xs
xsm
sm
md
lg

กลยุทธ์การบริหารพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ปี 2551

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดย จันทนา กาญจนาคม
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ - ลูกค้าสถาบัน
บลจ. อยุธยา จำกัด


เทศกาลการประชุมใหญ่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพิ่งเสร็จสิ้นกันไปหมาด ๆ นะคะ สมาชิกหลาย ๆ ท่านก็คงได้รับความพอใจกันไปทั่วหน้ากับผลตอบแทนของกองทุนที่มีนโยบายแบบผสม (Mixed Fund) ซึ่งมีการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นในปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนไว้เพียง 5 - 10 % ในกองทุน ก็คงสมหวังกับผลตอบแทนโดยรวมที่สูงถึง 7% หรือ 8% กันโดยถ้วนหน้า ไม่นับบางกองทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นสูงกว่า 10% ขึ้นไป อาจได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนสูงถึงกว่า 9% หรือ 10% กว่า ๆ ไปกันเลยทีเดียว เพราะตลาดหุ้นในปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนโดยรวมประมาณ 26%

ส่วนกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ หรือพันธบัตรรัฐบาล (Fixed Income Fund) ก็ยังประคองตัวได้ที่ประมาณ 5 - 6% ต่อปี โดยที่อัตราเงินเฟ้อในปี 2550 ยังอยู่ระดับต่ำประมาณ 3%

คงมีหลายคนเริ่มสงสัยว่า ทำไมผลตอบแทนของกองทุนจึงมาเปรียบเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ !?! สมาชิกกองทุนฯ ของเราส่วนใหญ่มักจะนำผลตอบแทนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ ด้วยหลักการส่วนตัวว่า ถ้าเอาเงินไปออมเองในธนาคาร ก็จะได้ผลตอบแทนเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ดังนั้นการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ควรให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า (มิฉะนั้น ถอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปฝากธนาคารดีกว่า !) ก็ไม่ผิดนะคะ ถ้าจะคิดแบบนั้น แต่อยากเรียนท่านสมาชิกทุกท่านว่าการเปรียบเทียบดังกล่าว อาจจะไม่สามารถวัดความต้องการที่แท้จริงในการลงทุนของเราได้ทั้งหมด

อย่าลืมว่า ความต้องการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ของเรา ๆ ท่าน ๆ นั้น มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อให้เราสามารถเอาไว้เลี้ยงชีพของเราในอนาคต กองทุนฯจึงควรมีผลตอบแทนที่ทำให้เรามีเงินไว้ใช้จ่ายตามอัตราค่าครองชีพที่มีอยู่ในขณะนั้น ๆ ได้ ตัววัดอัตราค่าครองชีพตามภาษาเรา ๆ ท่าน ๆ สามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ ก็คือ อัตราเงินเฟ้อ นั่นเอง ยกตัวอย่างง่าย ๆ นะคะว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย เฉลี่ยตลอดปี อยู่ที่ประมาณ 2% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยทั้งปี อยู่ที่ประมาณ 3% แสดงว่า เราจะมีรายได้จากการลงทุนจริง ๆ เท่ากับ 1% (อัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) อัตราเงินเฟ้อจึงเปรียบเสมือนตัวเลขซึ่งแสดงต้นทุน หรือราคาสินค้าที่จะต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเรา เช่น ค่าอาหาร ค่ายานพาหนะ หรือค่าน้ำมันรถยนต์ ฯลฯ

ถ้าการลงทุนของเราได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ แสดงว่าเราจะมีส่วนเหลือสำหรับเก็บออมต่อไป แต่ถ้าผลตอบแทนจากการลงทุนน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ ก็จะแสดงว่า เราต้องใช้เงินต้นที่มีอยู่สำหรับออกมาใช้จับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จำนวนเงินที่เรามีอยู่ก็จะลดลงไป จนไม่พอใช้ในที่สุด หรือเรียกง่าย ๆ ว่า เงินที่เรามีอยู่มีค่าลดลงเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น สถานการณ์ในปัจจุบัน ข้าวราดแกง จานละ 10-15 บาท ซึ่งเคยหาซื้อทานกันได้ทั่ว ๆ ไป เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันขายกันอยู่ที่ 20-30 บาท และกำลังวิ่งขึ้นไปที่ 30-40 บาท ในเร็ว ๆ นี้ ฯลฯ เหล่านี้ คือ ผลมาจากเงินเฟ้อนั่นเอง สาเหตุเพราะราคาสินค้าต่าง ๆ เพิ่มขึ้น นายจ้างหลาย ๆ แห่ง จึงต้องพิจารณาปรับเพิ่มค่าครองชีพให้แก่พนักงาน เพื่อให้มีรายได้สูงขึ้นเท่ากับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอยู่ในขณะนี้

ในด้านการลงทุนก็เช่นกัน เพื่อให้เงินลงทุนของเรา ได้รับผลประโยชน์ที่จะนำไปใช้จ่ายเพียงพอกับราคาสินค้าต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนที่ควรจะได้รับก็ควรจะไม่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น กลยุทธ์ในการบริหารพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ปี 2551 ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่มีนโยบายพันธบัตรรัฐบาล นโยบายตราสารหนี้ หรือนโยบายแบบผสม ก็ควรจะให้มีผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อให้ได้

ในโอกาสนี้ จึงขอนำตารางความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมา (2550) จนถึงเดือนพฤษภาคมของปี 2551 นี้ เปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในระยะเวลาเดียวกัน

ตารางแสดงอัตราเงินเฟ้อใน 1 ปี ที่ผ่านมาเพื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร

คราวนี้กลับไปย้อนดูผลตอบแทนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใน 3 เดือนแรกของปีนี้ (2551) กันบ้างนะคะ สำหรับกองทุนตราสารหนี้ หรือ พันธบัตร คาดว่าจะมีผลตอบแทนที่สดใสดีกันถ้วนหน้า เพราะการปรับตัวลดลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้ แต่แววไม่สดใสเริ่มเกิดขึ้นในเดือน เมษายน ที่ผ่านมา เมื่อหลายแห่งเชื่อว่า ดอกเบี้ยคงจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากราคาน้ำมัน และสินค้าเกษตร เป็นหลัก

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ที่มีผลตอบแทนโดยรวมในไตรมาสแรกลดลงจากต้นปี ก็อาจทำให้กองทุนแบบผสมของบางท่านมีผลตอบแทนไม่สวยสดใสในระยะนี้ แต่ยังไม่สายนะคะ ทุกกองทุนยังมีโอกาสปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับภาวะการลงทุน และการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละกองทุน ซึ่งอาจต้องจับเข่าคุยกับบริษัทจัดการของท่านเป็นราย ๆ ไป แต่อย่าลืมคิดถึงเงินเฟ้อเป็นการบ้านตัวใหม่ด้วยแล้วกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น