xs
xsm
sm
md
lg

หากตุลาการเสื่อม ศาลเสื่อม ประเทศชาติก็เสื่อม (3)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ในบทความเรื่อง “ใครใหญ่ กฎหมายหรือคน” ผมได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “ขณะนี้เราจะยุบพรรคได้อีกหลายพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองของผู้บริหารพรรคได้อีกเป็นสิบหรือร้อย เพียงแค่นี้แผ่นดินไทยก็จะสูงขึ้นอักโข เมื่อบ้านเลขที่ 111 เปลี่ยนไปเป็น 222 ในเดือนกุมภาพันธ์

ทำได้จริงๆ ด้วยครับ กฎหมายก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมีผู้กล้า ทำให้กฎหมายเป็นกฎหมาย และให้กฎหมายเป็นใหญ่จริงๆ เสียที”

คงจะไม่ต้องแปลนะครับว่า “กฎหมายต้องใหญ่กว่าคน” ถ้าเมื่อใดคนใหญ่กว่ากฎหมายแล้ว ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ต่อให้มีเลือกตั้งอีก 100 ครั้งก็ตาม

กกต.รุ่นแรกที่มีชื่อเสียงดังมากท่านหนึ่งกล่าวกับผมต่อหน้าบุคคลที่สามว่า “หากจะปฏิรูปการเมืองให้สำเร็จ เป็นประชาธิปไตยแท้จริงได้ ต้องปฏิวัติและห้ามผู้นำการเมืองปัจจุบันทุกคนเล่นการเมือง 10 ปี”

กล่าวกันว่าผู้นำการเมืองทุกคนในปัจจุบันไม่มีใครรักษากฎหมายหรือยอมให้กฎหมายเป็นใหญ่ได้ พากันเลี่ยงกฎหมาย ละเมิดกฎหมาย และทำลายกฎหมายบรรดามี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการคดโกงทุจริตต่อหน้าที่ จนกระทั่งประชาธิปไตยเป็นไปไม่ได้ในประทศไทย

เมื่อผมฟันธงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นโมฆะ และจะมีพรรคถูกยุบ 3-4 พรรคนั้น (1) ผมใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะเป็นมาตรฐาน (2) ผมพยายามทบทวนความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญและหลักการตีความ อ่านตัวบทรัฐธรรมนูญปัจจุบันและกฎหมายประกอบว่าด้วย กกต.การเลือกตั้ง และพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่ 9 การลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ส่วนที่ 3 เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง และส่วนที่ 4 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในกฎหมายเลือกตั้ง และ (3) ผมมีข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมอีก 5 ประการดังนี้ (3.1) สันนิษฐานว่าผู้ฟ้องฟ้องถูกศาล (3.2) สันนิษฐานว่าผู้ฟ้องฟ้องถูกเรื่อง (3.3) สันนิษฐานว่าผู้ฟ้องและศาลใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน (3.4) สันนิษฐานว่าผู้ฟ้องและศาลมีมาตรฐานความเข้าใจและตีความกฎหมายแบบเดียวกัน และ (3.5)สันนิษฐานว่าไม่มีการแทรกแซงศาลด้วยอำนาจใดๆ จากภายนอก

หากบทบัญญัติในข้อ (2) ทั้งหมดถูกนำมาตีความ และข้อสันนิษฐานทั้งหมดเป็นความจริงก็ย่อมแน่นอนว่าการเลือกตั้งต้องโมฆะและพรรคถูกยุบ หากข้อสันนิษฐานไม่เป็นจริงเพียงข้อใดข้อหนึ่งผู้กระทำผิดกฎหมายก็จะลอยนวล ผมรู้ยิ่งกว่ารู้ แต่ผมก็อดหวังไม่ได้ว่ากฎหมายจะต้องใหญ่กว่าบุคคลเสียที

การที่ นปก.แสดงฤทธิ์ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 นั้นทำให้ผมเป็นห่วงว่า ถ้าหากการเลือกตั้งเป็นโมฆะจริงๆ บ้านเมืองจะปั่นป่วนอย่างหนัก ผู้ถืออำนาจปกครองบ้านเมืองที่ขวัญอ่อนและด้อยประสบการณ์จะจับต้นชนปลายไม่ถูก ผมจึงเขียนคำแนะนำ “Best Case Scenario เมื่อเกิดสุญญากาศ ” ส่งไปให้ดังนี้

