xs
xsm
sm
md
lg

ปฐมบทแห่ง Financial Literacy (ความหวังของสังคมโลก)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ คู่มือนักลงทุน
โดย ดร. สมจินต์ ศรไพศาล
บลจ. วรรณ จำกัด


ในสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีความชื่นใจ สุขใจเป็นพิเศษ และอยากจะแบ่งปันกับท่านผู้อ่านให้ร่วมชื่นชมยินดีด้วยกัน

เมื่อวันพุธที่ 16 มกราคม 2551 ผมได้รับเกียรติให้บรรยายให้กับกลุ่มนักศึกษาจาก 25 มหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ขันอาสาเข้าแข่งขันโครงการของ SIFE (Students in Free Enterprise)ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่สนับสนุนนักศึกษาให้สอนชุมชนในเรื่องของการเป็นผู้ประกอบการที่มีจรรยาบรรณ ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกว่า 2,000 แห่งใน 40 ประเทศร่วมแข่งขันกันอยู่ และในประเทศไทยก็มีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนชั่น เอชเอสบีซี และเคพีเอ็มจี เป็นผู้สนับสนุนหลัก

นักศึกษาสามารถเลือกที่จะถ่ายทอดโดยเน้นไปที่องค์ความรู้ได้ห้าหัวข้อด้วยกัน คือ กลไกระบบตลาด (market economics) การเป็นผู้ประกอบการ
(Entrepreneurship) ความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) ทักษะในการประสบความสำเร็จ (Success Skills) จรรยาบรรณทางธุรกิจ (Business Ethics) องค์ความรู้ทั้งห้านี้มีส่วนสำคัญในการทำให้การดำเนินการทางธุรกิจเป็นไปได้

ผมขอแสดงความชื่นชมในโครงการ SIFE และอยากเชิญชวนให้พวกเรามองโครงการ SIFE ในฐานะของตัวอย่างโครงการเพื่อสังคมที่มีประโยชน์อย่างมาก เพราะได้สร้างประโยชน์สำคัญอย่างน้อยสองต่อด้วยกัน คือ ทำให้เกิดการเผยแพร่ความรู้ไปสู่ชุมชนซึ่งอาจด้อยโอกาสในการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาปกติ และประการที่สองทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสคิดสร้างสรร คิดแบ่งปันความรู้ที่ตัวเองมีนั้นออกไป ดร.สตีเวน โควีกล่าวไว้ว่า ถ้าท่านอยากจะเข้าใจเรื่องอะไรอย่างถ่องแท้ละก็ จงสอนเรื่องนั้นๆ เพราะก่อนที่จะสอนได้ เราต้องศึกษาให้เข้าใจ ต้องเรียบเรียงและลำดับความคิดเพื่อการถ่ายทอดด้วย ดังนั้นนักศึกษาเหล่านี้ย่อมจะได้เรียนรู้อย่างเข้มข้นจากการสร้างโครงการเพื่อสอนคนอื่นนี้ และที่สำคัญยิ่งไปกว่าความรู้เหล่านั้น คงเป็นเรื่องของการที่นักศึกษาเหล่านี้ได้ตระหนักรู้ในความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย...เมื่อได้เห็นคนหนุ่มสาวเหล่านี้ที่ขันอาสาเข้ามาแข่งขันกันในการสร้างคุณความดีให้กับสังคมเช่นนี้ ผมรู้สึกชื่นใจ รู้สึกมีความหวัง และอดไม่ได้ที่จะแบ่งปันให้กับท่านผู้อ่านด้วย เพื่อพวกเราจะได้ร่วมกันชื่นชมยินดี มีความหวัง และมีแนวทางในการสร้างสรรสังคมไทยให้เจริญขึ้น เข้มแข็งขึ้น และน่ารื่นรมย์ขึ้นต่อไปด้วยกัน

หัวข้อที่ผมได้รับมอบหมาย คือเรื่อง Financial Literacy หรือความรู้ด้านการเงิน ซึ่งเป็นบาทฐานที่สำคัญของความสำเร็จของทั้งกิจการ และบุคคลทั่วไป ไม่เพียงว่าความรู้ทางการเงินมีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างความแตกต่างระหว่างกิจการที่ประสบความสำเร็จและกิจการที่ล้มเหลว ความรู้ทางการเงินยังมักเป็นตัวแยกความแตกต่างระหว่างกิจการที่พอไปได้กับกิจการที่ยิ่งใหญ่อีกด้วย

