xs
xsm
sm
md
lg

จีนหวั่นเงินร้อนก่อวิกฤต "ต้มยำกุ้ง" ปรับลดโควตาเงินกู้ธนาคารพาณิชย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเชียน วอลล์สตรีท - จีนรุมซัดเงินร้อนต้นตอปัญหาเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่ลั่นเตรียมสกัดทุนทะลัก ปรับลดโควตาเงินกู้ระยะสั้นของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทำธนาคารต่างชาติมึนตื้บไปตามๆกัน

นักวิเคราะห์ชี้ทำไม่ง่ายอย่างพูด เข้มมากอาจเกิดผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ เย้ยแม้แต่ตีความว่าอะไรคือเงินร้อนเจ้าหน้าที่ยังมีปัญหา

นักวิเคราะห์ชี้ว่า นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากต่างวนเวียนอยู่กับตลาดจีน แม้ภาครัฐจะออกกฎเข้ม ทว่านักลงทุนสามารถหาช่องเจาะ หอบเงินร้อนเข้ามาเก็งกำไร จากอัตราดอกเบี้ยที่เย้ายวน และค่าเงินหยวนที่กำลังแข็งค่าของจีน

เงินร้อนที่หลั่งไหลเข้ามา ทำให้สภาพคล่องในตลาดสูง เมื่อทบกับปัจจัยอื่นๆ ทั้งราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวจึงดันให้ค่าเงินเฟ้อในจีนพุ่งพรวด ธนาคารกลางจีนคาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นดัชนีวัดเงินเฟ้อ เดือนก.พ. จะทำสถิติใหม่อีกครั้งที่ 8.3-8.7% หลังจากเดือนม.ค. เพิ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปีที่ 7.1%

หลี่เต๋อสุยอดีตอธิบดีกรมสถิติแห่งชาติกล่าวว่า "หากเราไม่สามารถสกัดการทะลักของเงินร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สถานการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดของเราจะยิ่งย่ำแย่ ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ สภาพคล่องล้นเกิน และอาจทำให้เศรษฐกิจจีนเผชิญกับความเสี่ยงครั้งใหญ่"

แบรด เซ็ตเซอร์ นักวิจัยของคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ ในนิวยอร์ก ประมาณว่า "เมื่อปี 2007 มีเงินร้อนทะลักสู่จีนเกิน 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นสถิติที่ทำให้ตัวเลขการลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) 82,660 ล้านเหรียญสหรัฐฯหมองไปเลย"

ซุนกงเซิง ผู้อำนวยการธนาคารประชาชน (ธนาคารกลาง) สาขาหนันจิง เผยว่า "ธนาคารกลางพยายามสร้างระบบติดตามเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามา ทว่าเราไม่ประสบความสำเร็จ"

วอลล์สตรีทชี้ว่า ความล้มเหลวดังกล่าว จะทำให้รัฐบาลเพ่งเล็ง กดดันเงินทุนไหลเข้าในส่วนที่พวกเขามีอำนาจควบคุมได้ อาทิ โควตาเงินกู้ระยะสั้นสำหรับธนาคารพาณิชย์

ทางการจีนได้ปรับลดโควตาดังกล่าวลง และมีแนวโน้มว่า ในอนาคตจะปรับลดลงไปอีก "ปีนี้จีนตัดสินใจคุมเข้มนโยบายการเงิน ฉะนั้นเราจะควบคุมเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามาต่อไป และเราจะเข้มงวดควบคุมสัดส่วนเงินกู้ต่างประเทศ" กัวชิงผิง ผู้อำนวยการธนาคารประชาชน สาขาเทียนจินกล่าว

อย่างไรก็ตามการคุมเข้มดังกล่าว อาจส่งผลให้การพัฒนาตลาดการเงินในประเทศจีนชะลอตัว

เมื่อปี 2007 สำนักงานปริวรรตเงินตรา ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของธนาคารกลาง ได้ประกาศลดโควตาการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศระยะสั้น การประกาศครั้งล่าสุดซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 มี.ค.นี้ จะทำให้ธนาคารต่างประเทศ และสถาบันการเงิน ที่ดำเนินการอยู่ในประเทศจีน ถูกลดโควตากู้เงินตราต่างประเทศระยะสั้นเหลือเพียง 60% ของจำนวนเงินที่องค์กรนั้นๆกู้ในปี 2006 ส่วนโควตาของธนาคารจีนจะถูกลด ให้กู้ได้เพียง 30% จากยอดปี 2006

ธนาคารกลางเผยว่า "การปรับโควตาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยง ผลกระทบกระเทือนจากการเคลื่อนไหวของเงินทุนระยะสั้น" เนื่องจากเงินร้อนมีที่มาจากนักเก็งกำไรระยะสั้น ที่เทและดึงเงินกลับไปอย่างรวดเร็ว ทางการจีนจึงกลัวว่าตนเองอาจตกเป็นเหยื่อวิกฤตการเงิน ซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997

การปรับลดโควตาดังกล่าว ทำให้การกู้ยืมเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีข่าวลือแพร่สะพัดว่า ภายในสิ้นเดือนมี.ค. รัฐบาลอาจสั่งปรับโควตาอีกครั้ง เพื่อกันการเก็งกำไรค่าเงินหยวน

ธนาคารต่างประเทศในจีนได้รับผลอย่างรุนแรงจากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากธนาคารต่างประเทศ ที่เพิ่งเข้ามาเจาะตลาดจีนไม่มีเงินดอลลาร์เก็บไว้ในคลังอย่างเพียงพอ ตรงข้ามกับธนาคารจีน ที่มีฐานกลุ่มผู้ส่งออกชาวจีนฝากเงินสกุลดอลลาร์ไว้กับธนาคาร

หลายฝ่ายคาดว่า ปีนี้ค่าเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้น 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ นอกจากนี้ตลาดการเงินโลกยังเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตซับไพรม์ ฉะนั้นการนำเงินเข้ามาลงทุนในจีนจึงเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด สำหรับใครก็ตาม ที่สามารถฝ่าด่านคุมเข้มของรัฐบาลจีน

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่ากล่าวย้ำ ในพิธีเปิดการประชุมสภาผู้แทนประชาชน เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ว่า "จีนจะเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการไหลเวียนของเงินตราต่างประเทศ"
กำลังโหลดความคิดเห็น