*“จำไว้ว่า สถาบันจะลงไปเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวได้ ก็ต่อเมื่อเกิด void หรือสุญญากาศทางการเมืองขึ้นจริงๆ (อย่างกรณี 14 ตุลาฯ) แต่เมื่อได้ก้าวลงไปจัดการจนช่องว่างดังกล่าวหมดไปแล้ว สถาบันกษัตริย์จะต้องรีบก้าวกลับขึ้นไปอยู่เหนือการเมืองอย่างเดิมโดยเร็วที่สุด จะได้พร้อมที่จะลงมาช่วยได้อีก ถ้าเกิดสุญญากาศขึ้นมาอีก” (พระราชกระแสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)

1. หากศาลตัดสินการเลือกตั้งเป็นโมฆะและยุบพรรค แปลว่า สุญญากาศสำคัญเกิดขึ้นแล้ว ควรสร้างสุญญากาศให้สมบูรณ์

2. สุญญากาศอาจเกิดขึ้นอีก และสามารถสร้างได้ อย่าปล่อยให้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมเป็นผู้ก่อสุญญากาศ

3. กองทัพจะต้องนำฝ่ายปกครองและตำรวจรักษาความสงบทั่วไปหรือ Civil Order ให้เด็ดขาด

4. ครั้งนี้เป็นโอกาสทองของกองทัพที่จะเป็นหลักในการสร้าง Civil Society หรือสังคมประชาธิปไตยให้กับประเทศชาติ เคล็ดลับก็คือปฏิบัติการภายใต้คำสั่งและบารมีของจอมทัพ

5. ควรประกาศกฎอัยการศึกทันที เพื่อให้มี deterrent effect ป้องกันจลาจลและการขนคน ภายใต้กฎอัยการศึกกองทัพใช้อำนาจทางการเมืองได้ ระวังอย่าสร้างหรือใช้อำนาจเผด็จการ ให้ใช้โอกาสทองตามข้อ 4

6. คมช.ควรเข้าเฝ้าทันทีเพื่อกราบบังคมทูลสลาย คมช.อย่างเป็นทางการ กลับเข้าสู่ฐานะกองทัพภายใต้จอมทัพตามหลักรัฐธรรมนูญ และประกาศให้ความมั่นใจแก่ประชาชน

7. เพื่อเจือจางความกดดันและทัศนคติด้านลบจากนอกและในประเทศ ผู้ใช้กฎอัยการศึกควรตั้ง “คณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” ประกอบด้วยอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งหมดนอกจากผู้ที่เป็นองคมนตรี ภายหลังกฎอัยการศึกอาจพัฒนาคณะที่ปรึกษาฯเป็น “สภาที่ปรึกษาฯ” ของรัฐบาลเป็นสถาบันถาวรต่อไปได้

8. นายกรัฐมนตรีและ สนช. ควรลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบและสลายตัวตาม คมช.ไปด้วยเพราะ คมช.เป็นผู้ตั้ง แต่จะต้องเลือกจังหวะเพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีและ/หรือประธานสภานิติบัญญัติเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและสภา

9. ประมุขฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ควรเข้าเฝ้าพร้อมกันเพื่อกราบทูลถวายรายงาน และขอพระราชทานคำแนะนำ

10. ควรถวายรายงานว่าบัดนี้ได้เกิดสุญญากาศขึ้นกับฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว การเลือกตั้งแบบเดิมจะต้องเผชิญอุปสรรคและความล่าช้า นอกจาก กกต.จะต้องแสดงความรับผิดชอบแล้ว โอกาสที่ กกต.จะต้องคดีมีสูงมาก

11. ควรใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของในหลวงและปวงชนโดยคำแนะนำของประมุข อำนาจอธิปไตยทั้งสาม รักษารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไว้ก่อน แต่แก้ไขเฉพาะบทเฉพะกาล และงดใช้ 2-3 มาตราที่เกี่ยวกับ ครม.และรัฐสภา เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาล สมัชชาแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติชั่วคราวโดยมิชักช้า

ผมขอย้ำว่าใน 11 ข้อนี้ สอดคล้องกับข้อเขียนและคำแนะนำของผมในการพูด ในบทความ และในหนังสือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน ไม่มีที่ไหนเลยที่ผมจะเสนอให้ใช้วิธีแต่งตั้งแบบอมาตยาธิปไตยทั้งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ผมเน้นให้ใช้สัญลักษณ์ วิธีการและองค์ประกอบ(คือตัวบุคคล)ที่เป็นประชาธิปไตย คือการเลือกตั้งทางอ้อมจากผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนมาแล้ว จากภาคการเมืองท้องถิ่น และแม้กระทั่ง ส.สโดยมิคำนึงว่าสังกัดพรรคใดที่ได้รับเลือกมาจากวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่ไม่มีข้อด่างพร้อยถูกร้องเรียนหรือกล่าวหา

