xs
xsm
sm
md
lg

ตลท.ร่วมถก 8 โบรกฯ ล้อมคอกหุ้นเก็งกำไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหลักทรัพย์ เผยเชิญ 8 บล.หารือแนวทางดูแลหุ้นเก็งกำไร-ป้องกันความเสี่ยงลูกค้า-โบรกเกอร์ เหตุราคาหุ้นหลายบริษัทพุ่งแรงแม้ยังขาดทุนอยู่ไม่สอดคล้องปัจจัยพื้นฐาน “ภัทรียา” ลั่นแค่ระดมความเห็นยังไม่มีข้อสรุป ด้าน ทีเอสเอฟซี ประกาศรายชื่อ 30 หุ้นไม่ปล่อยมาร์จิ้น ด้านหุ้นบลิส-เทล -ไออีซี ครบกำหนดห้ามเน็ตฯ-มาร์จิน 7 ก.พ.นี้ ขณะที่ ก.ล.ต.สั่งลงโทษมาร์เกตติ้งรวม 8 ราย โดยรายหนึ่งโทษหนักถึงขั้นเพิกถอนการให้ความเห็นในการซื้อขายหลักทรัพย์

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เชิญผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ประมาณ 8 แห่ง เข้ามาหารือเกี่ยวกับการดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ให้มีความเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของโบรกเกอร์และนักลงทุน จากในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นบางบริษัทมีสภาพการซื้อขายที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท เช่น ค่า P/E หรือมูลค่าตามบัญชี ฯลฯ หรือหลายบริษัทที่มีราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับผลการดำเนินงานที่ขาดทุน เป็นต้น

จากการหารือร่วมกันครั้งนี้ ผู้บริหารโบรกเกอร์ได้เสนอแนวทางดูแลหุ้นดังกล่าว ซึ่งมีหลายแนวทางแตกต่างกันไป อาทิ การออกมาตรการที่เข้มงวด หรือกฎเกณฑ์ที่ไม่ต้องเข้มงวดเกินไปแต่ต้องมีความชัดเจน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์จะรวบรวมข้อเสนอแนะดังกล่าวไปประกอบการพิจารณา แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดกรอบและระยะเวลาที่จะประกาศใช้ได้

“ตลาดหลักทรัพย์ได้เชิญบริษัทสมาชิกเข้ามาประชุมหารือในการดูและการซื้อขายหุ้นในตลาดให้มีความเหมาะสม จากที่หุ้นหลายบริษัทที่มีการซื้อขายไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน หรือหลายบริษัทมีผลขาดทุนอยู่แต่ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งการประชุมร่วมกับโบรกเกอร์ครั้งนี้ ผู้บริหารโบรกเกอร์เสนอแนวทางในการดูแตกต่างกันไป”

นางภัทรียา กล่าวว่า การหารือครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดี และผู้บริหารโบรกเกอร์ต่างๆ พร้อมจะให้ความร่วมมือในการดำเนินการติดตามดูแลในเรื่องความเสี่ยง และให้คำแนะนำลูกค้าที่เหมาะสม โดยหน้าที่ในการดูและการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยนั้นเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องมีการร่วมกันในการดูแล ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ในการดูและโบรกเกอร์ ส่วนโบรกเกอร์นั้น ถือว่าเป็นต้นทางในการดูและลูกค้า ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะมีหน้าที่ในการดูและตลาดหลักทรัพย์ฯ และโบรกเกอร์อีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ได้มีการประชุมร่วมกับ ก.ล.ต.ในเรื่องการดูและการซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมานี้

***แจงเหตุเรียก 8 โบรกเกอร์หารือ

แหล่งข่าวจากผู้บริหารโบรกเกอร์แห่งหนึ่ง ว่า ตลาดหลักทรัพย์เรียกผู้บริหารโบรกเกอร์ 8 แห่ง ได้แก่ บล.ซีมิโก้ บล.โกลเบล็ก บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) บล.ฟาร์อีสท์ บล.แอ๊ดคินซัน บล.บัวหลวง บล.ธนชาต และ บล.เคทีบี เพื่อหารือแนวทางการปกป้องนักลงทุนรายย่อย จากการเก็งกำไรหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวผันผวน จากการเข้ามาเก็งกำไรราคาหุ้นของนักลงทุนรายใหญ่ เช่นหุ้น BLISS, BLISS-W1, IEC, TRAF, N-PARK, LIVE เป็นต้น ที่มีการเก็งกำไรกันมากผิดปกติ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ถึงแม้ตลาดหลักทรัพย์จะมีมาตรการสกัดการเก็งกำไรโดยห้ามซื้อขายในลักษณะหักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน (เน็ตเซ็ตเทิลเมนต์) และห้ามสมาชิกให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิน) แต่ไม่สามารถสกัดการเก็งกำไรได้ เพราะนักลงทุนยังพร้อมที่จะซื้อขายโดยการใช้เงินสด ซึ่งในที่ประชุมมีการหารือและแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากมีหลายประเด็นที่เสี่ยงกับการถูกฟ้องร้องจากบริษัทฯได้ อีกทั้งปัจจุบันถือว่ามีกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ที่ดูแลเกี่ยวกับหุ้นเก็งกำไรอยู่แล้ว

