xs
xsm
sm
md
lg

Asset Allocation (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ดร. สมจินต์ ศรไพศาล บลจ. วรรณ จำกัด

การตัดสินใจลงทุนสองขั้นตอน

กระบวนการตัดสินใจลงทุนที่สำคัญมีสองขั้นตอนด้วยกัน คือ ขั้นแรก ตัดสินใจว่าจะแบ่งเงินลงทุนตามประเภทหลักทรัพย์ต่างๆ อย่างไรดี เช่น จะถือหุ้นสักกี่เปอร์เซ็นต์ ถือพันธบัตรกี่เปอร์เซนต์ และ เก็บเป็นพวกเงินฝากที่หยิบใช้ได้คล่องๆ กี่เปอร์เซ็นต์ เราเรียกการตัดสินใจนี้ว่า Asset Allocation (ซึ่งหากจะให้พากย์ไทยแบบกระชับที่สุด ผมคงเลือกคำว่า “การแบ่งหมวดทรัพย์”) แล้วขั้นที่สองค่อยไปตัดสินใจต่อว่า ส่วนที่แบ่งไว้ลงทุนในหุ้นจะซื้อหุ้นตัวไหน เราเรียกว่า Stock Selection (หรือ Security Selection เพื่อให้เป็นศัพท์ทั่วไปใช้เลือกพวกพันธบัตรหรือหุ้นกู้ได้ด้วย)

ใครที่มีความสามารถในการตัดสินใจได้ดีทั้งสองขั้น คือปีไหนที่หุ้นขึ้นก็จัดเงินอยู่ในหุ้นเยอะ ( คือ ทำ Asset Allocation เก่ง) แล้วหุ้นแต่ละตัวที่เลือกมาเข้าพอร์ตก็ล้วนแต่เด็ดๆด้วย (คือ Stock Selection เก่ง) ผลตอบแทนที่ได้ก็จะยอดเยี่ยม อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาความสามารถในทั้งสองการตัดสินใจนี้ได้ในคนๆเดียว บางคนอาจ Asset Allocation เก่ง แต่ Stock Selection ไม่ดีเท่าใด หรือ กลับกัน เรื่องที่ว่าการตัดสินใจทั้งสองนี้อันไหนสำคัญกว่าจึงเป็นคำถามที่นักวิชาการให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาบ่งชี้ว่า Asset Allocation คือการตัดสินใจที่มีผลต่อผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า Stock Selection หมายความว่า นาย ก. ที่ลงหุ้นเยอะๆในปีที่ตลาดหุ้นดี แม้ว่าอาจไม่ได้เลือกตัวหุ้นที่โดดเด่นเข้าพอร์ต ก็ยังดีกว่า นาย ข. ที่แม้จะเลือกตัวหุ้นเก่ง แต่กลับมีเม็ดเงินที่ลงทุนในหุ้นน้อยไปในปีที่ตลาดหุ้นดี หรือมีหุ้นมากไปในปีที่ตลาดหุ้นแย่

เราลองมาทำความเข้าใจกันเพิ่มเติมถึง Asset Allocation กันด้วยตัวอย่างจริงของตลาดทุนไทยในเก้าปีที่ผ่านมาร่วมกันครับ ตารางข้างล่างแสดงถึงผลตอบแทนของตลาดหุ้น พันธบัตร และเงินฝาก ซึ่งเป็นสามประเภททรัพย์สิน (Asset Class) หลักที่เราเลือกจัดเงินลงทุนได้

เราจะเห็นได้ว่าถ้าเราลงทุนแบบทุ่มสุดตัวในหุ้นหรือพันธบัตร หรือเงินฝาก เราก็จะได้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เงินฝากแม้ไม่เคยขาดทุน แต่เติบโตอย่างช้ามาก ส่วนพันธบัตรโตแบบกลางๆบางปีติดลบบ้างก็ไม่รุนแรงนัก ส่วนหุ้นผันผวนมาก แต่ก็ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดีมาก เงิน 100 บาท โตมาเป็นกว่า 300 บาทในระยะเวลาเก้าปีของการลงทุน ข้อมูลเหล่านี้ยืนยันคำกล่าวที่ว่า high risk, high return อันเป็นธรรมชาติของหลักทรัพย์ต่างๆ ว่า ถ้าไม่ต้องการเสี่ยงก็ต้องยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำ แต่ถ้าอยากได้ผลตอบแทนสูงกว่า ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่สูงกว่าด้วย

