xs
xsm
sm
md
lg

“เศรษฐกิจพอเพียง”กับ “การลงทุน”เคล็ดไม่ลับจาก...ผู้บริหารบลจ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


..... "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไข เพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจาก การเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก โดยจะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน”


“เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ใช้เฉพาะในภาคการเกษตรเท่านั้น แต่สามารถใช้ได้ในทุกด้าน ทั้งในด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และในภาคธุรกิจ ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่สามารถนำไปใช้ได้ และเป็นแนวทางนำพาไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนด้วย

โดยเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปใช้ในรูปแบบใดและเข้าใจอย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายบริษัทนำไปใช้แล้วประสบความสำเร็จยกตัวอย่างเช่น บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จากเดิมที่เป็นหนี้หลายหมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันธุรกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัจจุบันโลกได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย โดยเฉพาะระบบทุนนิยม ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทยที่ถูกทุนนิยม และบริโภคนิยมเข้าครอบงำ กระตุ้นให้เกิดการบริโภคอย่างไม่รู้จักพอ จนประเทศไทยแบกรับไม่ไหวและใกล้จะประสบปัญหาดังเช่นอดีตที่ผ่านมา

สิ่งที่ตามมาของทุนนิยมคือ ความไม่เสมอภาคในสังคม ซึ่งปัจจุบันจะสังเกตได้จากมีกลุ่มหรือบุคคลที่รวยเฉพาะกลุ่มเท่านั้น โดยจะแสวงหาหนทางไปสู่ความร่ำรวยอย่างไม่รู้จักจบสิ้น หรือเรียกว่าไม่รู้จักพอ

ทุกวันนี้มีคนรวยมีมากมายแต่ส่วนใหญ่รวยอย่างเร่งร้อน ทำให้ในที่สุดต้องล่มสลายซึ่งตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจพอเพียงที่รวยแล้วต้องยั่งยืนอยู่อย่างมีความสุข ในขณะที่คนรวยบางคนไม่มีความสุขแม้ว่าจะกินอาหารที่แพงๆ แล้วคิดว่ามีความสุข ก็ไม่ใช่ความสุขอย่างแท้จริง อยู่ไปอีก 1-2 ก็จะล่มสลายไปเองดังนั้นต้องรู้จักพอ ตามทฤษฎีด้วย ไม่ใช่แค่ขึ้นป้ายใหญ่โตสนับสนุนความพอเพียง แต่บริษัทตนเองกลับไปนำไปทำตามเป็นแบบอย่าง”
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง ร่วมใจเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง:การปรับใช้เศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ ที่โรงแรมอิมพิเรียลแม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2549

คงไม่มีสิ่งใดจะให้นิยามทฤษฎี “เศรษฐกิจพอเพียง”ดีกว่าไปกว่าข้อความข้างต้นนี้แล้ว ปัจจุบันหลากหลายองค์กร หลากหลายธุรกิจ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐต่างยึดมั่นนำทฤษฎีดังกล่าวมาเป็นหลักการดำเนินงานกันอย่างกว้างขวาง

"เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไข เพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจาก การเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก โดยจะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน

ขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้าง พื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื้อสัตย์ สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

สำหรับ การลงทุนผ่านกองทุนรวมด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ก็เช่นกัน ผู้บริหารบริษัทจัดการลงทุนให้ความเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เป็นเรื่องที่นักลงทุนบางท่าน อาจลืมไปนั่นเอง

คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การจัดการการเงินภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจะเริ่มจากหลักธรรมในการลงทุน 4 ข้อ คือ มีสติ มีปัญญา เดินสายกลาง และไม่โลภ

สติ คือความระลึกได้ เปรียบเสมือนหางเสือคุมเรือชีวิต การมีสติในการจัดการการเงินคือต้องรู้ว่าสิ่งที่เราจะลงทุนคืออะไร มีความเสี่ยงอย่างไร โอกาสรับผลตอบแทนเป็นอย่างไร และใช้ระยะเวลาลงทุนนานหรือไม่ ถ้าท่านไม่มีสติ ท่านอาจจะจัดการลงทุนของท่านโดยเลียนแบบผู้อื่น หรือลงทุนตามข่าวลือ

