xs
xsm
sm
md
lg

มาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ คุยกับผู้จัดการกองทุน
จันทนา กาญจนาคม
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ - ลูกค้าสถาบัน
บลจ. อยุธยา จำกัด


ถ้าจะพูดเรื่องของมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าจะพูดถึงเรื่องมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่กันเลยทีเดียว จริง ๆ แล้วการประกาศให้บริษัทจัดการต้องขออนุมัติการกำหนดอัตราผลตอบแทนมาตรฐาน เพื่อวัดผลการดำเนินงานของกองทุน

จากคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีมาตั้งแต่ปี 2550 นั้นแล้วก็ตาม แต่จากประสบการณ์จากการประชุมใหญ่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ผ่านมานี้ บริษัทจัดการหลาย ๆ แห่ง กลับพบว่า คณะกรรมการกองทุนโดยส่วนใหญ่ ยังไม่ทราบตนเองเลยด้วยซ้ำว่าตนเองเป็นผู้อนุมัติเกณฑ์การกำหนดมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปตั้งแต่เมื่อไหร่ !

ต้องยอมรับกันว่าการที่คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่ที่กล่าว ไม่ได้สนใจที่จะทราบว่ามีการประกาศในเรื่องของการกำหนดมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น สาเหตุหลักคงเป็นเพราะมาตรฐานดังกล่าวเพิ่งจะมีประกาศใช้ ทั้ง ๆ ที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2527 คณะกรรมการกองทุนฯ และสมาชิกกองทุนฯ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน นั้น มีการกำหนดมาตรฐานสำหรับการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นการส่วนตัวไว้เรียบร้อยแล้ว เรื่องนี้เป็นความจริง และเป็นความจริงที่น่าแปลกใจว่า สมาชิกกองทุนฯ แทบจะเกือบทุกคน และทุก ๆ กองทุนฯ พร้อมใจใช้มาตรฐานเดียวกันหมด โดยไม่ได้นัดหมาย คือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ !!!

ในฐานะของผู้เกี่ยวข้องอยู่ในธุรกิจการเงินและการลงทุนมานาน จึงไม่สงสัยเลยว่า ทำไมถึงเกิดมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานที่สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งอาจถือได้ว่า เป็นมาตรฐานค่านิยมสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปแล้ว เนื่องจากคนไทยมีความคุ้นเคยกับการสร้างผลประโยชน์จากเงินที่มีอยู่เพียงแค่การฝากเงินกับธนาคารและรับดอกเบี้ยเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเพียงแหล่งเดียวมาตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม เราควรจะต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องของมาตรฐานการวัดผลที่เป็นรูปแบบที่ถูกต้องกันบ้างแล้ว อาจจะไม่สามารถเข้าใจได้รวดเร็ว โดยเฉพาะสมาชิกกองทุน หรือกรรมการที่ไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ทางการเงิน แต่บริษัทจัดการก็จะต้องพยายามทำความเข้าใจกับกองทุนไปเรื่อย ๆ โดยสม่ำเสมอ

