xs
xsm
sm
md
lg

“MENA”เสน่ห์ยั่วยวนเกินห้ามใจ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“MENA” ชื่อลักษณะนี้หลายคนมักจะนึกถึง หญิงงาม ทรวดทรงสโอดสะอง หากแต่ความจริงแล้วเป็นชื่อย่อจาก ME ที่หมายถึง Middle East และ NA คือ Nort Africa

เมื่อแปลเป็นไทยแล้วน่าจะเรียกว่า กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และแอฟริการเหนือ ที่ประกอบไปด้วย 20 ประเทศในแถบนี้ ตัวอย่างเช่น ซาอุดิอารเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาเรนห์ อียิปซ์ จอร์แดน คูเวต เลบานอน ลิเบีย โมร็อคโค ตูนิเซีย เป็นต้น

การที่เอ่ยถึงประเทศในกลุ่มนี้ใช่ว่าจะมาพูดถึงเรื่องน้ำมัน ราคา หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นของมันแต่อย่างใด สิ่งที่จะมาบอกกล่าวกัน เป็นเรื่องเศรษฐกิจ และความน่าสนใจของประเทศในแถบนี้มากกว่า
เป็นที่ทราบกันดีว่า BRIC หรือ Emerging Market ถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่หลายคนให้ความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนักลงทุนมองศักยภาพเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้ว่าเป็นโอกาสที่เหมาะต่อการลงทุน และแสวงหาผลตอบแทนจากการขยายตัวในด้านต่างๆ

แต่ใครจะรู้บ้างว่าหากพูดถึงปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนแล้ว “MENA” เองก็ไม่ต่างจากหญิงงามที่มีเสน่ห์อย่างที่เข้าใจกันนั่นเอง
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ รองประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กสิกไทย จำกัด เล่าว่า ศักยภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนของประเทศในกลุ่มนี้มีอยู่หลายด้านประกอบกัน ทั้งในเรื่องของการเป็นแหล่งทรัพยากรพลังงานของโลก โดยมีปริมาณน้ำมันสำรองถึง 70% ของปริมาณสำรองโลก และการขยายตัวของ จีดีพี ภายในประเทศที่สูงถึง 5.8% ในปี 2007 และคาดว่าสูงถึง 6.1% ในปีนี้

อัตราการขยายตัวที่เวิลด์แบงก์คาดการณ์ไว้ในปีนี้สูงถึง 6.1% ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกเพียง 4.8% และอาจจะลดลงด้วยจากราคาน้ำมันทีสูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อ แต่กลับกันเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นเศรษฐกิจของประเทศในแถบนี้กลับโตมากขึ้น

นอกจากนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐที่ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีรายได้ประมาณ 5 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี ทำให้มีโครงการที่จะ ก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การเงิน การบริการ และปิโตรเคมี มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายใน 5-10 ปีต่อจากนี้

การลงทุน รายได้และการบริโภคที่แข็งแกร่ง
วิวรรณ บอกอีกว่า การพัตนาในด้านต่างๆ อย่าง เมืองดูไบ ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อต้องการส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางในด้านการเงิน และการลงทุน ซึ่งเป็นแนวทางที่คล้ายคลึงกันในเกือบทุกประเทศแถบนี้ ทำให้รายได้ต่อหัวต่อคนในภูมิภาคนี้สูงถึง 1.75 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขรายได้ที่สูงกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่อีกด้วย

ขณะที่ ปัจจัยการขยายตัว และการบริโภคที่สำคัญจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุของประชากร ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าจำนวนประชากรในวัยทำงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีการดึงอพยพถิ่นฐานของประชากรจากทั้งทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกาเข้ามาประกอบอาชีพเป็นจำนวนมากทำให้ แนวโน้มการบริโภคจากผู้มีรายได้ในวันทำงานสูงขึ้นไปอีก

“คนในประเทศแถบนี้ อย่างดูไบ มีรายได้สูง ของแบรนด์เนมที่มาตั้งช้อปมียอดขายดีมาก ส่วนด้านอสังหาริมทรัพย์เองที่สร้างมาก็มีดีมานความต้องการบริโภคจริงอยู่ ซึ่งแต่ละโครงการอย่างโครงการดีๆ ราคาแพงยังเปิดขายหมดในเวลาไม่นาน”