ปัญญา คือความรอบรู้ ท่านต้องรู้ว่าท่านรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด ต้องรู้กำลังลงทุนของตนเอง ทั้งยังควรศึกษาให้รู้เกี่ยวกับการลงทุนในรูปแบบต่างๆ

เดินสายกลาง ในการจัดการการเงินและการลงทุน ท่านควรจะกระจายความเสี่ยง โดยการกระจายลงทุนในสินทรัพย์และหลักทรัพย์หลายๆประเภท เพื่อลดความผันผวนกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น นอกจากนี้ท่านยังควรตั้งความคาดหวังให้พอดีๆ ไม่คาดหวังสูงเกินไป จะได้ไม่เสียใจในภายหลัง

ไม่โลภ ความโลภเป็นกิเลสทำให้จิตใจเศร้าหมอง หากไม่โลภจิตใจก็ไม่เศร้าหมอง อย่าให้ความสุขจากการได้รับผลตอบแทนต้องหายไปเพราะความโลภ ทั้งนี้วิธีจำกัดความโลภที่ดีคือการ “สละบริจาค”

แนวคิดในการจัดการการเงินภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นแนวคิดในการจัดการการเงินเพื่อให้มีความสมดุล เนื่องจากความสมดุลจะนำไปสู่ความยั่งยืน ความสมดุลหมายถึง รายได้กับรายจ่ายต้องสมดุลกัน และมีเหลือเก็บออม สะสมทุน เพื่อนำไปใช้ในยามที่ร่างกายไม่สามารถทำงานได้ เพื่อมิให้เป็นภาระของลูกหลาน

เงื่อนไขคุณธรรม

ในพุทธศาสนามีหลักธรรมเรียกว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถธรรม” หรือ ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน ประกอบด้วย **มีความขยันหมั่นเพียร รู้จักจัดการงานในการหาทรัพย์อย่างสุจริต รู้จักเก็บรักษาทรัพย์ รู้จักคบคนที่จะเกื้อกูลแก่การงานและทำให้ชีวิตมีความดีงาม เจริญก้าวหน้า และท้ายที่สุดคือมีหลักการใช้จ่ายอย่างพอดีที่เรียกว่า สมชีวิตา หากท่านสามารถปฏิบัติได้ตามหลักธรรมนี้ รับประกันว่าท่านจะมีเงินไว้ใช้ มีทุนสะสมยามเกษียณ และมีความสุขกับการใช้ชีวิตแน่นอน

เงื่อนไขความรู้

ก่อนที่จะมีการจัดการการเงิน ทุกคนต้องเรียนรู้มาก่อนจึงจะเข้าใจว่าเงินทองเป็นของมีค่า บางคนเรียนรู้ด้วยความสนุก บางคนเรียนรู้ด้วยความเจ็บปวด เมื่อรู้ว่าเงินทองเป็นของมีค่า ก็จะมีความรอบคอบ ระมัดระวังในการใช้เงิน และเรียนรู้ที่จะเก็บออมสะสมไว้ในวันข้างหน้า เป้าหมายของการเรียนรู้เกี่ยวกับการเงินคือให้รู้จักค่าของเงิน ให้รู้จักทำมาหากิน หรือทำมาค้าขาย หรือทำงานเลี้ยงชีพอย่างสุจริต รู้จักใช้เงินที่หามาได้อย่างคุ้มค่า ไม่ตกเป็นเหยื่อของความฟุ้งเฟ้อและใช้จ่ายเงินเกินตัว และ ให้รู้จักวางแผนชีวิตเพื่อความมั่นคงของชีวิตในอนาคต

