xs
xsm
sm
md
lg

USA เข้าสู่ recession ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"คุยกับผู้จัดการกองทุน"
ณัฐพัชร์ ลัคนาธรรมพิชิต
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บีที จำกัด
0-2686-9500


วัฏจักรของเศรษฐกิจ (Economic Cycle) สามารถแบ่งเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ คือระยะหดตัว (Contraction Period) และระยะขยายตัว (Expansion Period) แต่ถ้าหากมีการกำหนดเป็น 4 ช่วง (Phase) ตามที่มักจะได้ยินกันก็จะเป็น ช่วงตกต่ำ (Decline) ช่วงซบเซา (Recession) ช่วงพักฟื้น (Recovery) และช่วงเฟื่องฟู (Prosperity) ตามลำดับ

ในปัจจุบันทุกสำนักวิจัยต่างก็ยอมรับกันแล้วว่า เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในช่วงตกต่ำ และหลายสำนักเริ่มให้ความเห็นว่าโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ช่วงซบเซานั้นมีอยู่น้อยเต็มที ทำให้มีคำถามต่อมาว่า จะทำให้ภาวะของเศรษฐกิจทั่วโลกซบเซาตามไปด้วยหรือไม่ ในอดีตประเทศต่างๆทั่วโลกล้วนมีการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ทำให้มีผลกระทบค่อนข้างสูงหากสหรัฐเข้าสู่ช่วงซบเซา แต่มาระยะหลังเริ่มมีการกระจายการส่งออกไปยังประเทศอื่นมากขึ้น ทำให้ลดผลกระทบไปได้ไม่มากก็น้อย รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งของภาวะเศรษฐกิจ ฉะนั้นเราอาจจะวัดความสัมพันธ์ของภาวะเศรษฐกิจสองประเทศจากค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficient) ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์สองประเทศนั้น วันนี้จะลองใช้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และดัชนี DJIA (Dow Jones’ Industrial Average) ที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) มาคำนวณหาความสัมพันธ์ดังกล่าวดู โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 180 วันทำการในการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ และคำนวณตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2549 ก่อนมีการยึดอำนาจการปกครองในเดือนกันยายน 2549 จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2551 หลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ทั้งหมด 18 เดือนตามตาราง

ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ในช่วงที่ประเทศเรามีปัญหาด้านการเมือง ภาวะตลาดหุ้นของ SET และ DJIA มีการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กันค่อนข้างน้อย คือค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์มีค่าน้อยกว่า 0.5 และบางช่วงเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้าม คือค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์มีค่าติดลบ เพิ่งจะเริ่มมีการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กันมากขึ้นตั้งแต่ปลายเดือน กรกฏคม 2550 สูงสุดในเดือนตุลาคม 2550 ด้วยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ 0.86 แล้วลดลงมาตามลำดับ จนมีค่าต่ำกว่า 0.5 อีกครั้งในเดือนมกราคม 2551 อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อดัชนีหุ้น SET ก็ได้ว่าจะไม่เคลื่อนไหวตามดัชนีหุ้น DJIA ซึ่งยังคงมีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีโอกาสเข้าสู่ช่วงซบเซา จากปัญหาต่างๆที่รุมเร้าอยู่ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าปีนี้ที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน จะทำให้ภาวะตลาดหุ้นดีขึ้นบ้างได้หรือไม่ เพราะตามข้อมูลในอดีตเกือบทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งปีนั้นตลาดหุ้นมักจะขึ้น

หากการติดตามค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของดัชนี SET และ DJIA มีผลว่าค่าดังกล่าวยังคงลดลงต่อไปอีก จนมีค่าติดลบเหมือนกับช่วงปี 2550 แล้ว อาจจะอนุมานได้ว่า ในช่วงที่สหรัฐมีปัญหาด้านเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงซบเซา ภาวะตลาดหุ้นของ SET มีการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กับ DJIA ค่อนข้างน้อย จนบางช่วงเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามได้ หรือประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสหรัฐน้อยนั่นเอง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผู้ลงทุนก็อย่าได้ตื่นตระหนกขายหุ้นตามในวันที่เห็นดัชนี DJIA ติดลบเช่นที่ผ่านมานะครับ

“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน”
“ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต”

กำลังโหลดความคิดเห็น