xs
xsm
sm
md
lg

Common Sense Investing (การลงทุนอันสามัญ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ คู่มือนักลงทุน
ดร. สมจินต์ ศรไพศาล บลจ. วรรณ จำกัด


“ถ้าการลงทุนต้องใช้พีชคณิต ผมคงต้องเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์เหมือนเดิม” นั่นเป็นคำพูดเล่นเชิงถ่อมตัวของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ยอดนักลงทุนแห่งยุค เพื่อที่จะให้ข้อเท็จจริงอันสำคัญว่า การลงทุนไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนนัก แต่เป็นสิ่งซึ่งเข้าใจได้ไม่ยากเย็นด้วยสามัญสำนึกของคนธรรมดาๆทั่วไปได้ทุกคน... วันนี้เราจะคุยกันถึงเรื่องสามัญสำนึกธรรมดาๆของคนธรรมดาๆว่ามันเพียงพอแล้วสำหรับการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งของชีวิตได้ โดยข้อคิดส่วนใหญ่มาจากหนังสือ The Little Book of Commonsense Investing หนังสือเล่มล่าสุดของ จอห์น โบเกิล ผู้ก่อตั้ง แวนการ์ด บริษัทจัดการลงทุนยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา

องค์ประกอบของผลตอบแทน

ผลตอบแทนจากการลงทุนแบ่งออกเป็นองค์ประกอบใหญ่ๆได้สองส่วน คือ 1) ส่วนของการลงทุน (investment return หรือ enterprise return) ซึ่งประกอบด้วยเงินปันผลและการเติบโตของความสามารถในการทำกำไร กับ 2) ส่วนของการเก็งกำไร (speculative return หรือ emotional return) ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของระดับ P/E ratio ซึ่งกระทบราคาของหุ้น (P/E คือ price to earning ratio เป็นการคำนวณราคาหุ้นเปรียบกับความสามารถในการทำกำไร)

โบเกิลศึกษาข้อมูลย้อนหลัง 100 ปีของตลาดหุ้นอเมริกาโดยแบ่งข้อมูลเป็นช่วงๆ ละสิบปี (ทศวรรษ) พบว่าส่วนของเงินปันผลอยูในช่วงประมาณ 3-7% ละมีค่าเฉลี่ยถึง 4.5% ในขณะที่ส่วนของการเติบโตของกำไร (earning growth) อยู่ที่ประมาณ 4-7% โดยมีค่าเฉลี่ย 5% ผลตอบแทนจากส่วนinvestment return จึงมีค่าเฉลี่ย 9.5% ต่อปีในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา แต่กำไรในส่วน speculative return กลับมีสถิติที่ผันผวนแตกต่างกันเป็นอย่างมากตามช่วงเวลาต่างๆในช่วงตั้งแต่ ติดลบ 8% จนถึงบวก 9% เป็นต้น ทศวรรษใดที่เริ่มต้นจากช่วงเวลาของตลาดหมี P/E ratio ต่ำราคาหุ้นก็จะถูกแล้วไปจบลงที่ P/E ระดับปกติ ก็จะได้กำไรมาก แต่หากทศวรรษใดเริ่มต้นจากภาวะตลาดกระทิงมองโลกสวยหรูไปหมด P/E ก็จะสูงแล้วต่ำลงไปจบทศวรรษด้วยระดับ P/E ปกติ ก็จะเป็นสิบปีที่ขาดทุน ปรากฏว่าเมื่อรวม ผลตอบแทนแบบ speculative return เข้าด้วยกันทั้งศตวรรษ กลับปรากฏว่าผลตอบแทนส่วนนี้น้อยมากๆ จนเรียกได้ว่าใกล้ศูนย์เลยทีเดียว หนำซ้ำการพยายามเก็งอารมณ์ตลาดก็เป็นเรื่องแสนยากลำบากเช่นเดียวกัน ดังนั้น โบเกลจึงแนะนำว่า ควรพุ่งความสนใจไปที่ ความสามารถในการทำกำไรและการจ่ายเงินปันผลของหุ้นมากกว่าไปพยายามเก็งอารมณ์ของตลาด... เพราะคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเก็งอารมณ์ของตลาดได้

