xs
xsm
sm
md
lg

SCBAMปรับเกมลุยบอนด์ไทย แก้พิษเฟดลดดบ.ฉุดยิลด์ECP

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ไทยพาณิชย์ ลั่นเฟดฉีดยาแรงไม่ทำแผนธุรกิจสะดุด ชี้แค่ปรับเกมเน้นลุยตราสารหนี้ในประเทศแทน หลังECP หมดเสน่ห์ให้ยิลด์ใกล้เคียงกัน พร้อมรุกออกกองเอฟไอเอฟเพิ่ม โฟกัสตลาดเฉพาะในเอเชีย ล่าสุดเปิดขาย“กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ฟันด์” คาดผู้ลงทุนเข้าจองซื้อไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท เพราะช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ดี

นายกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการผู้อำนวยการ สายธุรกิจกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า การที่อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ประเภท ECP (Euro commercial Paper) อยู่ในระดับที่ต่ำ และใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ภายในประเทศ ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกองทุน ECP ในขณะนี้ แต่ยังมีกองทุนประเภทอื่นที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีในการเข้าลงทุนอยู่อีกมาก

ทั้งนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ จะหันมาออกกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) มากขึ้น ส่วนการที่ ECP มีผลตอบแทนปรับลดลงมานั้น เรื่องดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบบ้างเช่นกัน โดยแต่ละ บลจ.เองอาจจะต้องปรับเปลี่ยนผลตอบแทนลดลงมา จากที่ตั้งไว้ในช่วงที่เปิดเสนอขายกองทุน และอาจจะอธิบายให้ลูกค้าได้เข้าใจถึงเหตุผลด้วย แต่สำหรับบริษัทไม่มีนโยบายปรับลดผลตอบแทนที่ตั้งไว้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจมีการปรับเปลี่ยนแผนเสนอขายกองทุนประมาณ 100 กองทุนใหม่ ซึ่งจะเพิ่มในส่วนของการจัดตั้งกองทุนเอฟไอเอฟ โดยจะเน้นลงทุนในเอเชีย 50% และลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้วอีก 50% เพื่อกระจายความเสี่ยง และเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ แม้ว่าการลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าการลงทุนในประเทศภูมิภาคเอเชียก็ตาม โดยภายในปีนี้บริษัทมีแผนออกกองทุน FIF ประมาณ 4-5 กองทุน มีมูลค่ากองทุนละ 1,500 ล้านบาท โดยจะเน้นลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) กลุ่มพลังงานทางเลือก และธุรกิจบำบัดสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเจริญเติบโตอีกมาก

ขณะเดียวกัน บริษัทจะทำการออกกองทุนตราสารหนี้ต่อไป โดยเน้นลงทุนตราสารหนี้ในประเทศมากขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศและในประเทศนั้นอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้ในต่างประเทศ ดังนั้นหากบริษัทจัดการลงทุนรายใดจะทำการออกกองทุนตราสารหนี้ในต่างประเทศ ก็จำเป็นที่จะต้องทำประกันความเสี่ยงผลตอบแทนไว้ด้วย

“นักลงุทนที่ต้องการไปลงทุนในกองทุน FIF จะต้องมองที่นโยบายของกองทุนเป็นสำคัญ ลงทุนในธุรกิจประเภทไหน โดยจะต้องเข้าใจในสิ่งที่ต้องการลงทุน อย่ามองเพียงผลตอบแทนที่ดีอย่างเดียว”

ส่วนการงานที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องทำอย่างเร่งด่วน คือการเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์ รวมทั้งต้องมีการใช้งบประมาณแบบขาดดุลมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมามีหน้าที่เพียงการจัดการเลือกตั้งเท่านั้น และไม่ได้ทำการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควร

นายกำพล กล่าวว่า บริษัทเตรียมเปิดเสนอขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ฟันด์ (SCBAEM) มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุน FIF ที่สร้างโอกาสรับผลตอบแทนจากหุ้นในตลาดเกิดใหม่เอเชีย อาทิ จีน ฮ่องกง อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ซึ่งมีแนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็ว โดยจะเปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 24 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2551 มูลค่าเงินลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท ซึ่งกองทุนนี้เหมาะกับผู้ลงทุนที่มีระยะเวลาในการลงทุนปานกลางถึงระยะยาวประมาณ 1 ปีขึ้นไป ที่ต้องการมูลค่าเพิ่มจากการลงทุน และสามารถยอมรับความผันผวนบางช่วงตลอดเวลาที่ถือหน่วยลงทุน คาดว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาซื้อหน่วยลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท เนื่องจากเป็นกองทุนที่ต้องใช้ความเข้าใจ และรอนักลงทุนทยอยเข้ามาลงทุนในโอกาสต่อไป

สำหรับจุดเด่นของกองทุนนี้อยู่ที่เป็นการสร้างโอกาสที่สูงขึ้นให้กับเงินลงทุน เนื่องจากเข้าไปลลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพ มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จึงมีโอกาสได้รับกำไรส่วนเกินทุน รวมทั้งยังเป็นการกระจายความเสี่ยงของการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ นอกเหนือจากการลงทุนในประเทศไทยประเทศเดียว

ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวจะเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Templeton Asian Growth Fund ในหน่วยลงทุนชนิด (Class) “I” หรือ Class I shares ซึ่งจดทะเบียบจัดตั้งขึ้นประเทศลักเซมเบิร์ก และมีนโยบายลงทุนในตราสารทุน (Equity Fund) ภายใต้การบริหารจัดการของ “Templeton Asset Management” ซึ่งกองทุนนี้สามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่เริ่มจัดตั้งที่ 220.60% ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีที่ 63.82% และสามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปีที่ 179.51%

โดยสัดส่วนของกองทุนใน 10 หลักทรัพย์อันดับแรก สิ้นสุด เดือนพฤศจิกายน 2550 มีดังนี้ CHALCO 7.1% PETROCHINA 8.4% SINOPEC 7.2% SK ENERGY 6.4% บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 4.8% HYUNDAI DEVELOP 4.6% DENWAY MOTOR 4.5% OOGC 4.3% ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 3.1% และ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 2.9%

นายชูเกียรติ ธิติหิรัญเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกลงทุนในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แนวดน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงกว่า จากปริมาณความต้องการทางด้านอุปโภคและบริโภคของประชากรในประเทศ และแหล่งทรัพยากรด้านพลังงานที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งประมาณเงินทุนทั้งเพื่อสร้างโรงงานและการย้ายฐานการผลิต และการลงทุนในตลาดหุ้นจากทั่วโลกไหลเข้าสู่ประเทศแถบเอเชียจำนวนมาก

“กลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียปัจจุบันได้กลายเป็นผู้ผลิตสินค้าและผ็บริโภคที่สำคัญรายใหญ่ของโลก หรือที่เรียกกันว่า “โรงงานของโลก” ประกอบกับราคาหุ้นยังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นหรือภูมิภาคอื่น และหากจะพิจารณาราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) พบว่ามีแนวโน้มผลการดำเนินงานสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มประเทศตลากเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชีย ยังคงเป็นแหล่งที่น่าลงทุน"
กำลังโหลดความคิดเห็น