การเรียนรู้เกี่ยวกับการเงินนี้ ยิ่งเริ่มได้เร็ว ก็จะยิ่งมีประโยชน์ และประโยชน์นี้เป็นประโยชน์ไปตลอดชีวิตของคนคนนั้นเลยทีเดียว ดังนั้น ท่านจึงควรเริ่มสอนความรู้เรื่องการเงินให้ลูกหลานตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก การยกตัวอย่างผู้คนในชีวิตจริง ทั้งที่เป็นตัวอย่างที่ดีและที่ไม่ดี หาโอกาสสอดแทรกให้เด็กรู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์ แต่เยาว์วัย จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ให้เขาต้องเจ็บปวดกับการเรียนรู้ในอนาคต

เริ่มต้นการออม....ไม่ยากอย่างที่คิด

การออม คือการยอมสละการใช้จ่ายในวันนี้เพื่อนำไปใช้ในวันข้างหน้า การออมไม่ใช่การลงทุนแต่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดการลงทุน ถ้าอย่างนั้นการลงทุนคืออะไร? **การลงทุน**คือการหาประโยชน์จากเงินออมที่มี อาจจะเพื่อนำผลประโยชน์ มาใช้ ในระยะสั้น ระยะปานกลาง หรือระยะยาว หรือบางครั้งอาจต้องนำเงินลงทุนมาใช้ด้วย หากผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการลงทุนไม่เพียงพอ

การออมไม่ใช่สิ่งที่ยาก ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าใดก็สามารถแบ่งออมได้เสมอ ยิ่งเริ่มออมเร็วก็ยิ่งจะมีโอกาสนำไปลงทุนได้ผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น ตามความคิดของคนส่วนใหญ่ เงินออมคือเงินที่เหลือจากการใช้จ่าย ฉะนั้นถ้าไม่มีเงินเหลือจากการใช้จ่ายก็ไม่สามารถจะออมเงินได้ ซึ่งดิฉันได้เสนอให้เปลี่ยนวิธีคิดมาหลายปีแล้วว่า “การออมคือการแบ่งเงินส่วนหนึ่งของรายได้มาเก็บไว้ และส่วนที่เหลือจึงนำไปใช้จ่าย” หากทำได้ท่านก็สามารถเริ่มมีเงินออมได้ ไม่ว่ารายได้ของท่านจะเป็นเท่าใด

การออมที่ดีต้องออมอย่างมีวินัย ต้องฝึกจนเป็นนิสัย ต้องฝึกให้เด็กๆรับรู้ตั้งแต่เยาว์วัยว่า “คนรวย” คือ คนที่หาเงินได้มากกว่าที่ใช้ และ”คนจน” คือคนที่ใช้เงินมากกว่าที่หาได้** เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าใด ก็มีสิทธิ์เป็นคนรวยได้ เคล็ดลับของการออมคือการตั้งเป้าหมายที่ท้าทายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ออมแล้ว...ต้องลงทุน

ผู้ที่จะลงทุนต้องมีความรู้ ต้องมีความเข้าใจในการลงทุน เนื่องจาก ผลตอบแทนจากการลงทุนในทรัพย์สินต่างๆมีความแตกต่างกัน ความเสี่ยงในการลงทุนก็แตกต่างกัน นอกจากนั้น ผู้ลงทุนแต่ละคนก็รับความเสี่ยงในการลงทุนได้ไม่เท่ากัน ผู้ลงทุนนอกจากจะต้องทราบว่าเครื่องมือในการลงทุนต่างๆ มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดแล้ว ยังต้องทราบว่าตนเองรับความเสี่ยงได้ในระดับไหนอีกด้วย

“เมื่อท่านทำงานอย่างขยันขันแข็ง หาเงินมาได้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เก็บแบ่งเงินมาออมได้ ใช้จ่ายไม่เกินตัว รู้จักวิธีการลงทุนอย่างมีหลักการ และรู้จักวางแผนเพื่อความมั่นคงของชีวิต ชีวิตของท่านก็จะมีสมดุล ความมั่งคั่งของท่านก็จะยั่งยืน และท่านก็ยังสามารถเผื่อแผ่ แบ่งปันให้กับผู้อื่นได้อีกด้วย เศรษฐกิจของประเทศก็จะเจริญรุ่งเรือง และสังคม ก็จะน่าอยู่”

