xs
xsm
sm
md
lg

บทพิสูจน์มหาอำนาจทางเศรษฐกิจยุคใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ คุยกับผู้จัดการกองทุน บลจ.พรีมาเวสท์

เมื่อมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาเกิดปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ คำถามที่รอคำตอบคือ “…แล้วเศรษฐกิจอื่นๆ จะเกิดปัญหาด้วยไหม?...”

หากดูเฉพาะราคาหุ้น นักลงทุนคงตอบจากประสบการณ์ว่า ”ใช่” เพราะภาวะหมีในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดลูกหมีหลายตัวในตลาดหุ้นอื่นๆ แต่หากย้อนกลับไปที่คำถามอีกครั้งและมองไปที่ภาคเศรษฐกิจจริงๆ คำถามว่าเศรษฐกิจอื่นจะเกิดปัญหาด้วยไหม อาการหนักเท่าใด คงต้องตรวจสอบความแข็งแรงและภูมิคุ้มกันของแต่ละแห่ง

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2550 อยู่ประมาณร้อยละ 5 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวประมาณร้อยละ 2 สำหรับปีนี้ สถาบันวิจัยชั้นนำของโลกต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะเติบโตใกล้เคียงกับปีก่อน โดยกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี หรือแคนาดา จะขยายตัวเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 2 ขณะที่เศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่เฉพาะ 4 ประเทศที่เด่นๆ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน หรือเรียกสั้นๆ ว่า BRIC (Brazil, Russia, India, China) จะเติบโตได้ระหว่างร้อยละ 5-10 ทีเดียว (บราซิล ร้อยละ 4-5 รัสเซีย ร้อยละ 6-7 อินเดีย ร้อยละ 8-9 และจีน ร้อยละ 10-11)

ขยับต่อมาที่ตลาดหุ้นบ้าง ปีที่แล้ว ดัชนีราคาหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ขณะที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 36 แยกรายประเทศที่เข้าแถวสร้างปรากฏการณ์ผลตอบแทนให้นักลงทุนได้แก่ บราซิลกว่าร้อยละ 75 รัสเซียกว่าร้อยละ 22 อินเดียกว่าร้อยละ 71 และจีนกว่าร้อยละ 63 ตามลำดับ มีเพียงรัสเซียที่มีผลตอบแทนน้อยกว่าค่าเฉลี่ แต่มูลค่าเพิ่มระดับร้อยละ 22 นี้ นักลงทุนคงบอกได้ไม่เต็มปากว่าน่าผิดหวัง นอกจากผลตอบแทนที่น่าประทับใจแล้ว ระดับความผันผวนซึ่งเป็นมาตรวัดความเสี่ยงก็ต่ำว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน ประสิทธิภาพการลงทุนเช่นนี้ มีอยู่จริงใน BRIC

แม้ในภาวะที่นักวิเคราะห์เริ่มให้น้ำหนักกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและแรงกดดันจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลายๆ ค่ายยังคงคาดการณ์ว่าราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะ BRIC จะผ่านช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ไปได้ด้วย ศักยภาพ ความแตกต่าง และผลตอบแทนที่น่าพึงใจ อะไรคือปัจจัยสนับสนุนการคาดการณ์เหล่านั้น “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจระดับมหภาคสู่ความยั่งยืน” อันได้แก่

การก้าวสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคต

การวิเคราะห์โครงสร้างประชากร การเคลื่อนย้ายเงินลง
ทุน และประสิทธิภาพการผลิตโดย Goldman Sachs พบว่ากลุ่มประเทศ BRIC จะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในยุคต่อไป โดยขนาดเศรษฐกิจจะเพิ่มเป็นสองเท่าภายใน 13-18 ปี จะใหญ่กว่ากลุ่มประเทศ G6 ภายใน 33-38 ปี และในปี 2593 จะสามารถเรียงลำดับขนาดเศรษฐกิจได้ ดังนี้ จีน สหรัฐ อินเดีย ญี่ปุ่น บราซิล รัสเซีย เยอรมัน อังกฤษ และฝรั่งเศส ตามลำดับ

การเติบโตและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ

ปัจจัยภายใน

-โครงสร้างประชากร กลุ่มประเทศ BRIC มีจำนวนประชากรขนาดใหญ่ อายุเฉลี่ยต่ำกว่า 30 ปี และส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง คุณลักษณะดังกล่าวแสดงถึงคุณภาพของช่วงการทำงาน หารายได้ และความพร้อมใช้จ่าย เป็นอำนาจซื้อมหาศาลที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

-โครงสร้างเศรษฐกิจ กลุ่มประเทศ BRIC มีการขยายตัวของการบริโภคและเป็นแหล่งรองรับเงินลงทุน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการขยายตัวของเขตเมือง เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว

ปัจจัยภายนอก

-ผู้นำในภาคส่งออก กลุ่มประเทศ BRIC มีเอกลักษณ์และความได้เปรียบทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการเป็นผู้นำในภาคส่งออก บราซิล ประเทศส่งออกผลิตผลทางการเกษตร (โกโก้ กาแฟ และถั่วเหลือง) และสินแร่ (เหล็ก ทองแดง และนิกเกิล) ที่ใหญ่ที่สุด รัสเซีย แหล่งพลังงานที่สำคัญ ด้วยอุปทานก๊าซธรรมชาติ และปริมาณน้ำมันดิบสำรอง อินเดีย ศูนย์กลาง Business Outsourcing โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอุตสาหกรรมบริการ และ จีน ประเทศที่รับเงินลงทุนโดยตรงมากที่สุด เศรษฐกิจขยายตัวดีที่สุดจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจ Centrally Planned System สู่การค่อยๆ เป็นตลาดเสรี ด้วยต้นทุนแรงงานระดับต่ำพร้อมเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น