เหตุผลที่เป็นข้อดี สำหรับสมาชิกกองทุนฯ และกรรมการกองทุนฯ ที่ควรจะยอมรับในการใช้เกณฑ์มาตรฐานนั้น จะทำให้สมาชิกรู้จักแหล่งของการลงทุนที่บริษัทจัดการ นำเงินของสมาชิกไปลงทุน และผลตอบแทนที่ควรจะได้รับที่แท้จริงได้  หลาย ๆ ครั้ง ในอดีตที่ผ่านมาสมาชิกกองทุนฯ และกรรมการกองทุนฯ ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเป็นเกณฑ์การวัดผลงานของบริษัทจัดการในการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขณะที่กองทุนฯ นำเงินไปลงทุนทั้งในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ ซึ่งในบางปีตลาดเหล่านั้น ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากมาก ๆ ผลตอบแทนของกองทุนฯ ก็จะสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากมาก แต่กรรมการกองทุนฯ หรือสมาชิกกองทุนฯ ไม่มีโอกาสทราบเลยว่าผู้จัดการกองทุนของตนนั้นเก่งจริงเช่นที่คิด (เอาเอง) หรือไม่
ยกตัวอย่างย้อนกลับไปในปี 2546 ที่ผ่านมา ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารมีอัตราร้อยละ 1% ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปีเดียวกันนั้น สูงถึง 116% หากกองทุนใดมีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ แต่มีผลตอบแทนเพียง 3 – 4% ถึงแม้ว่าจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมาก ก็ไม่ควรจะถือว่ามีผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจแต่อย่างใด ในปีดังกล่าว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บางกองทุนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีผลตอบแทนสูงถึงตั้งแต่ 15% ไปถึง 30% กันเลยทีเดียว คำถามคงตามมาว่า แล้วทำไมกองทุนที่ลงทุนในการลงทุนประเภทเดียวกัน ทำไม่ถึงมีผลตอบแทนไม่เท่ากัน คำตอบก็คือ สัดส่วนของการลงทุนในประเภทการลงทุนเดียวกันนั้น ๆ เท่ากันหรือไม่ สาเหตุเหล่านี้ก็คือที่มาของหลักเกณฑ์ในการคำนวณมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ประกาศใช้ในปี 2550 ที่ผ่านมา และอัตราผลตอบแทนมาตรฐานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ละกองทุน อาจจะไม่ใช่อัตราเดียวกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายและสัดส่วนการลงทุนของกองทุนนั้น ๆ ด้วย

ขอสรุปหลักเกณฑ์ในการกำหนดมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานดังกล่าว โดยคร่าว ๆ (เพื่อไม่ให้เข้าใจยาก) โดยแบ่งตามแหล่งการลงทุนหลัก ๆ เพียง 3 ตลาดที่ลงทุน คือ

เงินฝาก = อัตราผลตอบแทนของเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ x สัดส่วนการลงทุนที่กำหนดในนโยบายของกองทุนฯ

ตราสารหนี้ = อัตราผลตอบแทนของพันธบัตร / หุ้นกู้ x สัดส่วนการลงทุนที่กำหนดในนโยบายของกองทุนฯ

ตราสารทุน = อัตราผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ x สัดส่วนการลงทุนที่กำหนดในนโยบายของกองทุนฯ


หมายเหตุ : กรณีที่กำหนดสัดส่วนการลงทุนเป็นช่วง เช่น 20 – 50% สามารถกำหนดสัดส่วนที่มาคำนวณเท่าไหร่ก็ได้แต่ต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงที่กำหนดไว้ ( ตัวอย่างเช่น (50 – 20)/2 = 30/2 = 15 ดังนั้น สัดส่วนที่กำหนดต้องไม่น้อยกว่า 15%)

การกำหนดสัดส่วนในนโยบายการลงทุน คณะกรรมการกองทุนฯ ต้องพิจารณาด้วยว่ามีความสมเหตุสมผลเพียงใด เช่น สัดส่วนเงินฝากที่มีผลตอบแทนต่ำสุดเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น ๆ แต่กำหนดสัดส่วนไว้สูงถึง (0 – 100%) ดังนั้น อัตราผลตอบแทนมาตรฐานที่คำนวณได้ก็จะมีอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น คณะกรรมการกองทุนฯ ควรจะพิจารณาในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างการคำนวณอัตราผลตอบแทนตามมาตรฐาน (Benchmark)

กองทุนตราสารหนี้
- เงินฝาก = 2.50% ต่อปี x 10% ของ NAV. (สัดส่วนตามนโยบาย 2 – 15)
- ตราสารหนี้ = 5.50% ต่อปี x 90% ของ NAV. (สัดส่วนตามนโยบาย 20 – 100)
Benchmark = 5.20%

กองทุนผสม
- เงินฝาก = 2.50% ต่อปี x 10% ของ NAV. (สัดส่วนตามนโยบาย 2 – 22)
- ตราสารหนี้ = 5.50% ต่อปี x 80% ของ NAV. (สัดส่วนตามนโยบาย 20 – 100)
- ตราสารทุน = 26.70% ต่อปี x 10% ของ NAV. (สัดส่วนตามนโยบาย 0 – 20)
Benchmark = 7.32%
กำลังโหลดความคิดเห็น