xs
xsm
sm
md
lg

2ปัจจัยดึงทุนต่างชาติเข้าไทย จับตาเงินเฟ้อตัวแปรกำหนดอัตราดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการกองทุนประเมิน ยกเลิก 30%-คงดอกเบี้ยอาร์/พี ปัจจัยดึงเงินลงทุนจากต่างชาติ เผยเหตุตลาดตราสารหนี้ผันผวน มาจากตลาดคาดการณ์ลดดอกเบี้ยล่วงหน้า แต่ผิดคาดเพราะเงินเฟ้อพุ่ง ประเมินทั้งปีนี้ อัตราดอกเบี้ยทรงตัวหรือปรับลดลงเล็กน้อย "แอสเซทพลัส" จับตาตลาดใกล้ชิด หวังปรับกลยุทธ์สร้างผลตอบแทนที่ดีให้ลูกค้า

นางสาวสุทธินี สิมะกุลธร ผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น สาเหตุมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศยกเลิกนโยบายกันสำรอง 30% ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีอิสระในการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น และการที่ กนง. ได้ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้คงอยู่ในระดับ 3.25% ทำให้ส่วนต่าง หรือ Spread ของอัตราดอกเบี้ยของไทย กับของสหรัฐฯ สูงถึง 1% ประกอบกับค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าตามค่าเงินในภูมิภาคอยู่แล้ว จึงเป็นปัจจัยที่จูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า

ในส่วนของภาวะตลาดตราสารหนี้ ในปัจจุบันที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง เนื่องมาจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดและนักวิเคราะห์ ได้ไปล่วงหน้าแล้วคาดการณ์ว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ทำให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศได้ปรับตัวลดลงไปแล้ว แต่เมื่อตัวเลขเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกออกมาสูงเกินกว่าคาด และตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในระดับที่ดีอยู่ ประกอบกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาให้ข่าวว่าจะให้น้ำหนักกับปัญหาด้านเงินเฟ้อ มากกว่าปัญหาเรื่องการเติบโตของภาคเศรษฐกิจ และไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยตามประเทศใด จึงส่งผลให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศมีความผันผวนมาก

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ คาดว่า น่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับนี้ หรืออาจปรับตัวลดลงได้อีกเล็กน้อย ส่วนอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางถึงยาวที่มีอายุเกินกว่า 5 ปีขึ้นไปนั้น จะขึ้นอยู่กับ Supply คือ ปริมาณพันธบัตรที่รัฐบาลจะออกมาเพื่อกู้จากประชาชนเพื่อนำไปลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กท์ ซึ่งน่าจะมากพอสมควร และการที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยประกาศว่าจะขาดดุลงบประมาณอย่างมากในปีงบประมาณปีหน้า จึงทำให้ตลาดเชื่อว่าในอนาคตน่าจะมีพันธบัตรรรัฐบาลระยะกลางถึงยาวออกมากอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้ผลตอบแทนปรับตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้จัดการกองทุน ในการบริหารกองทุนตราสารหนี้ในช่วงนี้ ต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด อย่างเช่น ในช่วงครึ่งปีหลังอัตราเงินเฟ้ออาจจะลดลงได้จากฐานที่สูงในปีที่แล้ว ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯ จะห่างกันจนเกิน Historical Low หรือไม่ ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไปหรือเปล่า และได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกหรือไม่ และนำปัจจัยเหล่านี้ มาปรับนโยบายการลงทุนให้มีความเหมาะสม เพื่อให้ลูกค้าได้รับผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่อง

นายณัฐพล ชวลิตชีวิน นายกสมาคมตราสารหนี้ไทย กล่าวถึงการที่มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ว่า เงินลงทุนที่ไหลเข้ามาดังกล่าวเป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้ว่า หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยกเลิกมาตราการกันสำรอง 30% ซึ่งก่อนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศมาตราการดังกล่าวนั้น มีเงินเข้ามาลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่หลังจากประกาศยกเลิกมาตราการกันสำรอง 30% แล้วมีเงินลงทุนไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 70,000 บาท เป็นการเพิ่มขึ้นมาประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ

ทั้งนี้ จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.25% นั้น คงไม่ส่งผลต่อการไหลเข้ามาของเงินทุนจากต่างประเทศมากนัก เพราะนักลงทุนจากต่างชาตินำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกันมากกว่า ขณะเดียวกัน เงินลงทุนที่ไหลเข้านั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทมากเท่าไร แต่จะส่งผลดีต่อกองทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มากกว่ากกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศยกเลิกมาตราการกันสำรอง 30% ประกอบกับการคงอัตราดอกเบี้ย อาร์/พี ไว้ที่ 3.25% เมื่อวันพุธที่ผ่านมานั้น มีความเป็นไปได้ที่จะมีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในปีนี้

นายอาสา อิทรวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด กล่าวว่า เงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นในตลาดตราสารหนี้ของไทยนั้น เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์กันว่าไว้หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศยกเลิกมาตราการกันสำรอง 30% โดยเงินลงทุนที่ไหลเข้ามา จะส่งผลต่อตลาดดอกเบี้ย ซึ่งจากเดิมที่นักลงทุนมีความกังวลในการออกพันธบัตร ทำให้นักลงทุนมองว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้นได้ ดังนั้นการที่มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทย นั้นจะส่งผลให้ดูดซับเงินที่จะไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรดังกล่าวได้

"หลังจากนี้จะมีเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้ามาใกล้เคียงกับก่อนหน้าที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศใช้มาตราการกันสำรอง 30%" นายอาสากล่าว

ส่วนแนวโน้มของเงินลงทุนที่ไหลเข้าลงทุนในประเทศไทยนั้น มองว่าจำนวนเงินที่เข้ามานั้น ไม่น่าจะมีมากเกินไป เพราะนักลงทุนต่างประเทศมีการจัดสรรเงินในส่วนที่เหมาะสมเท่านั้นมาลงทุนในตลาดหุ้นของไทย ว่าจะเป็นเท่าไรเมื่อเทียบจำนวนเงินที่จะไปลงทุนทั่วโลก โดยช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่นักลงทุนต่างประเทศกำลังพิจารณาจัดสรรเงินอยู่ สำกรับกลยุทธ์การลงทุนของ บลจ. อยุธยานั้น ได้มีการปรับกลยุทธ์การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้โดยการปรับลดการถือครองตารสารหนี้ลง
กำลังโหลดความคิดเห็น