xs
xsm
sm
md
lg

เลิก30%ดันยอดซื้อขายบอนด์พุ่ง4หมื่นล.ThaiBMAเดินหน้าสู่การเป็นSROเต็มรูปแบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเผย ภายหลังยกเลิกมาตรการ 30% เพียง 1 เดือน มูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้ของต่างชาติพุ่งขึ้นไปแตะที่ระดับ 89,066 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 40,000 ล้านบาท พร้อมเดินเครื่องสู่การเป็น SRO เต็มรูปแบบในปีนี้ โดยนำซอฟท์แวร์ระบบ TMS ซึ่งเป็น Market Surveillance Software ที่พัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้วมาใช้เป็นครั้งแรก และเริ่มออกตรวจสอบสมาชิก เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในตลาดตราสารหนี้


นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผุ้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยภายหลังจากการยกเลิกมาตรการ 30% มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท และภายหลังจากการยกเลิกมาตรการ 30% ประมาณ 1 เดือน โดยการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 89,066 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบ 40,000 ล้านบาท แต่นับว่ายังห่างจากการประกาศใช้มาตรการ 30% ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 130,000 ล้านบาทอยู่พอสมควร โดย 2% เป็นการการซื้อขายตราสารหนี้แบบซื้อขายขาด (Outright) แต่ยังมองว่ามีโอกาสที่จะกลับไปอยู่ที่ระดับเดิมได้

สำหรับมูลค่าการซื้อขายแบบ Outright ในไตรมาสแรกอยู่ที่ 62,800 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการซื้อขายแบบ Outright สิ้นสุดเดือนเมษายนอยู่ที่ 84,000 ล้านบาท โดยการซื้อขายแต่ละวันส่วนใหญ่ยังคงเน้นซื้อขายในพันธบัตร ธปท. แต่ถ้าตัดพันธบัตร ธปท. ออก จะเห็นว่าปริมาณการซื้อขายแบบ Outright เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 9,970 ล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 10,770 ล้านบาท

ส่วนภาคเอกชนมีหุ้นกู้ที่ออกใหม่มากขึ้นอยู่ที่ 65,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 75% จาก 4 เดือนแรกของปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นการออกจากสถาบันการเงิน เพื่อรองรับการกองทุนขั้นที่ 2 ของธนาคารพาณิชย์ และขยายสินเชื่อ และในอนาคต ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้ออกรายใหญ่ เพราะการเพิ่มทุนในตลาดหุ้นทำได้ลำบาก เพราะว่าดัชนีไม่เพิ่มมาก ทำให้มีต้นทุนแพงขึ้น จึงหันมาออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์แทน

นายณัฐพล กล่าวว่า พันธบัตรรัฐบาลในช่วง 4 เดือนแรกลดลง 44% โดยมีการออกประมาณ 74,000 ล้านบาท ขณะที่พันธบัตรของะนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วง 4 เดือนแรกอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 93% และอัตราดอกเบี้ยยังมีทิศทางที่นิ่ง โดยอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไม่เปลี่ยนแปลง ซึงเมื่อเดือนมกราคม 2551 อยู่ที่ 3.07% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในเดือนเมษายน 2551 อยุ่ที่ 3.04% อัตราดอกเบี้ย 3 เดือนเมื่อเดือนมกราคม 2551 อยู่ที่ 3.07% ขณะที่เดือนเมษายน 2551 อยู่ที่ 3.07% เท่าเดิม ส่วนอัตราดอกเบี้ย 6 เดือนเมื่อเดือนมกราคม 2551 อยู่ที่ 3.05% ขณะที่เดือนเมษายน 2551 อยู่ที่ 3.13%

ส่วนอัตราดอกเบี้ยระยะยาวมีการปรับเพิ่มขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ย 1 ปีเมื่อเดือนมกราคม 2551 อยู่ที่ 3.03% ขณะที่เดือนเมษายน 2551 อยู่ที่ 3.24% อัตราดอกเบี้ย 5 ปีเมื่อเดือนมกราคม 2551 อยู่ที่ 3.59% ขณะที่เดือนเมษายน 2551 อยู่ที่ 4.12% อัตราดอกเบี้ย 10 ปีเมื่อเดือนมกราคม 2551 อยู่ที่ 4.12% ขณะที่เดือนเมษายน 2551 อยู่ที่ 4.77% อัตราดอกเบี้ย 20 ปีเมื่อเดือนมกราคม 2551 อยู่ที่ 4.74% ขณะที่เดือนเมษายน 2551 อยู่ที่ 5.37% อัตราดอกเบี้ย 5 ปีเดือนเมษายน 2551 อยู่ที่ 5.55% โดยมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยลง ขณะที่ธปท.ไม่น่าจะปรับลดเช่นกัน ทำให้หลายฝ่ายมองว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงที่ทรงตัว และมีโอกาสปรับขึ้นได้ ขณะที่แนวโน้มในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้นหมดไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังมองว่าไม่เกิน 1-2 ปี ทาง ธปท.จะมีการออกพันธบัตรน้อยลง เพราะว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มทรงตัว แลละแก้ปัญหาขาดดุลได้มาก ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าการที่เงินดอลลาร์สหรัฐมากดดันด้วย ซึ่งความจำเป็นในการออกพันธบัตรไปแลกกับเงินดอลลาร์สหรัฐมีน้อยลงไป โดยส่วนใหญ่การซื้อขายตราสารหนี้เป็นการซื้อขายพันธบัตร ธปท.ประมาณ 80-90%