Perfect Asset Allocation (Timing)

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนของผลของการตัดสินใจเรื่อง Asset Allocation บางคนก็เรียกว่าเป็นการจับจังหวะของตลาด หรือ Market Timing สมมุติว่ามียอดเซียนในการจับจังหวะตลาด แล้วทำให้จัดพอร์ตได้อย่างสมบูรณ์ คือปีไหนอะไรดีที่สุดก็ลงทุนในประเภทสินทรัพย์นั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็หมายความว่าสำหรับช่วงเก้าปีของข้อมูลนี้ มีอยู่สามปีที่ลงทุนในพันธบัตร คือ ปี 2000 ปี 2004 และ ปี 2006 นอกนั้นลงทุนในหุ้นล้วนๆ ยอดเซียนคนนี้ก็จะมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจาก 100 บาทเป็น 745 บาทในเวลาเก้าปีเท่านั้น... ในหนังสือชื่อ Asset Allocation ของโรเจอร์ กิบสัน ได้ลองทำตัวเลขที่น่าตกตะลึงกว่านี้ เขาทำการศึกษาข้อมูลของสหรัฐฯย้อนหลัง 100 ปี แล้วคำนวณว่าถ้าใครเป็น Perfect timer นักจับจังหวะผู้ยอดเยี่ยมทุกต้นปีเลือกโยกเงินไปลงทุนในประเภททรัพย์สินที่จะทำได้ดีที่สุดในปีนั้นๆได้ ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 1 เหรียญ จะลงเอยด้วยมูลค่า 85,000,000 เหรียญใน 100 ปีให้หลัง เห็นตัวเลขทั้งไทยและเทศอย่างนี้ ท่านผู้อ่านคงพอจะเห็นด้วยกับผมได้ว่า เรื่อง Asset Allocation นี้แหละที่สำคัญจริงๆต่อการลงทุนของเรา

แน่นอนต้องยอมรับความจริงว่า เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะจับจังหวะของตลาดทั้งหลายได้สมบูรณ์อย่างที่สมมุติไว้ และในความเป็นจริงกลับปรากฏว่ามีผู้คนมากมายที่พยายามจับจังหวะเข้าออกดังที่กล่าวมา แต่แล้วผลกลับเป็นตรงกันข้ามคือ ไปเพิ่มลงทุนในหุ้นหลังจากที่หุ้นขึ้นไปมากแล้ว หรือกลับลดการลงทุนในหุ้นในยามที่หุ้นตกต่ำมามากแล้ว ก็มีให้เป็นเป็นเรื่องปกติ

ดังนั้น คำแนะนำปกติจึงไม่ใช่การให้โยกเงินไปมาอย่างสุดโต่ง แต่เป็นการแนะนำให้ผู้ลงทุนหันกลับมามองตัวเองว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด แล้วจัด Asset Allocation ให้สอดคล้องกับบุคลิกและลักษณะของตนเป็นหลัก ส่วนการเพิ่มน้ำหนัก (Overweight) หรือลดน้ำหนัก (Underweight) บางหมวดหลักทรัพย์ ในบางสถานะการณ์ก็แนะนำให้ทำอย่างไม่หวือหวาสุดโต่ง เพื่อให้คงระดับความเสี่ยงที่รับได้อยู่ตลอดเวลา

ในตอนต่อไป เราจะคุยกันเรื่องโมเดล Asset Allocation ให้สอดคล้องกับบุคลิกและความสามารถในการรับความเสี่ยงต่างๆ ด้วย ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมขึ้น อย่าลืมติดตามนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น