xs
xsm
sm
md
lg

UOBตั้งสตรักเจอร์ฟันด์ลดโลกร้อน ลงทุนอิงดัชนียาว3ปีโชว์รีเทิร์นเฉลี่ย21.96%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวนา พูลผล
บลจ.ยูโอบีเกาะติดกระแสภาวะโลกร้อน เดินหน้าออกกองทุนสตรักเจอร์ ฟันด์ “กองทุนเปิดยูโอบี ซีเล็ค โกลบอล วอร์มมิ่ง 1” ลงทุนยาว 3 ปี โชว์โมเดลผลตอบแทนย้อนหลังเฉลี่ย 3 ปี 21.96% เปิดไอพีโอ 22-28 เมษายนนี้ "วนา" เผยตั้งเป้าเพิ่มเอ็นเอวี “กองทุนเปิดยูโอบี ชัวร์ เดลี” ภายในปีนี้เป็น 50,000 ล้านบาท เน้นขยายฐานลูกค้ารายใหม่ พร้อมมองดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสขยับขึ้นไปแตะ 1,000 จุด เหตุปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจดี และนโยบายภาครัฐหนุน

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในปัจจุบันนั้น แสดงถึงปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น และยังส่งผลกระทบไปทั่วโลก ซึ่งเห็นได้จากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นถี่ และรุนแรงขึ้นในหลายประเทศเช่น ในปี 2550 ที่กรุงบรูโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า ได้มีหิมะตกครั้งแรก ในรอบ 90 ปี และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้นประเทศจีนได้มีพายุหิมะประกอบกับสภาพอากาศหนาวเย็นและรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี นอกจากนี้เรายังได้รับผลกระทบอีกมากมายจากสภาวะโลกร้อน เช่น ภาวะแห้งแล้งทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคในพื้นที่ต่างๆ ผลผลิตทางการเกษตรลดลงเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผลกระทบเหล่านี้เกิดขึ้นจริง และหลายประเทศกำลังตื่นตัวมากกับเรื่องนี้

ทั้งนี้ จากกระแสการตื่นตัวเรื่องภาวะโลกร้อนนั้น สร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกียวข้องกับการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งทางบริษัทได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว บริษัทจึงเตรียมเปิดเสนอขายกองทุนเปิดยูโอบี ซีเล็ค โกลบอล วอร์มมิ่ง 1 (UOB Select Global Warming 1 Fund) ซึ่งเป็นกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ที่ลงทุนในต่างประเทศที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (Specific Fund) ที่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ อายุโครงการ 3 ปี และมีมูลค่าโครงการ 1,400 ล้านบาท โดยจะเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (ไอพีโอ) และครั้งเดียวระหว่างวันที่ 22-28 เมษายน 2551 ค่าเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 10,000 บาท

โดยกองทุนนี้เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนได้ 3 ปี และมั่นใจว่าหุ้นในดัชนี Citi Climate Change Opportunities PR USD ที่ได้รับผลบวกจากภาวะโลกร้อนจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นในดัชนี MSCI World แม้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกโดยรวมจะปรับตัวลดลง

ส่วนกองทุนดังกล่าวจะเน้นลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured notes) ในรูปสกุลเงินยูโร และทำกันป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในส่วนของเงินต้น และให้โอกาสรับผลตอบแทนเพิ่มเติมอ้างอิงส่วนต่างของดัชนี Citi Climate Change Opportunity PR USD และดัชนี MSCI World ณ สิ้นปีที่ 3 เทียบกับวันจดทะเบียน ซึ่งดัชนี Citi Climate Change Opportunity PR USD เป็นดัชนีที่ลงทุนในตราสารทุนของบริษัททั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากกระแสตื่นตัวจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งดัชนีดังกล่าวได้คิดค้น จัดตั้ง และพัฒนาโดย Citigroup Global Markets Limited (CGML) ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจในกลุ่มบริษัทซิตี้กรุ๊ป

ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนของดัชนี Citi Climate Change 5 อันดับแรก ณ วันที่ 18 มีนาคม 2551 พบว่าลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ 17% อุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ น้ำ และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง 13% อุตสาหกรรมสารเคมี 10% อุตสาหกรรมประกันวินาศภัย 10% และอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากก๊าซธรรมชาติ 10%

ขณะที่แบบจำลองของผลตอบแทนย้อนหลังในรูปแบบสกุลเงินบาทของกองทุน ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 พบว่าสามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีที่ 7.32% และให้ผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีอยู่ที่ 21.96%

“การตื่นตัวเรื่องโลกร้อนได้ส่งผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจกับหลายบริษัท ยกตัวอย่างเช่น ภาวะแห้งแล้งทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ต่างๆและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทำให้กลุ่มบริษัทที่ผลิตพลังงานทางเลือกเช่นพลังงาน แสงอาทิตย์ พลังงานลมและธุรกิจด้านบำบัดน้ำเสียจะมีบทบาทมากขึ้น ในด้านพฤติกรรมขององค์กรและผู้บริโภค ธุรกิจต่างๆหันมาผลิตสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นสินค้า recycle สินค้าประหยัดพลังงาน กลุ่มบริษัทที่ผลิตวัตถุดิบของสินค้าที่ช่วยลดสภาวะโลกร้อน อาทิ พืชผลทางการเกษตรที่ใช้ในการผลิตไบโอดีเซล และเอธานอล ซึ่งใช้กับรถยนต์ประหยัดพลังงาน และโรงงานที่ผลิตไบโอดีเซล และเอธานอล จะมีอนาคตที่ดี และสุดท้ายการที่รัฐบาลกำหนดกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกฎควบคุมการปล่อยมลพิษของโรงงาน และบริษัทต่างๆ ทำให้กลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นที่ต้องการ มากยิ่งขึ้น”

นายวนา กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (เอ็นเอวี) ของกองทุนเปิด ยูโอบี ชัวร์ เดลี เป็น 50,000 ล้านบาทภายในปีนี้ โดยกองทุนจะเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 100 วัน และที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี และจะเน้นขยายฐานลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น

สำหรับกองทุนเปิด ยูโอบี ชัวร์ เดลี เป็นกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ ที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (Specific Fund) มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท ไม่กำหนดอายุโครงการ และได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 โดยจะเน้นลงทุนในตราสารแห่งหนี้ภาครัฐ ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน และเงินฝากธนาคาร ทั้งนี้ จะไม่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือตราสารที่เสนอขายในต่างประเทศ ตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร (Structured Notes) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivative)

ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนของกองทุนดังกล่าว ณ วันที่ 28 มีนาคม 2551 ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 100.48% ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงิน 1.93% และลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ อีก -2.42%

ขณะที่ผลการดำเนินงานของกองทุน ณ วันที่ 28 มีนาคม 2551 สามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.74% ขณะที่ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.33% และผลตอบแทนจากดัชนีกองทุนตราสารหนี้ย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 8.37% ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 2.74% ขณะที่ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 2.33% และผลตอบแทนจากดัชนีกองทุนตราสารหนี้ย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 8.37% ผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 2.72% ขณะที่ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 2.35% และผลตอบแทนจากดัชนีกองทุนตราสารหนี้ย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 4.55% ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 2.89% ขณะที่ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 2.45% และผลตอบแทนจากดัชนีกองทุนตราสารหนี้ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 3.24%

นายวนา กล่าวว่า คาดว่าดัชนีหุ้นไทยในปีนี้มีโอกาสปรับขึ้นไปในระดับที่ 1,000 จุด เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศไทยยังดี และนโยบายจากรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผู้ลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยการเมืองหากยังไม่นิ่งก็ต้องดูว่ามีความรุนแรงแค่ไหน ซึ่งอาจจะส่งผลในแง่จิตวิทยาต่อนักลงทุนได้ แต่นักลงทุนส่วนใหญ่จะพิจารณาจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก และในปีนี้บริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มทำกำไรได้ดีกว่าปีที่แล้วด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น