นายณัฐพลกล่าวว่า จากการที่ ThaiBMA ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการคลังเพื่อส่งเสริมการเป็นองค์กรกำกับดูแลสมาชิก (Self Regulatory Organization/ SRO) และศูนย์ข้อมูลตลาดตราสารหนี้ (Information center) โดยโครงการดังกล่าวซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อปีที่ผ่านมานั้น ได้ช่วยให้ ThaiBMA มีความพร้อมเต็มที่ในการทำหน้าที่ ส่วนแผนงานหลักของ ThaiBMA ในปีนี้ว่าจะมุ่งเน้นการดำเนินงานในฐานะ SRO อย่างเต็มรูปแบบ คือ การทำหน้าที่กำกับดูแลสมาชิกให้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และจรรยาบรรณที่กำหนด โดยนอกเหนือจากการติดตามภาวะการซื้อขายประจำวันที่ดำเนินการอยู่แล้ว ในปีนี้จะเริ่มทำการตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายโดยใช้ Market Surveillance Software ตัวใหม่ที่เรียกว่า ระบบ TMS ที่พัฒนาขึ้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว

สำหรับพฤติกรรมที่สามารถทำการตรวจสอบโดยใช้ซอฟท์แวร์ได้แก่ การซื้อขายในราคาหรือปริมาณที่ผิดปกติ (Price/ Volume manipulation) การซื้อขายเพื่อทำราคาปิด (Mark the close) การซื้อขายกลับไปมาเพื่อหลบเลี่ยงการบันทึกบัญชีสิ้นงวด (Parking) พฤติกรรมการกดราคารับซื้อจากลูกค้ารายย่อย หรือการขายในราคาสูงเกินไป (Excessive markup/ markdown) เป็นต้น

'การเอาซอฟท์แวร์นี้มาใช้ทำให้เราสามารถตรวจสอบพฤติกรรมต่างๆได้สะดวกรวดเร็ว และตรวจจับรูปแบบพฤติกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้นได้ เพราะในบางครั้งจำเป็นต้องเรียกดูข้อมูลย้อนหลังจำนวนมากเพื่อดูความสัมพันธ์ของคู่ค้า หรือรูปแบบของพฤติกรรมที่อาจแตกต่างกันได้ TMS ถือเป็น Market Surveillance Software ตัวแรกของตลาดตราสารหนี้ในแถบเอเชีย เพราะเท่าที่ใช้กันตอนนี้มีแต่ Surveillance Software ด้านตลาดหุ้น ดังนั้น เป็นไปได้ที่ในอนาคตเราจะนำ software และ know how จากการพัฒนาไปถ่ายทอดหรือขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านก็ได้' นายณัฐพลกล่าว

สำหรับการทำหน้าที่ในฐานะศูนย์ข้อมูลตราสารหนี้นั้น ThaiBMA ก็ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาที่จะจัดทำเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Yield Curve) แบบกึ่ง Real-time โดยใช้ราคาซื้อขายตราสารหนี้ระหว่างวันที่สมาชิกรายงานเข้ามายัง ThaiBMA ซึ่งจะทำให้ตลาดมีข้อมูลความเคลื่อนไหวของ Yield Curve ระหว่างวันโดยไม่ต้องรอจนถึง 16.00 น.ดังเช่นในปัจจุบัน โดยจะมีการรายงานเพิ่มเข้ามาเป็น 2 ช่วง คือในช่วง 12.00-13.00 น. และช่วงเวลา 16.00 น. โดยจะเริ่มเดือนกรฎาคม 2551 ส่วน Spread Curve ซึ่งสามารถให้รายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่าเดิม จะช่วยให้การออกตราสารหนี้สามารถคำนวณได้อย่างแน่นอนมากขึ้น คาดว่าจะเริ่มเดือนกรกฎาคมนี้เช่นกัน ขณะที่ Zero Coupon Yield Curve เพื่อใช้คำนวณ Swap Curve และ Forward Curve คาดว่าจะเริ่มเดือนกรกฎาคมนี้เช่นกัน

ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานด้าน SRO ของ ThaiBMA ในขณะนี้ได้เริ่มออกไปตรวจสอบสมาชิก (Field inspection) แล้ว ซึ่งถือเป็นการออกตรวจสอบประจำปีเป็นครั้งแรก ขอบเขตของการตรวจสอบจะครอบคลุมการทำธุรกรรมในตลาดรองด้านตราสารหนี้ เช่น นโยบายการปฏิบัติงานด้านตราสารหนี้ขององค์กร การเสนอราคาซื้อขาย การรายงานข้อมูลซื้อขาย เป็นต้น โดยภายในปีนี้จะเข้าไปตรวจสอบเพียง 8-9 บริษัทจากสมาชิกที่มีทั้งหมด 52 บริษัท และจะดูจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณธุรกรรม เป็นต้น และส่วนใหญ่ที่มีการกระทำผิดมากที่สุดคือการซื้อขายในราคาหรือปริมาณที่ผิดปกติ และพฤติกรรมการกดราคารับซื้อจากลูกค้ารายย่อย หรือการขายในราคาสูงเกินไป

'การออกตรวจสอบสมาชิกในปีแรก คงไม่ได้เน้นในเรื่องการจับผิดสมาชิก แต่ต้องการไปทำความเข้าใจในระบบปฏิบัติงานด้านตราสารหนี้ของสมาชิกแต่ละแห่ง และให้คำแนะนำเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเท่าที่เราไปก็ได้รับความร่วมมือจากสมาชิกเป็นอย่างดี'
กำลังโหลดความคิดเห็น