พอเพียงหนทางสู่ความมั่งคัง

คุณสมจินต์ ศรไพรศาล กรรมการผู้จัดการ บลจ.วรรณ กล่าวว่า ความเพียงพอและการงดกิเลส นั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำสั่งสอนมาอย่างสม่ำเสมอ และสามารถทำได้ในทุกอาชีพ ดังนั้นปฐมบทแห่งการสร้างความมั่นคั่ง คือเราต้องทำงานด้วยความรักให้เต็มที่และรู้จักเก็บออม จากนั้นรายได้ก็จะมีมาเอง และเมื่อมีรายได้ที่พอเพียงแล้ว เราก็จะมีเงินที่จะนำไปลงทุนได้

นอกจากนี้ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ที่นักลงทุนควรใส่ใจนั่นคือ หลักของความเพียร อันได้แก่พรมวิหารสี่ ซึ่งถ้ามีตรงจุดนี้ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยากแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองได้ และจะทำให้เกิดความสุข

ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง นับเป็นเส้นทางสู่ความมั่นคั่ง โดยหลักของความมั่นคั่ง คือ รวย (เน้นความมี) แล้วกลายเป็นความมั่งคั่ง (เปรียบเทียบจากความมีกับความต้องการ) โดยทางสู่ความมั่นคั่ง เริ่มต้นจากการขยายโดยเพียรสร้างสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้เกิดรายได้ และเมื่อมีรายได้แล้วให้นำมาลงทุน ขณะเดียวกันรายได้ส่วนหนึ่งให้นำมาหารกับรายจ่าย แต่เป็นรายจ่ายที่ต้องมีการปรับลดลงโดยความพอเพียง ซึ่งจะทำให้มีเงินเหลือในส่วนนี้จนนำไปสู่การออม

หลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ดร.สมจินต์ กล่าวว่า เมื่อการลงทุนผ่านกองทุนรวมนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นเครื่องมือ นั่นหมายถึง จะต้องนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 5 ประการมาพิจารณาประกอบด้วย ซึ่งหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ “กรอบแนวคิด” หมายถึงการชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น “คุณลักษณะ” หมายถึงเน้นปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน “คำนิยาม” หมายถึงความพอเพียงจะต้องประกอบไปด้วย ความพอประมาณ,ความสมเหตุสมผล,การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวจากการเปลี่ยนแปลง “เงื่อนไข” หมายถึง การตัดสินใจและการดำเนินกิจการต่างๆนั้น ต้องอาศัยความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน “แนวทางปฏิบัติ” การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน

“ยกตัวอย่างสามี-ภรรยาคู่หนึ่งในสหรัฐอเมริกา สามีเป็นช่างซ่อม ภรรยา เป็นช่างทำผม ตอนอายุ 50 ปีมีพอร์ต สินทรัพย์ ประมาณ 1ล้านดอลลาร์ ทั้งที่ไม่ใช่อาชีพที่น่าจะสร้างความร่ำรวย แต่เพราะว่า 30 ปีที่แล้วเขาตกลงกันและขอเจ้านายว่าทุกวันที่ 1 ที่เงินเดือนออก 90%ให้จ่ายเป็นเช็คแก่พวกเขา อีก 10% ขอฝากเจ้านายลงทุน เริ่มแรกก็ฝากธนาคาร ต่อมาก็เป็นการซื้อพันธบัตร ซื้อกองทุน ซึ่งถือว่าเป็นวินัยในการออมที่ดี”

สร้างวินัยในการออม

อย่างไรก็ตามการสร้างความมั่งคั่งนั้นอาจเป็นเรื่องที่ยาก สำหรับบางคน ถ้าไม่รู้วิธี โดยวิธีที่ดีที่สุดที่สามารถสร้างความมั่งได้ นั่นคือการมีวินัยในการออม เพราะเมื่อคนเรามีวินัยในการออม ย่อมจะช่วยทำให้มีสุขภาพการเงินที่ดี ทำให้เกิดการออมสม่ำเสมอ หรือการออมแบบอัตโนมัติ แม้จะเหมือนว่าเราต้องทะเลาะกับตัวเองทุกเดือนก็ตาม