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ผู้บริหารโบรกเกอร์บางรายเสนอให้ขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามซื้อขายหุ้นไปเลย หากใช้มาตรการห้ามเน็ตฯ-มาร์จิน 30 วันแล้วยังไม่ได้ผล แต่ถูกคัดค้าน เพราะหากทำอย่างนั้นอาจถูกบริษัทจดทะเบียนฟ้องร้องได้ เพราะถือว่าทำให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งมีบางรายเสนอให้ใช้มาตรการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม แต่ก็เกรงว่าจะสร้างความสับสนและยุ่งยากกับลูกค้า

“การที่ตลาดหลักทรัพย์เชิญเฉพาะ 8 โบรกฯ เท่านั้น เพื่อหารือเกี่ยวกับหุ้นเก็งกำไรครั้งนี้ เพราะออเดอร์มาจาก 8 โบรกเกอร์ดังกล่าว และที่ประชุมก็เห็นร่วมกันว่าควรจะดูแลหุ้น 3 ตัวเป็นพิเศษ คือ BLISS IEC และ N-PARK เพราะมีการเก็งกำไรกันมาก” แหล่งข่าวกล่าวว่า
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ เป็นวันสุดท้ายที่ตลาดหลักทรัพย์ห้ามซื้อขายเน็ตเซ็ตเทิลเมนต์ และและมาร์จิน ในหุ้น BLISS และ IEC

***TSFC เปิดหุ้นไม่ปล่อยมาร์จิน

จากข้อมูลของบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ (TSFC) ในเดือนกุมภาพันธ์ มีหลักทรัพย์ที่ไม่อนุญาตให้ซื้อขายเพิ่มในบัญชีมาร์จิน และ/หรือนำเป็นหลักประกันเพิ่ม รวม 30 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) หรือ EMC, บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GBX บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (HEMRAJ), บริษัท เมโทรสตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (METRO), บริษัท แมกเนคอมพ์ พรีซิชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (MPT), บริษัท ริช เอเชีย สตีล จำกัด (มหาชน) (RICH) บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) (RS)
บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAMART), บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) (TASCO), บริษัท ไทยยูนีคคอยล์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (TUCC), บริษัท เอเซีย เมทัล จำกัด (มหาชน) (AMC) ,บริษัท หลักทรัพย์แอ๊ดคินซัน จำกัด (มหาชน) (ASL) บริษัท บลิส-เทล จำกัด (มหาชน) (BLISS), บริษัท อีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน) (EWC),บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) (IEC), บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) (PF), บริษัท ที.เค.เอส.เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (TKS), บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (A), บริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) (BFIT), บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) (CCP)

บริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) (ESTAR), บริษัท อีเทอร์นิตี้ แกรนด์ โลจิสติคส์ จำกัด (มหาชน) (ETG), บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) (FNS), บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) (GENCO), บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (INET), บริษัท ไลฟ์ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (LIVE),บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) (MK), บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) (SAMTEL) บริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (SECC), บริษัท ศิครินทร์ จำกัด (มหาชน) (SKR)

***ก.ล.ต.สั่งลงโทษมาร์เกตติ้ง 8 ราย

ด้านสำนักงาน ก.ล.ต.รายงานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2551 ก.ล.ต.ได้ลงโทษผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน ประกอบด้วย สั่งเพิกถอน (รายที่ 1) นายวีรวัฒน์ กลิ่นสุนทร สั่งพักการปฏิบัติงาน (รายที่ 2) นายวสันต์ ช้างแก้ว เป็นระยะเวลา 6 เดือน และภาคทัณฑ์ (รายที่ 3-8) เป็นระยะเวลา 1 ปี ได้แก่ นางสาวสุพรรษา สุขแสวง นางสาวศันสนีย์ กิจเจริญ นางสาววรรณาพร ยศสมศักดิ์ นางสาวขนิษฐา แก้งคำ นางประไพ ฉายคุณรัฐ และ นายศุภมิตร แซ่ลี้

สำหรับกรณี นายวีรวัฒน์ สำนักงาน ก.ล.ต.พบว่า นายวีรวัฒน์ ขอใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าทำการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อสร้างปริมาณการซื้อขายให้แก่ตนเอง และสั่งขายหลักทรัพย์ของลูกค้าที่อยู่ในบัญชีดังกล่าว เพื่อนำค่าขายไปชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ที่ นายวีรวัฒน์เป็นผู้สั่งซื้อ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ซื่อสัตย์ สุจริต และไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งถือเป็นนความผิดที่ร้ายแรงจึงสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไป และการที่นายวีรวัฒน์ ถูกเพิกถอนดังกล่าว ทำให้เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ก.ล.ต. จึงสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบการเป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของนายวีรวัฒน์ด้วย

ส่วนกรณีของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนที่กระทำผิดรายที่ 2-8 ตลาดหลักทรัพย์ พบว่า มีการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ให้กับลูกค้าในลักษณะที่ส่งผลให้ราคา หรือสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปไม่ตรงต่อสภาพปกติของตลาดหลักทรัพย์ (False Market) อันเป็นการปฏิบัติไม่เป็นตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ได้พิจารณาลงโทษ จึงเป็นผลให้เจ้าหน้าที่การตลาดรายดังกล่าวมีลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. จึงได้สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนรายที่ 2 เป็นระยะเวลา 6 เดือน คือ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2550

ขณะที่ รายที่ 3-8 ก.ล.ต.สั่งภาคทัณฑ์การปฏิบัติหน้าที่เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยรายที่ 3-6 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 และรายที่ 7-8 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551
กำลังโหลดความคิดเห็น