พลังแห่งความสามัญ

อันที่จริงแล้ว นอกจากการที่เราจะไม่สามารถเก็งอารมณ์หรือระดับ P/E ในอนาคตแล้ว บ่อยครั้งความพยายามที่จะกะเก็งจังหวะเวลากลับกลายเป็นการพาตัวเองไปสู่กับดักของการซื้อแพงขายถูก เพราะปรากฏว่ากระแสเงินมักไหลเข้าสู่กองทุนตามหลังช่วงที่ผลประกอบการดีเยี่ยม ซึ่งมักปรากฏ ณ จุดสูงสุดของช่วงตลาดกระทิง แล้วไหลออกไปอีกไม่นานให้หลังเมื่อผลตอบแทนที่แย่เกิดตามมา ดังนั้นเขาจึงแนะนำนักลงทุนให้ลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีความครอบคลุมตลาดกว้างขวาง แล้วถือลงทุนไปยาวๆ มากกว่าที่จะมาคอยซื้อขายทำกำไร มากจนเกินไป

Low cost index fund และ ETF

แนวคิดของโบเกิลจัดได้ว่าเป็นพวกนิยม passive ซึ่งอยู่บนฐานความคิดทางคณิตศาสตร์ง่ายๆ ว่ากำไรต่างๆที่นักลงทุนทุกคนได้รับรวมกันในระยาวย่อมเท่ากับกำไรที่ธุรกิจเหล่านั้นทำขึ้น ส่วนกำไรที่เกินไปกว่านั้นอันเกิดจากการเลือกหุ้นเก่งกว่าคนอื่น จับจังหวะเวลาดีกว่าคนอื่นนั้น เป็นสิ่งที่น้อยคนเท่านั้นที่จะทำได้ ดังนั้น เขาจึงมีข้อแนะนำที่สรุปได้ดังนี้ คือ อย่าพยายามยามที่จะเลือกหุ้นหรือจังหวะเวลาเพื่อเอาชนะตลาด แต่ขอเพียงลงทุนแล้วให้ได้ผลตอบแทนเหมือนๆกับตลาดก็ดีมากแล้ว (ยังจำได้ไหมครับ ผมเคยพูดถึงตลาดหุ้นหลายๆแห่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวประมาณ 10-12% ต่อปี และเงินลงทุนเดือนละ 10,000 บาทที่ลงทุน 30 ปี โดยมีอัตราผลตอบแทน 10% ต่อปีจะมีเงินรวมประมาณ 20 ล้านบาท)

ข่าวดีก็คือ ท่านนักลงทุนมีทางเลือกที่หลากหลายของกองทุนดัชนีที่บริษัทจดการลงทุนหลายๆแห่ง ซึ่งมักจะมีคำว่า SET หรือ SET50 เป็นต้น นอกจากนี้ในกรณีที่ท่านต้องการสภาพคล่องในการซื้อขายระหว่างวันด้วย ท่านก็ยังสามารถเลือก TDEX (ThaiDEX SET50 ETF) เป็นกองทุนดัชนีของท่านได้เช่นกัน เพราะ TDEX ก็มีทั้ง 1) คุณสมบัติของการเป็นกองทุนดัชนี SET50 ครอบคลุมหุ้นใหญ่ทั้ง 50 ตัวของตลาดหลักทรัพย์ และ 2) ค่าใช้จ่ายในการลงทุนและทำธุรกรรมน้อยมาก เพราะมีค่าจัดการลงทุนเพียง 0.40%ต่อปีและมีค่าคอมมิสชั่นในการซื้อขายเพียง 0.10% เท่านั้น

สัมมนา TDEX

เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนใน TDEX ทางบลจ.วรรณ และคณะจึงจัดสัมมนาพิเศษเรื่องทางเลือกการลงทุนในอนาคต ซึ่งจะมีผู้นำคนสำคัญจากอุตสาหากรรมต่างๆ อาทิ เช่น คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ จาก ปตท , ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล จากธนาคารกสิกรไทย , คุณไพบูลย์ นรินทรางกูร จาก บล.ทิสโก้ , คุณมนตรี ศรไพศาล จาก บล.กิมเอ็ง , คุณสมประสงค์ บุญยะชัย จาก บมจ. แอดวานส์อินโฟร์เซอร์วิส , คุณนริศ เชยกลิ่น จาก บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา , คุณอนุพงศ์ อัศวโภคิน จาก บมจ.เอเชียนพร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ และคุณสุวภา เจริญยิ่ง จาก บล.ธนชาติ ในช่วงบ่าย วันที่ 4 มีนาคม ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ท่านที่สนใจสามารถติดต่อจองสำรองที่นั่งได้ที่ฝ่ายการตลาดของ บลจ. วรรณ โทร 02 659 8888 กด 1 นะครับ(ที่นั่งมีจำนวนจำกัด)
กำลังโหลดความคิดเห็น