“ผู้ลงทุนจำเป็นต้องมีวินัยการออมที่เป็นอัตโนมัติ หรือออมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับตน ตัวอย่างเช่น เงิน15,000 บาท ถ้าจะบังคับตนเองให้สิ้นเดือนต้องเหลือ 5,000 บาทนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเงิน 15,000 บาทจ่ายในทันทีเพื่อการออม 5,000 บาท ส่วนที่เหลือ10,000 หมื่นบาท มีไว้ให้สำหรับใช้ใน 1 เดือนยังง่ายกว่า”

หากมองว่าการสร้างวินัยในการออมนั้นเป็นเรื่องยาก เราต้องกลับไปมองหาข้อเท็จจริงนั่นคือ การลดรายจ่ายด้วยสันโดษ หรือ หลีกเลี่ยงอบายมุข 6 อันได้แก่ การดื่มสุราของมึนเมา ,การเที่ยวกลางคืน/นักเลงผู้หญิง ,การดูการละเล่นเป็นประจำ ,การเล่นการพนัน,การคบคนชั่วเป็นมิตร และการเกียจคร้านการทำงาน โดยรายจ่ายจะต้องมาจากพิจารณาการบริโภคปัจจัย 4 เป็นหลัก อันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย

การจัดสรรทรัพย์

ขั้นตอนต่อมา เมื่อเราสามารถยึดหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและนำมาปฏิบัติได้ สามารถละความสันโดษได้ รวมทั้งมีวินัยการออมแบบอัตโนมัติ สิ่งที่ควรกระทำต่อไปนั่นคือ **“การจัดสรรทรัพย์”** โดยเราจำเป็นต้องจัดสรรทรัพย์ โดยควรแบ่งทรัพย์ออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1 ส่วนเพื่อใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุงเลี้ยง และทำประโยชน์ 2 ส่วนใช้เป็นทุนประกอบการงาน และอีก 1 ส่วน เก็บไว้ใช้ยามจำเป็น

กระบวนการวางแผนการเงิน

นอกจากนี้ เมื่อเราสามารถดำเนินการทุกอย่างตามที่กล่าวมาได้แล้ว “กระบวนการวางแผนการเงิน” นับเป็นเครื่องมือประกอบ ที่ควรหมั่นศึกษา อันได้ 1.ระบุเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ 2.เก็บรวมรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 3.ระบุถึงปัญหาและข้อจำกัดทางการเงิน 4.พัฒนาแผนการเงินที่เป็นลายลักษณ์อักษร 5.นำแผนไปปฏิบัติ และ6.ทบทวนและปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ
มิติพอเพียงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

คุณกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจกองทุนรวม บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า กองทุนรวมนั้นไปกับเศรษฐกิจพอเพียงได้ โดยแบ่งเป็น 2 มิติ ประเภทที่ 1 คือความพอเพียงทำให้เกิดการลงทุนที่มีผลกับเศรษฐกิจโดยรวม นำไปสู่การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และช่วยผลักดันในตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน ส่วนประเภทที่ 2 นั้นมาจากการใช้จ่ายภาคประชาชน ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเช่นกัน แต่ต้องเป็นการ ใช้จ่ายที่ดี หรือใช้จ่ายอย่างพอเพียง ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งจะทำให้มีเงินเหลือเก็บ และจะกลายเป็นเงินออมหรือเงินลงทุนเพิ่มเติม

“เงินออกเก็บไว้เฉยๆ หรือฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์นั้นไม่เกิดประโยชน์เท่าใด แต่การลงทุนผ่านกองทุนรวมเหมือนกับเป็นการการช่วยเหลือกิจการ หรือธุรกิจต่างๆ ให้มีเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ และเมื่อธุรกิจนั้นมีรายได้และกำไรจากผลประกอบการมาเมื่อใด ก็จะจ่ายคืนกลับมาเป็นผลตอบแทนให้ลูกจ้าง และผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งจะได้รับมากกว่าผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแน่”

