xs
xsm
sm
md
lg

ห้าม “เน็ตฯ-มาร์จิน” ไร้น้ำยา คนหุ้นชี้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ภัทรียา” ยันการปฏิบัติหน้าที่ ตลท.เพื่อสกัดหุ้นร้อนไม่มีดับเบิลสแตนดาร์ด ขณะที่เรียกหารือโบรกเกอร์หวังทบทวนมาตรการให้ทันสมัยกับปัจจุบันมากนี้ ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ชี้มาตรการห้ามเน็ทเซ็ตเทิลเมนต์-มาร์จิน เทรดดิ้งไม่ตรงจุด เสนอแนวคิดแยกกลุ่มหุ้นเก็งกำไรพร้อมตั้งซิลลิ่ง-ฟลอร์ใหม่ พร้อมเสนอพักการซื้อขายชั่งคราวระหว่างวัน ย้ำต้องศึกษาผลกระทบให้รอบด้านห่วงนักลงทุนรุมฟ้องจำกัดสิทธิ

จากกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เรียกบรรดาเชิญผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์รวม 8 ราย ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ ZMICO, บล.โกลเบล็ก, บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย), บล.ฟาร์อีสท์, บล.แอ๊ดคินซัน, บล.บัวหลวง, บล.ธนชาต และ บล.เคทีบี ร่วมหารือถึงมาตรการที่จะนำมาใช้เพื่อสกัดกั้นการเข้ามาใช้ตลาดหุ้นเป็นช่องทางการในการหาผลประโยชน์ของกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่

โดยช่วงที่ผ่านมามาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ มักจะถูกนำมาดับร้อนในกรณีที่หุ้นใดหุ้นหนึ่งมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดไปจากสภาวะทางที่เป็นจริง คือ การสั่งห้ามซื้อขายในลักษณะหักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน (Net Settlement) และห้ามสมาชิกให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Trading)

อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ ครั้ง แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์จะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ไม่ว่าจะเป็น 30 วันทำการหรือ 60 วันทำการแล้ว ยังไม่สามารถหยุดความร้อนแรงของหุ้นนั้นๆ ได้ กลับจะยิ่งทำให้กลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังความผิดปกติสร้างความท้าทายด้วยการพยายามดันให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ท้าทายและเย้ยมาตรการของตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย

สำหรับหุ้นที่ถือว่าอยู่ในกระแสของความร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมาจนถูกสั่งห้ามเน็ตเซ็ตเทิลเมนต์ และ มาร์จิน เทรดดิ้ง อาทิ หลักทรัพย์บริษัท บลิส-เทล จำกัด (มหาชน) หรือ BLIS, ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ บมจ.บลิส-เทล หรือ BLISS-W1, หุ้น บมจ. อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง หรือ IEC, หุ้น บมจ.ไลฟ์ อินคอร์ปอเรชั่น หรือ LIVE, หุ้น บมจ.ทราฟฟิก คอร์นเนอร์โฮลดิ้งส์ หรือ TRAF, หรือหุ้น บมจ.แนเชอรัล พาร์ค หรือ N-PARK และล่าสุด บมจ.เอส.อี.ซี.ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส หรือ SECC และวอร์แรนต์ SECC-W1 เป็นต้น

แหล่งข่าวจากผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า ความร้อนแรงของหุ้นเก็งกำไรมักจะเกิดขึ้นในสภาวะที่นักลงทุนไม่มีหุ้นให้ลงทุน เนื่องจากสภาวะตลาดหุ้นซึมจนผิดปกติ หรือในสภาวะที่ตลาดหุ้นเริ่มกลับมาสดใส เนื่องจากเป็นช่วงที่สามารถหาข่าวเข้ามาสนับสนุนเพื่อสร้างราคาหุ้นให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลายบริษัทจะมีข่าวมารองรับการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่การปรับเพิ่มขึ้นจะแรงกว่าที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้ การแก้ไขความรุนแรงของราคาหุ้นด้วยการสั่งห้ามเน็ตเซ็ตเทิลเมนต์ และ มาร์จิน เทรดดิ้ง ของตลาดหลักทรัพย์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่ามาตรการดังกล่าวไม่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาความร้อนแรงที่ผิดปกติได้อย่างตรงประเด็น เนื่องจากในช่วงที่มีการใช้มาตรการดังกล่าวหุ้นหลายบริษัทที่ราคาหุ้นยังปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางภาวะตลาด หรือปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริงของหุ้นดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องที่ถกเถียงมายาวนานโดยในต่างประเทศตลาดหลักทรัพย์บางแห่งจะไม่เข้าไปยุ่งกับการปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือลดลงของราคาหุ้น เนื่องจากเชื่อมั่นในความรู้และความเข้าใจของนักลงทุนว่าเข้าใจถึงเหตุและผลก่อนการจะเข้าไปลงทุน