หุ้นถูก การเติบโตสูง
นางวิวรรณ บอกอีกว่า อีกปัจจัยที่ส่งเสริมให้ประเทศในกลุ่มนี้มีความน่าสนใจเข้าไปลงทุนคือ การที่ตลาดหุ้นมีการคาดว่าจะขยายตัวสูงกว่า 20-25% ในขณะที่ค่า P/E อยู่ที่ 15 เท่า ซึ่งถูกกว่าประเทศในตลาดเกิดใหม่ แต่มีการเติบโตที่สูงกว่า และการขยายตัวเช่นนี้ถือว่ายังไม่น่ากลัวเกินไป เพราะสถิติที่ผ่านมาประเทศในแถบนี้เคยเติบโตมากกว่านี้ และมีค่า P/E สูงถึง 40 เท่าในช่วงปี 2005-2006 ซึ่งเกิดจากการเก็งกำไรของนักลงทุนรายย่อย

นอกจากนี้ ความน่าสนใจของตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้ จะอยู่ที่การส่งเสริมการจดทะเบียนของบริษัทขนาดใหญ่ โดยในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีกว่า 2,000 ที่รอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้นในอนาคต

สำหรับจุดเด่นของตลาดทุนอีกประการของกลุ่มประเทศแถบนี้คือการที่ ตลาดหุ้นจะมีความสัมพันธ์กับดัชนีหุ้นอื่นๆ ที่สำคัญค่อนข้างต่ำ ทำให้เป็นผลดีต่อภาวการณ์ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังมีความผันผวน

“มาร์เก็ตแคปของกลุ่มประเทศนี้เพิ่มขึ้นจาก 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2002 มาเป็น 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2008 และบางประเทศอีกยังมีโอกาสได้รับเลือกเข้ารวมในดัชนี MSCI เป็นประเทศตลาดเกิดใหม่แทน เกาหลี และไต้หวัน ที่ถูกปรับให้เป็นประเทศพัฒนาอีกด้วย”

ความเสี่ยงในการลงทุน
ด้านความเสี่ยงในการลงทุนส่วนใหญ่จะเหมือนกับการลงทุนในต่างประเทศทั่วไปคือเรื่องของ ค่าเงิน แต่ที่เป็นห่วงกันมากที่สุดกับคำถามยอดฮิตคือเรื่องของ สงคราม และการก่อการร้าย

คุณวิวรรณ มีคำตอบในเรื่องว่า ความกังวลเรื่องปัญหาสงคราม หรือการก่อการร้ายที่จะส่งผลกระทบให้ความลงทุนมีความเสี่ยงนั้น สถาการณ์ในปัจจุบันจะมีผลกระทบแค่ในประเทศที่เกิดเหตุเท่านั้น ซึ่งจากสถิติผลกระทบดังกล่าวจะกลับฟื้นมาได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ทั้งนี้ในส่วนประเทศอย่างอีรัก และอีหร่าานนั้น ถ้าหากมองเรื่องของราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นแล้ว เชื่อว่าประเทศเหล่านี้เองไม่อยากให้มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นเช่นกัน โดยขณะนี้อีรักเองมีความพยายามปรับตัวในเรื่องการส่งออกน้ำมัน และปรับปรุงระบบต่างๆ เพื่อให้มีการส่งออกได้มากขึ้น หลังจากที่ก่อนหนัานี้ต้องเผชิญกับปัญหาสงคราม

"จากนี้ต่อไปเรื่องความรุนแรงจะเห็นน้อยลง และหากมองราคาน้ำมันที่ 120 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลล์แล้ว ตอนนี้แต่ละประเทศจะมุ่งเรื่องการส่งออกน้ำมันมากกว่า อีรักเองยังหันมาดูแลในเรื่องของท่อและระบบส่งน้ำมัน หลังจากต้องจดจ่อกับเรื่องของสงครามมานาน อีกทั้งมาตรการป้องกันต่างที่ได้สัมผัสมาดูจะเข้มงวดเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรการลงทุนของกองทุนนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนแบบแอททีฟได้ โดยจะโยกเงินไปลงทุนในแอฟริกาเหนือได้อีกด้วย"

น่าจะครบถ้วนพอสมควรกับเสน่ห์ และส่วนที่เป็นปัจจัยลบของ สาว“MENA” ซึ่งหากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการบริโภคเป็นดังตัวเลขหรือสถิติที่ออกมา เชื่อว่ากลุ่มประเทศแถบนี้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีของนักลงทุนในการกระจายความเสี่ยงได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุณวิวรรณ มักย้ำเสมอในการนำเสนอข้อมูลนี้ คือการลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนทุกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น