xs
xsm
sm
md
lg

ฝัน... อยากจะรวย (Financial Literacy 2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร. สมจินต์ ศรไพศาล
บลจ. วรรณ จำกัด


ฝัน... อยากจะรวย คือชื่อบทแรกของหนังสือจัดทัพลงทุนที่ผมเขียนให้กับสำนักพิมพ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อสามปีที่แล้ว เพราะผมเชื่อว่า ทุกสิ่งที่ยิ่งใหญ่ล้วนเริ่มต้นจากความฝันที่จริงจังทั้งสิ้น… ด้วยฝันอยากจะบิน สองพี่น้องตระกูลไรท์ได้ประดิษฐ์เครื่องบินขึ้น ด้วยฝันอยากให้กลางคืนสว่าง โทมัส อัลวา เอดิสัน ทดลองนับพันครั้งจนประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าไส้คาร์บอนได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2422 และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของบริษัทจีอีอันยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน

ความมั่งคั่งร่ำรวยก็เหมือนกัน หากได้ตั้งเป็นความหวังความฝันไว้ ย่อมเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จ แต่ก่อนอื่นเราต้องมานิยามกันเสียก่อนว่า “รวย” คืออะไร คือเท่าใด...ท่านคิดว่ามีเงินเท่าใดจึงจะรวยครับ ถามร้อยคนอาจจะได้ร้อยคำตอบ กระทั่งถามคนๆ เดียววันนี้กับคำถามใหม่ในอนาคต ก็จะได้คำตอบที่แตกต่างกันอีกด้วย

ตอนยังไม่มีเงินล้าน ก็อาจหวังแค่เป็นเศรษฐีเงินล้าน แต่พอมีล้านแล้ว มาตรฐานความรวยอาจถูกยกขึ้นไปที่สิบล้าน ร้อยล้าน ได้เป็นเรื่องปกติ การพูดถึง “ความรวย” ที่คิดถึง ”ความมี” เท่านั้น จึงจะหาข้อยุติไม่ได้ โรเบิร์ต
คิโยซากิ ผู้เขียนหนังสือ Rich Dad Poor Dad ที่ลือลั่น จึงเสนอให้ยึดอิสรภาพทางการเงิน (Financial Freedom) เป็นเป้าหมายแห่งความร่ำรวย โดยเขาให้คำนวณอัตราส่วนความมั่งคั่งเปรียบรายได้กับรายจ่าย ว่าถ้าหากเอารายได้เป็นตัวตั้งแล้วหารด้วยรายจ่าย ถ้ารายได้มากกว่ารายจ่ายค่าที่คำนวณได้ก็จะเกินหนึ่ง ผมได้นำความคิดของโรเบิร์ต มาเสริมต่ออีกนิดหน่อย เพื่อเป็นบันไดของการสร้างความมั่งคั่ง เรามาดูตัวอย่างคนสี่คนต่อไปนี้กันครับ
                            นาย ก           นาย ข        นาย ค          นาย ง
รายได้จากการทำงาน 400,000       400,000    400,000       400,000
รายได้จากทรัพย์สิน ____-____     200,000    200,000       400,000
รายได้รวม               400,000        600,00     600,000        800,000
รายจ่าย                   400,000       400,000    200,000        200,000

สี่คนนี้เรียนจบจากที่เดียวกัน ทำงานเก่งพอกัน ได้เงินเดือนปีละสี่แสนบาทเท่ากัน แต่มั่งคั่งต่างกัน เรามาคำนวณความมั่งคั่งของพวกเขาเป็นสองระดับ ดังสูตรต่อไปนี้ครับ

ความมั่งคั่งขั้นต้น = รายได้จากการทำงาน + รายได้จากทรัพย์สิน
รายจ่าย

ความมั่งคั่งทรัพย์ = รายได้จากทรัพย์สิน
รายจ่าย

ผลของการคำนวณความมั่งคั่งเป็นดังนี้
                       นาย ก     นาย ข       นาย ค       นาย ง
ความมั่งคั่งขั้นต้น  1           1.5            3               4
ความมั่งคั่งทรัพย์   0          0.5            1               2