“มันถือว่าเป็นเรื่องที่ยากที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว การออกมาตรการที่รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่อาจจะทำให้หน่วยงานที่ดูแลถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากการดำเนินการใดๆ จะต้องมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนั้นๆ สิ่งที่สำคัญในตอนนี้ คือ การสร้างความรู้และความเข้าใจเพื่อให้นักลงทุนลงทุนด้วยเหตุและผลน่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า แนวทางที่อาจจะต้องมีการพิจารณาเพื่อมาดูแลนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในหุ้นเก็งกำไรอาจจะต้องแยกกลุ่มหุ้นเก็งกำไรออกมาแล้วกำหนดการปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงให้แคบลง เพื่อไม่ให้ราคาหุ้นในแต่ละวันปรับตัวเพิ่มขึ้นและลดลงมากจนเกิดขึ้น หรืออาจจะนำหลักการการปิดการซื้อขายชั่วคราวเหมือนการใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์เข้ามาใช้ในระหว่างวันเหมือนการพักการซื้อขายหุ้นทั้งตลาดเมื่อดัชนีปรับตัวลดลงแตะระดับที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะใช้ได้หรือไม่นั้นคงต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน เนื่องจากหากมีการพักการซื้อขายนักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่ในขณะนั้น อาจจะได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถขายหุ้นออกมาได้ และอาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องเนื่องจากอาจจะถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิของนักลงทุนได้

**ตลท.ยันไม่เลือกปฏิบัติหุ้นเก็งกำไร

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์จะมีการทบทวนในเรื่องมาตรการดูแลการซื้อขายหุ้นในหุ้นเก็งกำไรที่มีราคาเปลี่ยนแปลง และปริมาณการซื้อขายผิดปกติ ซึ่งการทบทวนนั้นไม่ได้เป็นเพราะเกณฑ์ปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพ แต่เป็นการทบทวนว่าเกณฑ์ที่ใช้มีความเหมาะสมหรือไม่ในปัจจุบัน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯยืนยันว่าเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์บังคับใช้นั้นปฎฏิบัติกับทุกบริษัทไม่ได้เลือกปฏิบัติแต่อย่างไร

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ตลาดหลักทรัพย์ได้เชิญผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์เข้ามาหารือเกี่ยวกับการดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ให้มีความเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของโบรกเกอร์ และนักลงทุนให้สภาวะที่หุ้นเก็งกำไรหลายบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นลดลงสวนภาวะตลาดหุ้นโดยรวม ซึ่งจากการหารือร่วมกันครั้งนี้ ผู้บริหารโบรกเกอร์ได้เสนอแนวทางดูแลหุ้น เช่น การออกมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งในเรื่องดังกล่าวตลาดหลักทรัพย์จะเร่งหารือเพื่อรวบรวมและพิจารณาหาแนวทางในการปกป้องนักลงทุนต่อไป

**บริษัทจดทะเบียนยันไม่เกี่ยวกับพื้นฐาน

นางสัณห์จุฑา วิชชาวุธ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง หรือ IEC บริษัทที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มหุ้นเก็งกำไร กล่าวว่า แม้หุ้นไออีซีจะถูกจัดเป็นหุ้นเก็งกำไร แต่ส่วนตัวไม่รู้สึกกังวลที่ราคาหุ้นของบริษัทจะเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องภาวะโดยรวมของตลาด เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นความพึงพอใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาซื้อขายหุ้น

ทั้งนี้ ส่วนตัวเป็นผู้บริหารบริษัทจึงต้องเน้นในการสร้างผลการดำเนินงาน เพื่อให้บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ได้รับผลตอบแทนที่ดีมากกว่า ดังนั้น แม้ตลาดหลักทรัพย์จะนำมาตรการใดๆ มากำกับดูแลหุ้นที่มีความร้อนแรงคงจะไม่กระทบต่อปัจจัยพื้นฐานและภาพลักษณ์ของบริษัทแน่นอน แต่มาตรฐานในการดูแลของตลาดหลักทรัพย์ ควรที่จะมีมาตรฐานเดียวกันในการดูแลบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัท

“ตลาดหลักทรัพย์ไม่ควรเลือกปฏิบัติ หรือมีสองมาตรฐานในการทำงาน การจะประกาศใช้มาตรการใดๆ ออกมาควรจะมีการแจ้งล่วงหน้า เพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อมทั้งนักลงทุนและบริษัท” นางสัณห์จุฑา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น