xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ธุรกิจอสังหาฯ ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยง-คาดปลายปี 51 ดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ตลาดอสังหาฯ ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงในปี 2551 ทั้งราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น เสถียรภาพการเมือง แต่มีมาตรการภาษีกระตุ้นอสังหาฯ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยลดลง เป็นปัจจัยหนุน และน่าจะทำให้ตลาดอสังหาฯ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

วันนี้ (17 มี.ค.) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย โดยประเมินภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทย ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงในปี 2551 โดยระบุว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์น่าจะยังเผชิญกับภาวะชะลอตัว เนื่องจากความเสี่ยงที่รุมเร้า ทั้งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และผู้บริโภค อาทิ เสถียรภาพทางการเมือง การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ ความผันผวนของราคาน้ำมัน แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม ตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีปัจจัยบวก โดยเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ การลดค่าธรรมเนียมการโอนจากเดิมอยู่ที่ 2.0% ของราคาประเมินของทางราชการ ลดลงเหลือ 0.01% ของราคาประเมินของทางราชการ และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ 1% ลดลงเหลือ 0.01% โดยจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 1 ปี

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะผ่านกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมาตรการดังกล่าวน่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงไตรมาส 2 หรือ ไตรมาส 3

นอกจากนี้ นโยบายการเงินก็มีแนวโน้มที่เอื้ออำนวยต่อการกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยประเด็นที่ต้องติดตาม คือ การพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ที่มีความเป็นไปได้ที่อาจจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์น่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคบางกลุ่มชะลอการซื้อ หรือโอนที่อยู่อาศัยจนกว่ามาตรการภาษีจะมีผลบังคับใช้ ขณะที่การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในขณะนี้ อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการทางภาษีหรือทิศทางอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่ต่างจากอดีต คือ ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงเป็นประวัติการณ์ แนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะเป็นแรงกดดันให้มีการปรับขึ้นราค่าก่อสร้าง และยังเป็นแรงกดดันต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยและอาจมีผลทำให้ผู้บริโภคยังคงไม่รีบเร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยและรอช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะจนกว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ แม้ว่าผู้บริโภคน่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ล่าสุดของรัฐบาล รวมทั้งจากความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยในระบบอาจจะปรับลดลง แต่ผู้บริโภคควรมีการวางแผนทางการเงินที่ดี โดยพิจารณาถึงความสามารถในการผ่อนชำระของตนในอนาคตเป็นหลัก มากกว่าที่จะต้องรีบตัดสินใจเพียงเพราะประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการของภาครัฐเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น