xs
xsm
sm
md
lg

KTAM - INGผุดกองเกาหลีใหม่ ไม่กังวลยิลด์ลดจากอัตราแลกเปลี่ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระแสการออก ขายกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ยังมีต่อเนื่อง แม้ส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนฉุดผลตอบแทนลดลง ล่าสุด 2 บลจ.ใหญ่ เปิดขายกองทุนใหม่ในช่วงเดียวกัน "กรุงไทย"ส่งกองตราสารหนี้ต่างประเทศ6เดือนรุ่น 7 พร้อม กองตราสารหนี้ปันผลออกขาย พร้อมปันผลอีก 2 กอง ขณะที่ "ไอเอ็นจี"ส่ง "ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล อินคัม"ชิมลางลูกค้าตั้งแต่วันนี้ - 22 พ.ค.

นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทจะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุน โดยการเปิดจำหน่ายกองทุนประเภทตราสารหนี้ ที่ลงทุนทั้งในและ ต่างประเทศให้กับลูกค้าได้เลือกตามความเหมาะสม ในระหว่างวันที่ 20-26 พฤษภาคม 2551 บริษัทจะเปิดจำหน่ายหน่วยลงทุนกองทุนรวมกรุงไทยตราสารการเงินคุ้มครองเงินต้น 36 ( KT3M36) อายุโครงการ 3 เดือน มูลค่า2,000 ล้านบาท

สำหรับ กองทุน KT3M36 มีนโยบายลงทุนในตราสารที่มุ่งจะให้เกิดความคุ้มครองเงินต้น ได้แก่ ตราสารภาครัฐไทย ตั๋วสัญญาใช้เงินหรือ บัตรเงินฝากที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือบัตรเงินฝาก ที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ออก หรือทรัพย์สินอื่นที่มีความเสี่ยงต่ำหรือมีความเสี่ยงเทียบเคียงได้กับตราสารภาครัฐไทย ทั้งนี้ โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

โดยกองทุนจะลงทุนในตราสารข้างต้นเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 98ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ และต้องการลงทุนในกองทุนที่คุ้มครองเงินต้น พร้อมทั้งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์

นอกจากนี้บริษัทจะเปิดจำหน่ายหน่วยลงทุนกองทุนรวมกรุงไทยตราสารต่างประเทศ6เดือน7(KTFIF6M7) ในระหว่างวันที่ 21-27 พฤษภาคม มูลค่าโครงการ 3,100 ล้านบาท อายุ 6เดือน ซึ่งมีนโยบายลงทุน โดยเน้นลงทุนในเงินฝากในสถาบันการเงิน ตราสารแห่งหนี้ หรือตราสารทางการเงินอื่นใด ที่มีคุณภาพในต่างประเทศเป็นหลัก เช่น พันธบัตรภาครัฐประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือจะลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) อยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) และกองทุนจะทำการป้องกัน ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน

นายสมชัย กล่าวถึง สถานการณ์การลงทุนในพันธบัตรภาครัฐของประเทศเกาหลีใต้ ว่า ยังมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนอย่างมาก จากการแข็งค่าของเงินสกุลดอลล่าห์สหรัฐฯ ทำให้ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลวอนเมื่อแปลงกลับมาเป็นสกุลบาทเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้เมื่อแปลงเป็นสกุลบาทเริ่มปรับลดลงบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในภาวะที่สามารถลงทุนได้ และมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐของไทยที่มีอายุใกล้เคียงกัน

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการจัดการลงทุนของบริษัท ได้มีมติให้จ่ายเงินปันผล 2 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ปันผล ( KTDF) ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานในรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 30 เมษายน 2551 ในอัตรา0.30 บาทต่อหน่วย โดยบริษัทจะทำการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุนในวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 และจะทำการจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 พร้อมกับจ่ายเงินปันผลกองทุนเปิดกรุงไทยหุ้นระยะยาว ( KTLF) ในอัตรา0.15 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานในรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 30 เมษายน 2551 โดยบริษัทได้ทำการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุนในวันที่ 15 พฤษภาคม 2551 และจะทำการจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 พฤษภาคม 2551

