xs
xsm
sm
md
lg

ธ.กลางจีนงัดกลยุทธ์สยบเงินเฟ้อ เร่ขายตราสารหนี้ระยะสั้นสู่ตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเชียน วอลล์สตรีท – ธนาคารประชาชนปวดหัว เจอเศรษฐกิจโลกผันผวน, เงินเฟ้อจีนพุ่งไม่หยุด แถมเฟดส่อสัญญาณหั่นดอกเบี้ยเพิ่ม สร้างความวิตกเงินร้อนทะลักเข้าตลาดจีน สุดท้ายธนาคารกลางต้องงัดกลยุทธ์ออกตราสารหนี้ระยะสั้นดูดสภาพคล่อง

หลังนโยบายปรับอัตราดอกเบี้ยและเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ประสบความล้มเหลวในการเบรกเงินเฟ้อ ล่าสุดธนาคารประชาชน (ธนาคารกลางจีน) ต้องคิดหนัก เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่อเค้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 3% ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการไหลเทของเงินร้อนจำนวนมหาศาลมายังจีน เพื่อเก็งกำไรจากค่าเงินหยวนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้นักเก็งกำไรส่วนหนึ่งยังคาดว่า ธนาคารจีนอาจปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับสหรัฐฯแล้วการนำเงินเข้ามาพักในตลาดจีนน่าจะให้กำไรงามกว่า

ฉะนั้นธนาคารจีนจึงหมดทางเลือก หวังว่ากลยุทธ์ล่าสุดคือ การขายตราสารหนี้ระยะสั้นจะช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ได้ดีกว่ามาตรการอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เงินร้อนยิ่งไหลเข้ามาเก็งกำไร

“การออกตราสารหนี้ระยะสั้นปีนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับปี่ที่แล้ว” หวัง อิ๋งเฟิง นักวิเคราะห์จาก บรัทหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้กล่าว

ทั้งนี้ระหว่าง 1 ม.ค. – 11 มี.ค. ธนาคารกลางได้ออกจำหน่ายตราสารหนี้รวมมูลค่า 2.76 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีปริมาณการขายเพียง 1.59 ล้านล้านหยวน หวังคาดว่ามูลค่าจำหน่ายตราสารหนี้ระยะสั้นตลอดทั้งปีน่าจะมีมูลค่าอย่างต่ำ 8 ล้านล้านหยวน นับว่ามีมูลค่าการจำหน่ายมากกว่าปี 2007 ที่มีมูลค่ารวม 5.2 ล้านล้านหยวน เกือบเท่าตัว

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์คาดว่า ที่สุดแล้วธนาคารกลางอาจตัดสินใจเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ 1-2 ครั้ง เพื่อสยบเงินเฟ้อ ทว่านักเศรษฐศาตร์เตือนให้ธนาคารกลางระวังการปรับอัตราเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ หัวหน้าเศรษฐกรของธนาคารโลก หลิน อี้ว์ฟู แสดงทัศนะว่า “การปรับขึ้นเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ จะสร้างผลกระทบแง่ลบบริษัทขนาดเล็ก-กลาง ซึ่งมักประสบปัญหาในการกู้เงินจากธนาคาร”

ส่วนประเด็นการจำหน่ายตราสารหนี้ระยะสั้นเองก็ถูกโจมตีจากนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเช่นกัน การขายพันธบัตรอายุ 3 ปี ให้ผลคล้ายคลึงกับการใช้มาตรการขึ้นอัตราเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ คือช่วยลดปริมาณเงินหมุนเวียนในตลาด อย่างไรก็ตามการขายตราสารหนี้ระยะสั้นมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการปรับขึ้นอัตราเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ เพราะธนาคารกลางต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น สำหรับพันธบัตรอายุ 3 ปี

ทั้งนี้กรมสถิติแห่งชาติจีนประกาศเมื่อวันอังคาร (11) ว่าตัวเลขดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค (ซีพีไอ) ของจีนซึ่งเป็นตัวชี้วัดค่าเงินเฟ้อเดือนก.พ. ได้พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 8.7% ทำลายสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 12 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น