ผลตอบแทนมาก-น้อยขึ้นอยู่ที่ความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนจะเลือกลงทุนแบบไหนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับ ความเสี่ยง ที่ยอมรับได้ เพราะถ้าลงทุนไปในที่ๆมีความเสี่ยงเยอะ ผลตอบแทนที่จะได้รับก็จะสูงตาม เช่นเดียวกันถ้าเลือกลงทุนในที่ๆมีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็จะมีการปรับลดลงตามความเสี่ยงด้วยเช่นกัน นักลงทุนพิจารณาความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ตนสามารถยอมรับได้ ไม่ใช่ลงทุนไปเกินแรงของตัวเอง จึงจะถือว่าเป็นการดำเนินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

“การลงทุนในกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงที่อยู่ในระดับที่ดี นั้นเหมือนกับการมีภูมิคุ้มกันด้านการเงินที่ดีต่อผู้ลงทุนด้วย”

ความพอเพียงถูกสั่งสอนมาตั้งแต่วัยเยาว์

คุณอนุสรณ์ บูรณากานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บีที จำกัด กล่าวว่า การลงทุนที่ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในรูปแบบโดยตรงนั้นไม่มี แต่จริง ๆแล้วเรื่องดังกล่าวมีการสอนเรามานานแล้วว่า เราควรจะออมตั้งแต่ในช่วงอายุน้อย ๆ ด้วย ยกตัวอย่าง ในอดีตคุณพ่อคุณแม่เป็นข้าราชการ ดังนั้นตอนที่เป็นเด็ก ทุกๆ สิ้นเดือน จะต้องไปธนาคารกับคุณแม่เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าที่ดิน เพราะในช่วงนั้นคุณพ่อคุณแม่ได้ซื้อที่ดินแบบผ่อนชำระกับธนาคาร ทำให้เห็นรูปแบบการเก็บออม การสะสมมาตั้งแต่ยังเล็ก

“การที่เราได้เห็นคุณพ่อคุณแม่นำเงินไปผ่อนค่าที่ดินทุก ๆ เดือน ทำให้เราเข้าใจในเรื่องการออมมากขึ้น ซึ่งถ้าเราไม่ออมในช่วงอดีตที่ผ่านมา ก็จะไม่มีบ้านอยู่ และอาจจะไม่มีอนาคต ดังนั้นคนสมัยก่อนเค้าจะสอนให้ประหยัด และมีวินัยทางการเงิน โดยจะสอนให้ซื้อบ้าน หรือให้ฝากเงิน ซึ่งจะหมือนกับแนวคิดหรือปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในบางส่วน”

ปัจจุบันการลงทุนแบบออมเงินมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ ถ้าผู้ลงทุนจะนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้ถูกต้อง ควรที่จะเลือกลงทุนในกองทุนเพื่อการลงทุนในระยะยาว ซึ่งจะเป็นบลจ. ใดก็ได้ เพราะกองทุนดังกล่าวส่วนใหญ่แล้วจะมีนโยบายการลงทุนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ขณะเดียวกันยังถือว่าเป็นวินัยทางการเงินในอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้สิ่งที่อยากแนะนำนั่นคือ การเลือกลงทุนในกองทุนประเภทคุ้มครองเงินต้น ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่ำที่สุด และสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนฝากธนาคารในปัจจุบันด้วย

สุดท้ายนี้ หลักแนวคิด และข้อปฏิบัติต่างๆของทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงที่นำเสนอมานั้น จะสามารถช่วยสร้างประโยชน์กับผู้ลงทุนมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ของผู้ลงทุนเอง เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้นับเป็นพื้นฐานที่จะนำพาสินทรัพย์ของผู้ที่ใช้ไปสู่ความมั่นคั่งแบบยั่งยืน.....
กำลังโหลดความคิดเห็น