xs
xsm
sm
md
lg

แมนูไลฟ์เสริมทัพตัวแทนขายฟันด์ รุดเจรจาแบงก์ไทย-สาขาแบงก์ฝรั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.แมนูไลฟ์ เสริมเครือข่ายขายหน่วยลงทุน เผยอยู่ระหว่างเจรจา 2 แบงก์ ทั้งในประเทศและสาขาแบงก์ต่างชาติ หวังเพิ่มช่องทางเข้าถึงลูกค้า พร้อมเพิ่มที่ปรึกษาการลงทุน-เซลลิ่งเอเจนต์ควบคู่ได้ด้วย ล่าสุด จ่อคิวออกเอฟไอเอฟลุยสินค้าซอร์ฟคอมมอดิตี้ หลังประเมินดีมานด์ทั่วโลกยังสูง โดยเฉพาะจีน

นายอลัน แคม กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างเจรจากับธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติมอีก 2 รายเพื่อให้เป็นตัวแทนขายหน่วยลงทุนให้กับแมนูไลฟ์ โดยในจำนวนธนาคารพาณิชย์ทั้ง 2 รายดังกล่าว เป็นสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศและธนาคารพาณิชย์ในประเทศ

ทั้งนี้ ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่เรากำลังเจรจาอยู่นั้น คาดหวังว่าเครือข่ายสาชาที่เขามี จะสามารถเพิ่มความคล่องตัวในการเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

"ปัจจุบันระบบของเราสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านระบบอินเทอร์เนตได้แล้ว แต่เราไม่มีสาขาของธนาคารพาณิชย์เป็นเครือข่าย ทำให้การเข้าถึงลูกค้าเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะระบบซื้อขายหน่วยลงทุนผ่าน ATM ซึ่งการไม่มีเครือข่ายแบงก์เราก็ทำได้ยาก"นายอลันกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเพิ่มที่ปรึกษาการลงทุน (IP) ในส่วนของบริษัทเอง และตัวแทนขายหน่วยลงทุน (เซลลิ่งเอเจนต์) ในส่วนของบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) อีกด้วย โดยในส่วนของที่ปรึกษาการลงทุนของแมนูไลฟ์ จะเพิ่มอีกจำนวน 2 คนจากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 1 คนเท่านั้น ในขณะที่โบรกเกอร์นั้น ก็คาดว่าจะเพิ่มอีกจำนวน 2 รายเช่นกัน

โดยปัจจุบัน บลจ.แมนูไลฟ์ มีตัวแทนขายหน่วยลงทุนแล้วทั้งหมด 8 ราย ซึ่งประเกอบด้วย ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) ธนาคาร ดอยซ์ แบงก์ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) และธนาคารซิตี้แบงก์

นายอลันกล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนของการขายหน่วยลงทุนผ่านตัวแทนการขายทั้งหมด 8 ราย อยู่ที่ 70% และผ่านตัวแทนขายของบริษัทอีก 30% ซึ่งในอนาคตบริษัทไม่ได้คาดหวังว่าสัดส่วนทั้ง 2 นี้จะเปลี่ยนแปลง แต่คาดหวังว่าในแง่ของการขายผ่านช่องทั้งดังกล่าว จะเพิ่มไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับการออกกองทุนในช่วงนี้ บริษัทสนใจลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ (คอมมอดิตี้) ประเภทซอร์ฟคอมมอดิตี้ เช่น การลงทุนในถั่วเหลือง กาแฟ หรือสินค้าเกษตรอื่นๆ ซึ่งสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ยังมีความต้องการจากทั่วโลกในอัตราที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะจากประเทศจีน ที่มีการบริโภคสูงจากจำนวนประชากรที่มีอยู่

โดยในขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการยื่นเสนอขอจัดตั้งกองทุนต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ที่ออกไปลงทุนในสินค้าดังกล่าว กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งการลงทุนของกองทุนนี้ จะลงทุนในกองทุนต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) โดยกองทุนหลักนั้นเป็นกองทุนของแมนูไลฟ์ในฮ่องกง ที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสินค้่าคอมมอดิตี้ ซึ่งกองทุนหลักดังกล่าวบริหารจัดการแบบ Active

ปัจจุบัน บลจ.แมนูไลฟ์ มีกองทุนเอฟไอเอฟภายใต้การบริหารจำนวน 1 กองทุน นั่นคือ กองทุนเปิดแมนูไลฟ์ สเตรงค์ อิเมอร์จิ้ง อีสเทอร์น ยุโรป เอฟไอเอฟ (MS-EE EURO) ซึ่งกองทุนดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงไอพีโอสามารถระดมทุนมาได้ประมาณ 300 ล้านบาท แต่ปัจจุบันกองทุนมีขนาดเพิ่มขึ้นเป็น 796 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 165.33% ซึ่งบริษัทตั้งเป้าที่จะเพิ่มขนาดของกองทุนดังกล่าวให้โตขึ้นไปที่ระดับ 900 ล้านบาทภายในปีนี้

สำหรับกองทุนเปิดแมนูไลฟ์ อิเมอร์จิ้ง อีสเทิร์น ยุโรป ฟันด์(คลาส A) ซึ่งเป็นกองทุนหลักของกองทุน MS-EE EURO จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศลักเซมเบิร์กตั้งแต่เดือนมิ.ย.1997 มีนโยบายลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในยุโรปตะวันออก ที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มเติบโตไปได้อีกในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น