xs
xsm
sm
md
lg

บัวหลวง money tips : กองทุนรวมเพื่อการศึกษา อีกหนึ่งความพยายามเพื่อเด็กไทย (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่มีใครปฏิเสธว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วระดับการศึกษาเฉลี่ยของประชากรจะสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด โดยในสหรัฐอเมริกามีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไปรวมกัน 26.5% ของประชากรทั้งประเทศ และยังมีผู้ได้รับการศึกษาในระดับปริณญญาตรีแต่ไม่จบ Course 17.2% กับระดับ Associate Degree อีก 8.2%

จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือนกันยายน 2549 พบว่า ประชากรไทย ประมาณ 65 ล้านคน มีพื้นฐานความรู้ระดับอุดมศึกษา เพียง 5,800,000 คน หรือคิดเป็น 11.6% และจากสถิติข้อมูลระดับการศึกษาของประชากรไทยก็ยังพบว่า ในปี 2548 ประชากรไทยยังมีปีการศึกษาเฉลี่ยต่อคนคิดเป็น 8.3 ปีเท่านั้น โดยผู้อยู่ในวัย 18 ปีขึ้นไปมีการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่าถึง 62%

สาเหตุหนึ่งก็คือเรื่องงบประมาณสนับสนุน และข้อจำกัดด้านการเงินของพ่อแม่ที่จะส่งลูกให้เรียนสูงๆ ของคนไทย แม้ว่าจะมีการให้ทุนเรียนดี และมี กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการอยู่ดี นอกจากนี้ ในช่วงเปิดเทอมของทุกปี โรงรับจำนำยังคงมียอดรับจำนำเฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่าทุกๆ ช่วง เนื่องจากเป็นช่วงใกล้เปิดภาคเรียน ผู้ปกครองต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากสำหรับการศึกษาของเด็กในอุปการะ หากไม่มีการเตรียมเงินเอาไว้ก่อน ขาดการวางแผนล่วงหน้าทางการเงินที่ดี โรงรับจำนำก็จะเป็นที่พึ่งพาสำหรับผู้ที่ยังพอมีสิ่งของไปจำนำได้

สำหรับ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่มีอยู่นี้ นับตั้งแต่ปี 2539 ที่กองทุนเปิดดำเนินการมาจนถึงปี 2550 มีนักเรียนนักศึกษากู้เงินไปเรียนรวมแล้ว 2.7 ล้านคน เป็นเงินปล่อยกู้ประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีผู้ครบกำหนดชำระเงิน คืนเงินให้กองทุนจำนวน 1.5 ล้านราย แต่ปรากฏว่านักศึกษาที่เรียนจบไปแล้วมีอัตราการ “เบี้ยวหนี้” สูง โดยมีนักศึกษาที่จบการศึกษาไปแล้ว แต่ไม่ยอมชำระหนี้กองทุน ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในปีที่ผ่านมากว่า 6 หมื่นราย หรือประมาณกว่า 30% คิดเป็นวงเงินหนี้ค้างชำระกว่า 1 แสนล้านบาท แล้ว นับเป็นความเสียหายใหญ่หลวงทั้งๆ ที่กองทุนนี้ถือเป็นกองทุนที่ดี เพราะเปิดโอกาสให้นักเรียนที่เรียนดีประพฤติดี แต่ครอบครัวยากจน มีโอกาสจะได้เรียนต่อในระดับมัธยมปลาย ระดับอาชีวะ และระดับปริญญาตรีจนจบการศึกษา และมีข้อแม้ว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องรับผิดชอบผ่อนเงินที่กู้ไปเรียน คืนกองทุนภายใน 15 ปี มีระยะปลอดหนี้ 2 ปี รวมเป็น 17 ปี

แล้วจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ผู้ปกครองมีการวางแผนการศึกษาและการเงินไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปพึ่งพา กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่ว่านี้ และไม่ต้องไปพึ่งพาโรงรับจำนำ หรือไปกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยสูงมากๆ ได้

ในหลายประเทศที่เจริญแล้ว เขามีมาตรการจูงใจด้านภาษีเพื่อให้ประชาชนวางแผนการเงินเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายด้านการศึกษาในอนาคต โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีการสนับสนุนทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศหลากหลายรูปแบบมาก แต่โดยสรุปคือประเทศเหล่านี้เขาให้ความสำคัญกับการศึกษาของประชาชน วิธีใดที่ช่วยให้คนรู้จักเก็บเงินเพื่อการศึกษาในอนาคตเขาทำกันทั้งนั้น และเป็นการส่งเสริมให้ประชากรของเขารู้จักวางแผนล่วงหน้าทางการเงินและการศึกษาโดยใช้มาตรการทางภาษีเป็นสิ่งจูงใจ ซึ่งเป็นมิติมุมมองทางภาษีในแง่บวกต่อการพัฒนาประเทศ เพราะเขารู้ว่าผลของการศึกษาที่ดีจะมีคุณต่อเศรษฐกิจ และสังคม คุ้มค่ากับการยินยอมสูญเสียรายได้จากภาษีในวันนี้ไปบ้าง

ประเทศไทยเอง ก็กำลังมีความพยายามผลักดันให้มีการวางแผนทางการเงินเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการศึกษาผ่านกองทุนรวม และใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจูงใจ เหมือนกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและกองทุนรวมหุ้นระยะยาว กองทุนที่ว่านี้คือ “กองทุนรวมเพื่อการศึกษา” หรือ “Education Saving Mutual Funds (EMF)” ซี่งเป็นคนละโครงการกับ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เพราะว่า EMF นี้ ไม่ได้สนับสนุนให้เราไปกู้ยืมใคร แต่เป็นการสะสมเพื่อการศึกษาในอนาคตโดยผ่านกองทุนรวมที่จะนำเงินไปหาผลประโยชน์ตามนโยบายการลงทุนที่เราเลือก และรัฐจูงใจด้วยการให้เราประหยัดภาษีเงินได้จากเงินที่เราสะสมไปลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งจะมีข้อกำหนดชัดเจนว่าเงินลงทุนที่จะถอนออกไปจากกองทุนรวมจะต้องนำไปใช้ในเรื่องการศึกษาเท่านั้น จึงจะไม่ถูกเรียกคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับและไม่ถูกปรับ โดยในรายละเอียดอาจมีการกำหนดว่าเป็นการศึกษาประเภทใดที่ได้รับสิทธิประโยชน์นี้ หรืออาจให้สิทธิทั้งหมดไม่จำกัดว่าต้องเป็นการศึกษาระดับไหน ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงปริญญาเอก ก็สามารถใช้สิทธิประโยชน์นี้ได้

เดี๋ยวสัปดาห์หน้าเรามาว่าเรื่องกองทุนรวมเพื่อการศึกษาตอนจบกันต่อ...
กำลังโหลดความคิดเห็น