ่งส่งออกข้าวประมาณ 4.5 ล้านตันต่อปีจะไม่มีข้าวส่งออกภายใน 4-5 ปี และเมื่อผสมกับภาวะฟองสบู่แตกในเวียดนามไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อที่พุ่งสูงกว่า 25% ก็ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องประกาศจำกัดการส่งออก เพื่อลดปัญหาราคาอาหารในประเทศที่ปรับพุ่งขึ้นสูง
ไม่เพียงแต่เวียดนามเท่านั้นที่ประสบปัญหา อินเดียเองก็ต้องเผชิญกับภาวะผลผลิตขาวไม่พอเพียงต่อการบริโภคในประเทศเนื่องจากพื้นที่เพาะปลุกในภาคกลางของอินเดียต้องประสพภัยธรรมชาติเนื่องจากภาวะโลกร้อน อีกทั้งเมื่อมีการคาดการณ์กันว่าอินเดียจะมีอัตราการขยายตัวของประชากรในอีก 5 ปีข้างหน้าว่าจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 60% ก็ทำให้เกิดภาวะวิตกกังวลว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร จนทำให้อินเดียต้องเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ทำการจำกัดการส่งออก

เอาแค่เพียงเวียดนามและอินเดียวที่ระงับการส่งออกก็เป็นปริมาณกว่า 30% ของปริมาณการส่งออกของทั้งโลก ยังไม่นับรวมประเทศผู้ส่งออกรายเล็กรายน้อยที่ก็มีการประกาศจำกัดการส่งออก ไม่ว่าจะเป็น ปากีสถาน กัมพูชา อียิปต์ และอื่นๆเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงแค่ 4 เดือนแรกของปี 2551 ประเทศไทยซึ่งเหลือเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่เพียงรายเดียวย่อมได้เปรียบในการกำหนดราคาข้าวในตลาดโลก จึงทำให้ราคาข้าวในรอบ 4 เดือนแรกของปี 2551 จึงสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้กว่า 150%

ราคาข้าวในประเทศ
สาเหตุหลักของการที่คนไทยต้องบริโภคข้าวในราคาที่แพงตามราคาตลาดโลก ก็คงหนีไม่พ้นการที่มีการประกาศว่าราคาข้าวเปลือกจะสามารถไปได้สูงถึงตันละ 30,000 บาท จึงเป็นที่ผ่านมาของการเก็บกักตุนข้าว และการเร่งปลูกข้าวเพราะคิดว่าจะได้ราคาดีตามที่มีการประกาศไว้ ทำให้ผลผลิตข้าวจากเดิมที่คาดกันไว้ว่าจะมีออกมาในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนเพียง 1.9 ล้านตันก็กลายมาเป็น 2.5 ล้านตัน

เมื่อสภาวะภัยธรรมชาติเริ่มสงบลง หลายๆประเทศเริ่มประกาศว่าจะยกเลิกจำกัดการส่งออก โดยเฉพาะเวียดนามที่มีการประกาศว่าจะยกเลิกการจำกัดการส่งออก ภายในเดือนกรกฎาคม และยิ่งภายในประเทศไทยเองก็มีการนำสต็อกข้าวส่วนหนึ่งออกมาทำเป็นข้าวถุงราคาถูกจำหน่าย จนทำให้ทั่วทั้งโลกล้วนรู้ว่าประเทศไทยมีสต็อกข้าวอยู่กว่า 2 ล้านตันและยิ่งเมื่อผสมกับปริมาณข้าวที่จะออกมาอีกกว่า 2.5 ล้านตันก็กลายเป็นว่าไทยจะมีข้าวอยู่ในมือกว่า 4.5 ล้านตัน

เหล่านี้ก็กลายมาเป็นข่าวร้ายต่อราคาทันทีและทำให้ราคามีการปรับร่วงต่อเนื่อง กว่า 50% ภายในเดือนพฤษภาคม และทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศต้องร่วงลงต่ำกว่า 9,000 บาทต่อตัน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมทำให้เกษตรกรในประเทศเกิดความไม่พอใจ เพราะก่อนหน้านี้มีการประกาศว่าจะมีการประกันราคาที่ 14,000 บาทต่อตัน จากที่คนใหญ่คนโตได้เคยพูดไว้ และทำให้เกษตรกรหลายๆคนได้หลงเชื่อและแห่กันปลูก ซึ่งถ้าไม่มีการรับจำนำที่ 14,000 บาทต่อตันก็จะทำให้เกษตรกรมีโอกาสบุกกรุงเทพและทำให้เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน

มีคำถามว่าแล้วรัฐบาลจะนำเข้าที่รับจำนำมาไประบายออกให้ใคร เพราะฟิลิปปินส์เองก็ได้แสดงความจำนงที่จะสั่งซื้อข้าวจากเวียดนามมากกว่าไทย เพราะว่าเวียดนามมีการเสนอขายที่ระดับต่ำกว่าไทย หรือจะไปมองที่ประเทศคู่ค้าอื่นๆ ก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ว่ามีความยินดีที่จะสั่งซื้อข้าวจากเวียดนามมากกว่าไทย

เพราะการที่รัฐบาลรับจำนำอยู่ที่ 14,000 บาทต่อตันก็กลายเป็นไฟท์บังคับว่ารัฐบาลต้องขายข้าวให้ได้ระดับราคา 850-900 เหรียญต่อตัน แต่ในขณะที่ราคาที่เวียดนามเสนอขายเฉลี่ยแล้วกลับอยู่ที่ 700-800 เหรียญต่อตัน ภาพที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ ก็คือ ปริมาณข้าวภายในประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นมหาศาล ในขณะที่ไม่สามารถที่จะระบายข้าวออกได้รวดเร็วเหมือนอย่างที่เคยระบายได้เพราะราคาที่แพงกว่าคู่แข่ง เมื่อตลาดมีแต่ของเข้าแต่ไม่มีทางให้ออก ภาวะผลผลิตล้นตลาดย่อมจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากวิกฤติขาดแคลนข้าวที่จะเป็นโอกาสทองของไทย จึงกลายเป็นวิกฤติข้าวล้นตลาดที่จะเป็นปัญหาในอนาคตของไทยแทน

ที่มา : ธนเกษตร


กำลังโหลดความคิดเห็น