นาย ก มีความมั่งคั่งขั้นต้นเท่ากับ 1 หมายความว่า เขาอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาใคร แต่ความมั่งคั่งทรัพย์ของนาย ก เป็นศูนย์ เพราะไม่มีทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เลย ความที่เขาใช้จ่ายเงินที่หาได้พอดี ทำให้เขาไม่เหลือเงินเก็บ เมื่อไม่มีเงินเก็บย่อมไม่สามารถลงทุนสร้างทรัพย์สินได้

นาย ข ดีขึ้นมาหน่อย เพราะมีทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ด้วย นาย ข มีรายได้รวมเป็น 1.5 เท่าของรายจ่าย ดังนั้น ส่วนเกินก็สามารถออมลงทุนได้ แบ่งปันทำบุญ ทำกุศลได้ด้วย แต่นาย ข ยังเกษียณตัวเองไม่ได้ เพราะรายได้จากทรัพย์สินยังไม่พอค่าใช้จ่าย (ความมั่งคั่งทรัพย์น้อยกว่า 1)

นาย ค มีแหล่งรายได้เหมือนนาย ข แต่มีความสามารถในการออมดีกว่านาย ข เพราะรู้จักควบคุมรายจ่ายอย่างดี ทำให้อยู่ได้ด้วยค่าใช้จ่ายเพียงสองแสนบาทต่อปี จึงทำให้เขามีความมั่งคั่งขั้นต้นเท่ากับ 3 เท่าของรายจ่าย และความมั่งคั่งทรัพย์เท่ากับหนึ่งนั้น แสดงว่านาย ค เริ่มมีอิสระภาพทางการเงินแล้ว หากเขาต้องเกษียณลงในวันนี้ ชีวิตก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ เพราะมีทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้มากคุ้มค่าใช้จ่ายแล้ว

นาย ง คือผู้ที่มีความมั่งคั่งที่สุด แม้เขาจะทำงานเก่งเท่าๆ กับนาย ค แต่เขาใช้เงินทำงานลงทุนเก่งกว่า บัดนี้ ทรัพย์สินของนาย ง ก่อให้เกิดรายได้ถึงสี่แสนบาท ทำให้นาย ง เป็นผู้มีอิสระภาพทางการเงินโดยแท้ มีความมั่งคั่งขั้นต้นเท่ากับ 4 เท่า มีความมั่งคั่งทรัพย์เป็น 2 เท่าของรายจ่าย

ตัวอย่างคนทั้งสี่บอกเราว่า ในการก้าวขึ้นไปบนเส้นทางการสร้างความมั่งคั่งนั้น เราต้องหาได้ ต้องใช้เป็น (จึงออมได้) และต้องฉลาดในการลงทุน

ผมชอบการตั้งเป้าหมายทางการเงินด้วยความมั่งคั่ง เพราะทำให้เราเห็นภาพที่ครบสมบูรณ์ว่า เราสร้างความมั่งคั่งได้ทั้งจากการเพิ่มรายได้ (การทำงานและการลงทุนสร้างทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้) และการลดค่าใช้จ่าย

ในวันนี้ ผมอยากเชิญชวนท่านผู้อ่านให้ลองคำนวณความมั่งคั่งของท่านตามสูตรที่ผมได้แสดงไว้ดู แล้วลองตั้งความหวัง ความฝัน ของท่านดูนะครับ และนอกจากความฝันเรื่องความมั่งคั่งของตัวเองนี้ เราก็อาจมีฝันเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วย

เมื่อห้าปีที่แล้ว ผมเคยฝันอยากจะนำ ETF (Exchange Traded Fund) เข้ามาสู่เมืองไทยให้เป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพสำหรับการลงทุนในตลาดทุน วันนี้เราได้มี TDEX (ThaiDEX SET50 ETF) แล้ว แต่ผมยังฝันต่อไป ที่จะ Educating Thais towards Financial Freedom ซึ่งคงเขียนเป็นตัวย่อได้เป็น ETF2 โดยที่ ETF (TDEX) นั้น ถือเป็นเครื่องมีหนึ่งที่ใช้เพื่อสานฝันนั้นให้เป็นจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น