ผมถูกกล่าวหาว่าหลับหูหลับตาหลงใหล และไม่ทราบความจริงเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมอย่างยิ่งของผู้บริหารและสมาชิก อบต.-อบจ-และเทศบาล ที่พากันเป็นทาสนักการเมืองระดับชาติ เป็นทาสราชการส่วนภูมิภาค เป็นพวกต่ำต้อยด้อยคุณภาพและคดโกงคอร์รัปชันฆ่ากันเป็นรายอาทิตย์

เพื่อนร่วมชั้นผมคนหนึ่งเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ อยู่นาน ไปเรียนและดูงานการปกครองท้องถิ่นที่อเมริกา โอนไปอยู่กระทรวงมหาดไทย ก่อนเกษียณคุมการปกครองท้องถิ่น เขียนมาว่า

“...การปกครองท้องถิ่น เมื่อหลายปีหรือจะร้อยปีมาแล้ว ยิ่งทำดูเหมือนจะยิ่งเละ ระบบ ส.ก.และ อบต. ก็อีหรอบเดียวกัน ยิ่งมากวัน ก็ยิ่งชำนาญในการหาทางทำมาหากินมากขึ้น โกงกันแหลกเข้าไปใหญ่ การเอาคนโกงมาแก้ปัญหาโกง ก็เหมือนเอาปัสสาวะไปล้างอุจจาระ รังแต่จะทำให้เหม็นไปกันใหญ่”

ทั้งหมดนี้มิใช่ผมจะไม่รับรู้ แต่ผมยังเชื่อว่าแก้ไขง่ายกว่านักการเมืองระดับชาติที่ท่านกกต.ใหญ่บอกว่าจะต้องห้ามเล่นการเมือง 10 ปี ผมจำได้ว่าอ่านหนังสือของภริยาอดีตประธานาธิบดีคาร์เตอร์ ผมไม่อาจลอกมาคำต่อคำ แต่เธอบอกว่าเมื่อเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชกระแสว่าถ้าจะไล่ตำรวจออกเรื่องคอร์รัปชัน ก็อาจจะต้องไล่ออกทั้งกรม ทางที่ดีต้องอย่าเอาอะไรไปให้ตำรวจใหญ่ เพราะจะถูกกินหมดและไม่แบ่ง ตำรวจเล็กๆ อาจจะกินไม่มาก ท่านที่สนใจโปรดไปอ่านดูนะครับ

เพื่อนคนเดียวกันเขียนชมว่าผม “ฉลาดมาก ที่เขียนหัวข้อ “เลือกน้ำเน่า เราจะพากันไปตาย” โดยทิ้งไว้ให้เข้าใจว่า เพียง “จะตาย” ไม่ใช่ “ตายจริง” เพราะไม่เช่นนั้น ข้อเขียนของท่านดร. คงจะได้รับการพิสูจน์ในไม่ช้านี้”

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ผมขอบคุณท่านที่มีปฏิกิริยาผ่านออนไลน์มา ตามปกติผมไม่ค่อยมีเวลาจะตามอ่าน แต่เรื่อง “หากตุลาการเสื่อมฯ (1) และ (2) ” นี้ ผมตามอย่างใกล้ชิด จนได้ข้อสรุปบางอย่างดังนี้ครับ

1. ท่านผู้อ่าน ในฉบับที่ (1) ขึ้นต้นก็ด่าอย่างเกรี้ยวกราดเลยว่าผมดูหมิ่นศาล โดยหาได้อ่านไม่ว่าผมพูดถึงศาลในยุค รสช.ซึ่งในตอนนั้นเรามีระบบศาลเดี่ยว ผมว่าระบบศาลเดี่ยวมีมาตรฐานน่าเชื่อถือและเหมาะสมกับประเทศไทยกว่าระบบหลายศาล จะเห็นได้ชัดๆ ว่า ปัจจุบันคดีสำคัญเกี่ยวกับความเป็นความตายของบ้านเมืองขณะนี้ถูกศาลโยนกันไปโยนกันมาว่า ไม่ใช่กงการหน้าที่ของตน หรือมิได้อยู่ในอำนาจศาลของตน ผมเสนอให้เรานำไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลชี้ขาดโดยด่วน จะได้ทราบว่าแน่ๆ เงินภาษีอากรที่เราเสียไปมหาศาลนี้ท่านผู้ใดมีหน้าที่และความรับผิดชอบเรื่องใดบ้าง