โดยกองทุนKTDF ถือเป็นกองทุนตราสารหนี้ทั่วไปที่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผล เหมาะสำหรับลูกค้านิติบุคคลที่มีสภาพคล่องเหลือ หรือต้องการพักเงินเพื่อรอจังหวะลงทุน โดยแนวทางการบริหารจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตามภาวะตลาด ซึ่งการคัดเลือกตราสารหนี้ที่จะลงทุนจะคำนึงถึงมูลค่าผลตอบแทนที่เหมาะสม สภาพคล่อง และคุณภาพของตราสารหนี้ โดยตราสารหนี้ภาคเอกชนจะลงทุนเฉพาะที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ 2 อันดับแรกเป็นหลัก สำหรับพอร์ตการลงทุน ณ. วันที่ 30 เมษายน2551 กองทุน KTDF มีสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรภาครัฐของไทยร้อยละ 63.4 ตราสารหนี้และเงินฝากระยะสั้นในสถาบันการเงินร้อยละ 9.8 ลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อสองอันดับแรกขึ้นไปในอัตราร้อยละ 15.6 ถือเงินสดและเงินฝากธนาคารร้อยละ 11.2 สำหรับผลตอบแทนของกองทุน KTDF ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2551 อยู่ที่ประมาณ 5.48 % ต่อปี

ส่วน KTLF บริษัทบริหารกองทุนให้สามารถจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอทุกปีและได้ผลตอบแทนที่ดี ในปี 2550 ผลตอบแทนของกองทุนอยู่ที่ 37.4% สูงกว่า SET INDEX ซึ่งอยู่ที่ 26.2% และ SET 50 INDEX อยู่ที่ 33.3 % และในปี 2551 บริษัทก็สามารถบริหารกองทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอ แม้ว่า ผลตอบแทนของ SET INDEX และ SET 50 INDEX ใน 4 เดือนแรกของปีนี้ ( ม.ค.- เม.ย. 2551) จะติดลบถึง -3% และ -5% แต่กองทุนKTLF มีผลตอบแทนอยู่ที่ 0.26% ซึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทให้ความสำคัญกับการเลือกหลักทรัพย์และจัดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี มีราคาเหมาะสม ทำให้ความเสี่ยงจากความผิดพลาดในการเลือกหุ้นต่ำ ประกอบกับใช้การกระจายความเสี่ยงและให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

INGร่วมด้วยส่งกองใหม่ออกขาย

ด้าน นายจุมพล สายมาลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัท อยู่ระหว่างการเสนอขาย กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล อินคัม 6M1 (ING II6M1) ซึ่งมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดีที่ออกโดยภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน หรือภาคเอกชนของต่างประเทศ อายุประมาณ 6 เดือน มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ากองทุนดังกล่าวจะให้ผลตอบเเทนอยู่ประมาณ 3.35% ต่อปี สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ 6 เดือนหลังหักภาษีอีก โดยจะเปิดขายหน่วยลงทุนตั้งเเต่วันนี้ถึงวันที่ 22 พฤษาภาคม 2551

“เราเชื่อว่า กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล อินคัม 6M1 ซึ่งเน้นการลงทุนระยะสั้นเพียง 6 เดือน จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่ต้องการหาแหล่งลงทุนเพื่อพักเงินในระยะสั้นๆ เนื่องจากขณะนี้หากประเมินจากทิศทางดอกเบี้ยแล้ว พบว่าดอกเบี้ยอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา สูงถึง 6.2% ขณะที่ตัวเลข 4 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 5.3% ซึ่งถือเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ทิศทางดอกเบี้ยคงไม่ปรับตัวลดลง

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ ก็พบว่ายังไม่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะจะกระทบกับตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ในช่วงที่ดอกเบี้ยทรงตัวเช่นนี้ การลงทุนในตราสารระยะสั้นๆ เพื่อรอความชัดเจนจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทางหนึ่ง” นายกำพล กล่าว

ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ เงินฝาก หรือตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note) หรือ Credit Linked Note ที่มีการจัดลำดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือผู้ออกตราสารจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

อย่างไรก็ตาม กองทุน ING II6M1 จะเน้นลงทุนโดยตรงในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลี ซึ่งถือเป็นตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับสูง โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เอส อนด์ พี จัดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีระยะสั้นอยู่ที่ F1 ซึ่งสูงกว่าประเทศไทยที่อยู่ F2 ขณะที่ความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีระยะยาวอยู่ที่ A สูงกว่าประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ BBB+
กำลังโหลดความคิดเห็น