คำว่าอนาคต...บางคนตีความหมายถึงสิ่งที่อยากทำ อยากเป็น อยากมี จากการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน มิใช่ช่วงเวลาที่ยังมาไม่ถึง แต่น้อยคนที่สามารถถึงจุดหมายที่ตนเองตั้งเอาไว้
ช่วงชีวิตของคนเรามีวัฏจักรตามวัยของมัน เริ่มตั้งแต่วัยเด็กจนถึงแก่ชรา และตายจาก ซึ่งในแต่ละวัยเสมือนว่าคนบนโลกนี้ได้ถูกกำหนดเอาไว้แล้วว่า จะต้องดำเนินชีวิตอย่างไร โดยคนที่อยู่ในวัยทำงาน จะเป็นช่วงที่ต้องหารายได้เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต
แต่หากในปัจจุบันคนเราส่วนใหญ่มักจะมองกันไปถึงอนาคตว่า หลังจากทำงานใช้เงินไปวันๆ แล้วสิ่งที่ต้องวางแผนล่วงหน้าคือการออมเงินเพื่อการเกษียณ ซึ่งตอนนี้มีการส่งเสริมให้นอกจากวางแผนการดำเนินชีวิตแล้ว จะเน้นการวางแผนทางการเงินควบคู่กันไปด้วยมากขึ้น
การวางแผนทางการเงินมีอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งดั่งเดิมจะนิยมออมเงินฝากธนาคารเอาไว้ แต่ตอนนี้หลายคนเริ่มเปลี่ยนความคิดไปบางแล้ว และภาครัฐเองยังส่งเสริมให้มีการออมเงินเพื่อเกษียณอายุด้วยการลงทุนผ่านกองทุนรวมเพิ่มมากขึ้นด้วย
วันนี้"MutualFund IPO"จึงขอแนะนำกองทุนใหม่ ที่จะมาเป็นทางเลือกในการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอย่าง “กองทุนเปิดบัวหลวงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเลี้ยงชีพ “(IN-RMF)"
โดยกองทุนนี้จะมีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุนของบริษัทซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทั้งบริษัทในกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง ขนส่งและโลจิสติกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นางวรวรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง (บลจ.บัวหลวง) บอกถึงกองทุนนี้ว่า น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ เนื่องจากกองทุนนี้จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เนื่องจากมีปัจจัยบวกหลายอย่าง อีกทั้งกองทุนหุ้นในลักษณะเดียวกันที่บริษัทตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงทีผ่านมาอีกด้วย
สำหรับผลตอบแทนของกองทุนเปิดบัวหลวงโครงสร้างพื้นฐาน มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 47.04% ย้อนหลัง 3ปีอยู่ที่ 71.89% และย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ 366.30% ก็น่าจะมีผลตอบแทนในระดับเดียวกัน
“เดิมเรามีกองทุนเปิดบัวหลวงโครงสร้างพื้นฐาน ที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนเป็นอย่างมากและสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จึงนำนโยบายการลงทุนในธุรกิจกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานมาปรับใช้กับกองทุน RMF ที่ต้องลงทุนระยะยาว โดยปรับเปลี่ยนนโยบายบางส่วนให้สอดคล้องกับภาวะการลงทุนในปัจจุบันให้มากขึ้น”นางวรวรรณกล่าว
ปัจจัยบวกธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน
วรวรรณ บอกถึงปัจจัยบวกที่จะมีผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการระบบโครงสร้างพื้นฐานว่า ปัจจัยหนุนของธุรกิจประเภทนี้ ส่วนหนึ่งจะมาจาก การที่ในปัจจุบันเศรษฐกิจโดยรวมของโลกประสบปัญหาด้านเสถียรภาพจากราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งจากปัญหาภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจากปัญหาซับไพรม์
โดยจะทำให้ภาครัฐและและเอกชนส่วนใหญ่เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยนับจากนี้ไปจะต้องเติบโตจากปัจจัยการขยายตัวภายในประเทศเป็นหลัก ตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนในระยะยาว โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนทางด้านสาถารณูปโภค และปัจจัยพื้นฐานต่างๆ รวมถึงนโยบายของภาครัฐบาลที่มีการออกมาตรกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้เมื่อดูพื้นฐานของผลประกอบการ และแนวโน้มการขยายตัวของหุ้นในกลุ่มนี้ ยิ่งน่าจะเป็นตัวการันตีได้อย่างดีว่า หุ้นเหล่านี้น่าจะสร้างผลตอบแทนได้อย่างดี โดยผลการดำเนินงานปี 2550 ของหุ้นในกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน อย่าง พลังงานและสาธารณูปโภค มีกำไรสุทธิถึง 206,238 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวถึง 13% หุ้นในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีกำไร 23,425 ล้านบาท ขยายตัวถึง 11% หุ้นในกลุ่มขนส่ง และโลจิสติกส์มีกำไรสุทธิ 19,596 ล้านบาท ขยายตัว 10% และสุดท้ายหุ้นในกลุ่มวัสดุก่อสร้างมีกำไรสุทธิถึง 39,149 ล้านบาท และมีการขยายตัวถึง 5% เลยทีเดียว
การใช้จ่ายภาครัฐ
วรวรรณ บอกอีกว่า นอกเหนือจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว สิ่งที่เป็นปัจจัยบวกให้ธุรกิจประเภทนี้เติบโตได้ น่าจะมาจาการใช้จ่ายของภาครัฐต่อจากนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาภายในประเทศ ทำให้การลงทุนภาคการผลิต และในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนได้ชะลอตัวลง ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะหันกลับมาทบทวนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง โดยสังเกตได้จากการใช้งบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งในปีที่ผ่านมาถึงแม้จะมีการใช้งบประมาณขาดดุลเป็นจำนวนมาก แต่การลงทุนยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยที่ยังมีช่องว่างเหลืออยู่ทำให้ เมื่อสถานการณ์ภายในประเทศมีความลงตัวมากขึ้น การลงทุนในส่วนนี้น่าจะขยายตัวได้ตามการใช้จ่ายของภาครัฐบาลเอง
นอกจากนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจากการส่งออกน่าจะลดลงด้วยจาก การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้เชื่อว่าจากนี้ไปตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนเป็นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศเป็นหลักมากขึ้นได้