xs
xsm
sm
md
lg

Q&A corner : กองทุนอสังหาริมทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อหลายวันก่อนทางทีมงานได้รับคำถามจากคุณ จำมัย ส่งคำถามเข้ามาที่ fund@manager.co.th ดังนี้ครับ

คำถาม - สวัสดีครับ ขอถามคำถามเกี่ยวกับกองทุนอสังหาริมทรัพย์หน่อยครับ อยากจะถามว่า พอดีเห็นในหนังสือชี้ชวนบางกองทุนเขียนว่า "เป็นกองทุนประเภทไม่รับซื้อหน่วยลงทุนคืน แต่ผู้ลงทุนสามารถนำไปเปลี่ยนมือซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์" เท่าที่ผมเข้าใจคือนำไปซื้อขายในตลาดหุ้น เช่นเดียวกับซื้อขายหุ้นทั่วไป ถูกต้องไหมครับ และเมื่อเทียบกับการรับซื้อหน่วยลงทุนคืนแบบทั่วๆ ไปแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ในเรื่องสภาพคล่องและความสะดวก และวิธีนี้เหมาะกับใครไม่เหมาะกับใคร ขอบคุณครับ จัมมัย

ตอบ - ทางทีมงานเลยให้ทาง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี เป็นผู้ไขข้อข้องใจให้ครับ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทุกกองทุนเป็นกองทุนปิดที่ไม่กำหนดอายุโครงการ ซึ่งผู้ถือหน่วยทุกรายไม่สามารถขายหน่วยลงทุนคืนเพื่อรับเงินสดได้จนกว่าจะมีการเลิกโครงการ แต่ข้อกำหนดของกลต. บังคับให้ผู้จัดการกองทุน (บลจ.) ต้องนำหน่วยลงทุนไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยผู้ถือหน่วยลงทุนและผู้สนใจซื้อหน่วยลงทุนสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ผ่านช่องทางตลาดหลักทรัพย์

2.และเมื่อเทียบกับการรับซื้อหน่วยลงทุนคืนแบบทั่วๆ ไปแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ในเรื่องสภาพคล่องและความสะดวก และวิธีนี้เหมาะกับบุคคลประเภทใดและไม่เหมาะกับประเภทใด ตอบได้ดังนี้ สำหรับการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดแบบทั่วๆ ไป ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ที่ บลจ. หรือตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนตามราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน กรณีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ผู้ถือหน่วยลงทุนจะสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้เฉพาะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การลงทุนของกองทุนตราสารทุนและกองทุนตราสารหนี้สามารถแยกซื้อขายทรัพย์สินของกองทุน (หุ้นสามัญ ตราสารหนี้ ฯลฯ) เป็นส่วน ๆ ได้ โดยผ่านตลาดรองต่างๆ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดตราสารหนี้ เป็นต้น ในขณะที่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยทั่วไปมีลักษณะการลงทุนเป็นทรัพย์สินชิ้นใหญ่ ยกตัวอย่าง เช่นถ้าซื้ออาคารหนึ่งหลังมูลค่า 1,000 ล้านบาท เราจำเป็นต้องซื้อทั้ง 1,000 ล้านบาท ไม่สามารถแยกซื้อเป็นส่วนได้ และถ้าต้องการขายเพียง 100 ล้านบาท กองทุนมีความจำเป็นต้องขายอาคารทั้งหลังจะขายเพียงบางส่วนไม่ได้

ดังนั้นในเรื่องสภาพคล่องและความสะดวกในการลงทุนของกองทุนตราสารทุนและกองทุนตราสารหนี้จะมีมากกว่ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จึงมีความเหมาะสมสำหรับนักลงทุนที่มีเงินลงทุนที่สามารถถือหน่วยลงทุนได้ในระยะปานกลาง (3-5 ปี) ถึงระยะยาว (5 ปีขึ้นไป) และเงินที่ลงทุนควรเป็นเงินเย็นที่ไม่มีความจำเป็นต้องเบิกถอนในระยะเวลาสั้น

ข้อเด่นของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมถึงค่าธรรมเนียมประเภทต่าง ๆ ที่กองทุนรวมประเภทอื่นไม่มี อีกทั้งอสังหาริมทรัพย์ประเภทกรรมสิทธิโดยสมบูรณ์ (Free hold) ส่วนใหญ่มีอัตราการเพิ่มค่าของทรัพย์สินในอัตราที่สามารถเทียบเคียงกับอัตราเงินเฟ้อ (inflation hedging) ส่วนเรื่องความเสี่ยงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มีความเสี่ยงอยู่ระหว่างกองทุนตราสารหนี้ และกองทุนตราสารทุน

ต้องขอบคุณบลจ.เอ็มเอฟซี มากนะครับ สำหรับท่านผู้อ่านท่านใดที่มีข้อสงสัยเรื่องกองทุนรวม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ fund@manager.co.th หรือโพสต์ข้อความไว้ที่หน้า กองทุนรวม www.manager.co.th ทางเรายินดีที่จะตอบคำถามและหาคำตอบดีๆจากบลจ.ต่างๆให้ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น