ความอ่อนหัดเรื่องการเงินทำให้ธุรกิจที่ทำท่าจะดีต้องล้มมานักต่อนัก และไม่เพียงธุรกิจเท่านั้น บุคคลทั่วๆ ไปก็เช่นกันความล้มเหลวของคนที่ดูน่าจะรวยมีให้เห็นทั่วไป ไม่เว้นแม้กระทั่งหมอ วิศวกร สถาปนิก ทนายความ ตลอดจน ดาราและนักกีฬาชื่อดัง เหมือนที่เราพูดกันว่า ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด สาเหตุก็คือ ขาด ความรู้ด้านการเงินนั่นเอง... ในขณะเดียวกันแม้คนที่มีความรู้ไม่สูง แต่มีความรู้ทางการเงินที่ดีเช่นคู่สามีภรรยาธรรมดาๆ อย่างช่างซ่อมรถ ช่างทำผมกลับสามารถประสบความสำเร็จมีเงินเป็นล้านๆ ดอลล่าร์เลยทีเดียว (ผมจะหาโอกาสเล่าเรื่องของฮีโร่ของผมคู่นี้ให้ฟังในโอกาสต่อไป)

ดังนั้นเองผมจึงอยากจะถือโอกาสที่ได้เตรียมความคิดเพื่อโครงการ SIFE นี้เขียนบทความต่อเนื่องสักสี่ตอนว่าด้วย Financial Literacy ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่าสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จในชีวิตของทุกๆ คน

และเพื่อให้ท่านเกิดความเชื่อ(ศรัทธาเป็นพลังที่สำคัญมากเสมอ)ว่าความรู้ทางการเงินนั้นสำคัญอย่างยิ่งจริงๆ ผมอยากจะขอให้ท่านลองดูตัวเลขในตารางข้างล่างนี้หน่อย

เราสามารถเสริมสร้างรายได้ได้โดย 1)ทำงานหาเงิน และ 2)ใช้เงินทำงาน ทายสิครับว่าในชีวิตของคนเราวิธีไหนจะมีกำลังมากกว่า ลองจินตนาการถึงพนักงานบริษัทที่อายุสัก 25-30 ปีซึ่งทำงานต่อเนื่องถึงอายุ 60-65 ปี ซึ่งหมายความว่าจะมีระยะเวลาของการทำงานประมาณ 35 ปี สมมุติว่าพนักงานท่านนี้ชื่อธวัชชัยก็แล้วกันนะครับ ถ้าธวัชชัยสามารถออมได้เดือนละ 5,000 บาท และได้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ย 10% ต่อปี โดยทุกๆปีธวัชชัยจะออมเพิ่มขึ้นห้าเปอร์เซ็นต์ แปลว่าปีแรกธวัชชัยจะออมได้ปีละ 60,000 บาท ปีที่สองธวัชชัยจะออมได้อีก 63,000 บาท ...โดยสมมุติว่าธวัชชัยจะสามารถได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10% ในเวลา 35 ปีธวัชชัยจะออมเงินได้รวม 5,419,218 บาท โดยได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน 24,394,858 เมื่อรวมต้นเงินกับผลตอบแทนเข้าด้วยกันก็จะได้เป็นเงินรวม 29,814,076 บาท ครับเฉียดๆ 30 ล้านบาทเลยทีเดียว และที่ผมอยากจะเน้นเป็นพิเศษ คือ ใน 30 ล้านนี้ เป็นส่วนที่มาจากการทำงานหาเงิน 5.4 ล้าน แต่เป็นส่วนที่มาจากการใช้เงินทำงาน 24.4 ล้าน ดังนั้น ความรู้เรื่องการเงินจึงสำคัญยิ่ง นอกจากการรู้วิธีหาเงินแล้ว เราต้องรู้จักวิธีใช้เงิน ออมเงิน และลงทุนด้วย ถึงตรงนี้ท่านคงได้เห็นศักยภาพของความมั่งคั่งที่เกิดจากความรู้ทางการเงินแล้ว และสำหรับหลายๆ ท่านที่ติดตามตลาดการเงินยู่เสมอคงพอจะเห็นด้วยกับผมได้ว่า สมมุติฐานที่ผมตั้งไว้นั้น ท้าทายแต่ทำได้จริงในทางปฏิบัติ แต่คงมีอีกหลายท่านที่ยังสงสัย คำถามที่สำคัญคงเป็น ท่านสามารถทำได้ตามสมมุติฐานที่ยกมาหรือไม่ กล่าวคือ
ท่านสามารถเริ่มต้นออมเดือนละ 5,000 บาทได้หรือไม่ (หรือสัก 25% ของรายได้ ไม่ว่าจะเท่าไหร่ก็ตาม)

ท่านสามารถคงวินัยการออมต่อเนื่องได้ทุกเดือนหรือไม่

ท่านสามารถลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10 % ไหม

สำหรับท่านที่ไม่แน่ใจ ผมขอชวนให้อ่านบทความในตอนต่อๆ ไปนะครับ ผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังว่า ด้วยความรู้ทางการเงินเราสามารถจะทำให้สมมุติฐานเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมาได้อย่างไร และเราสามารถทำให้ฝันเหล่านี้เป็นจริงได้โดยไม่ต้องเป็นเซียนหุ้นด้วยซ้ำไป การมีความรู้ดีๆ เรื่องกองทุนรวม เรื่องอีทีเอฟ (เช่น TDEX หรือ ThaiDEX SET50 ETF) ก็สามารถนำธวัชชัยไปสู่ธงชัยที่วาดฝันไว้ได้แน่นอนครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น