แต่ถึงจะเป็นระบบศาลเดี่ยวก็ยังจะมีปัญหาเรื่องศาลกระทำตนเป็นเสมือนอำนาจอิสระ ปราศจากการตรวจสอบใดๆ จึงอาจเสี่ยงและเสื่อมได้ง่าย เหมือนกับอำนาจอื่นๆ ซึ่งมีภาษิตว่า “ยิ่งมีอำนาจมาก ก็ยิ่งคอร์รัปชัน (ทำเสียหาย) มาก”

2. ขณะนี้เราใช้ระบบหลายศาล เป็นความสาระแนอยากเอาอย่างฝรั่งโดยไม่รู้เรื่อง และไม่เข้าเรื่องของนักวิชาการบ้าวิชา และนักการเมืองมักง่าย บทความตอน (2) คือปี 2544 ต้นยุคทักษิณนั้น รัฐธรรมนูญปี 2540 ของเราสร้างระบบหลายศาลขึ้นมาแล้ว จึงเกิดปัญหาเรื่องมาตรฐานและคุณภาพขึ้นมาในหลายๆ ศาล ผมได้พยายามอธิบายถึงความบกพร่องของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เมื่อสังคมของเราเป็นอำนาจนิยมตกอยู่ใต้อมาตยาธิปไตยอย่างนี้ องค์ประกอบหรือศาลรัฐธรรมนูญก็ดี กกต.ก็ดี ผู้ตรวจการรัฐสภาก็ดี ป.ป.ช. ก็ดี เราจะไปหานักประชาธิปไตยหรือผู้รอบรู้มาจากที่ไหน นอกจากเอาคนใหญ่โตเก่าเก็บมาจากระบบเดิมๆ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดขณะนี้ก็คือ การที่ กกต.ไปขุดนายสุวิทย์ ธีรพงษ์ออกมาจากกรุให้เป็นประธานอนุกรรมการสอบสวนของ กกต.แทนสันติบาล มีการถาม มีการตรวจสอบ หรือมีข้อมูลกัน ไม่ว่านายสุวิทย์เป็นตุลาการเสียงข้างน้อย 1 ใน 6 ที่ตัดสินว่าการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ไม่เป็นโมฆะ ยิ่งกว่านั้นนายสุวิทย์ร่วมกับคณะในศาลรัฐธรรมนูญถูกชี้โทษโดย ป.ป.ช.ว่ากระทำผิดฐานออกกฎเพิ่มเงินเดือนให้ตนเอง จะติดคุกหรือเปล่าก็ไม่รู้ นี่แหละเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมแบบของประเทศที่กำลังจะเอาคนที่ถูกพิพากษาติดคุก แถมยังมีคดีถูกกล่าวหาว่าทุจริตพ่วงมาอีกมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ในบทความตอน (2) ผมได้พยายามให้ข้อคิดและข้อมูลเปรียบเทียบคุณสมบัติ ที่มา และพฤติกรรมของตุลาการ เพื่อจะเตือนว่า เรามีปัญหาสถาบัน (มิใช่ส่วนตัวบุคคล) ที่เราจะต้องแก้ไข หากเราต้องการให้สังคมเป็นประชาธิปไตยที่กฎหมายต้องใหญ่กว่าคน

และผมได้แสดงความชื่นชมไว้ว่า “ผมแน่ใจว่าสถาบันตุลาการของไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จรรยาบรรณของผู้พิพากษาหรือ Judicial Ethics มีอย่างไร ของไทยก็มีอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง professional ethics คือจรรยาบรรณของอาชีพ personal ethics จรรยาบรรณส่วนตัว หรือ judge demeanor ความสำรวมระวังของตุลาการ ไม่ต้องไปเปิดตำราที่ไหน ก็มีตัวอย่างอยู่เพียบ”

ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะผมเห็นตัวอย่างอันประเสริฐจากอาจารย์สัญญา อาจารย์จิตติ ที่ผมมีโชคได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญชุดเดียวกับท่าน

ความชื่นชมของผมจะยังคงเป็นจริงในวันนี้หรือไม่ ในบทความตอนจบเราจะพูดถึงผู้พิพากษาและคำพิพากษาศาลฎีกาคดีการเลือกตั้งเป็นโมฆะและพรรคการเมืองนอมินี

ผู้ที่ไม่ชอบใจก็บอกว่าศาลส่งคนชั่วไปปกครองแผ่นดิน ในขณะที่ผู้ที่สมหวังก็อ้างว่านี่แหละคือประชาธิปไตยและเสียงสวรรค์ของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น